ลุ้นคุมสภาฯ เบ็ดเสร็จ ?  เกม “กฎหมาย” วัดพลังรัฐบาล

ลุ้นคุมสภาฯ เบ็ดเสร็จ ?  เกม “กฎหมาย” วัดพลังรัฐบาล

"เกมการเมือง" ใกล้กลับมาสู่โหมด วัดพลัง "รัฐบาล" อีกรอบ เมื่อเวทีของ "สภาฯ" เริ่มต้นขึ้น วันที่ 1 พฤศจิกายน ต้องจับตาการพิจารณาร่างกฎหมายหลายฉบับ ที่บางฉบับอาจเป็นตัวชี้อนาคตของ "ผู้กุมอำนาจ" ปัจจุบัน เชื่อว่า "นักการเมือง" สไตล์เขี้ยวลากดิน คงไม่มีใครยอมก้มหัวให้

         ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 12 ตุลาคม 2564 เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) เรียกประชุมสภาฯ ให้วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นวันเริ่มประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 และสิ้นสุดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565

 

         การเห็นชอบดังกล่าวถือเป็นขั้นตอนปฏิบัติปกติ ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาจะเดินหน้าทำงานฝ่ายนิติบัญญัติตามวาระ

 

         แน่นอนว่า เมื่อเวทีสภาเปิด สถานการณ์การเมืองย่อมกลับมาสู่โหมดที่น่าจับตา เพราะงานนิติบัญญัตินั้น สัมพันธ์โดยตรงกับฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะการพิจารณาร่างกฎหมาย และการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน

 

         งานพิจารณาร่างกฎหมายตามที่ “รัฐบาล” วางไทม์ไลน์ นำร่างกฎหมายสำคัญเข้าสู่สภาฯ คือร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ ที่คาดว่าจะบังคับใช้แทนพระราชกำหนดบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์โควิด-19

 

         แม้มีมติ ครม.​เห็นชอบให้ตราเป็นพระราชกำหนดเพื่อแก้ไขแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่นำเข้าสู่กระบวนการทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้

 

         ต่อเรื่องนี้ มีการคาดหมายว่าจะปรับรูปแบบให้เป็นร่างแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ และนำเข้าสู่ชั้นพิจารณาของรัฐสภาในฐานะกฎหมายปฏิรูป เพื่อความรวดเร็วและต้องการอาศัยอำนาจของ “วุฒิสภา” ร่วมผลักดันผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้​

ลุ้นคุมสภาฯ เบ็ดเสร็จ ?  เกม “กฎหมาย” วัดพลังรัฐบาล

         นอกจากนั้น ยังมีร่างแก้ไขกฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ให้สอดคล้องกับการปรับแก้เนื้อหารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กลุ่มมาตราว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ซึ่งปรับให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และปรับระบบคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบจัดสรรปันส่วนผสม เป็นแบบระบบเติมเต็ม

 

         ที่พรรคการเมืองแต่ละพรรค พร้อมเสนอเนื้อหาให้รัฐสภาพิจารณาแบบ “แยกฉบับเสนอ” ไม่รวมเป็นกลุ่มก้อน เพราะการเสนอร่างพ.ร.ป.นั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 131 กำหนดให้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาฯ เสนอ หรือจำนวน 49 คน สามารถเสนอได้

 

         ดังนั้นจึงเห็นท่าทีของ “พลังประชารัฐ” ที่แสดงความพร้อมอย่างเต็มที่ เสนอสาระหลัก และสูตรคำนวณคะแนนที่ไม่สนเสียง หรือความรู้สึกของพรรคการเมืองอื่น เพราะใช้แค่ ส.ส.ของพรรคตัวเอง 49 คน ก็เพียงพอจะเสนอเนื้อหา

ลุ้นคุมสภาฯ เบ็ดเสร็จ ?  เกม “กฎหมาย” วัดพลังรัฐบาล

         อย่างไรก็ดี การไม่สนความรู้สึกของ “ส.ส.พรรคอื่น” ทำให้ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ออกมาเตือนว่าอย่างน้อยควรนำเสนอให้คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้รับรู้เนื้อหา และพูดจาขอความสนับสนุน เพื่อให้ร่างกฎหมายลูกของพลังประชารัฐถูกยอมรับ

         สิ่งที่ “อ.วิษณุ”พูดนั้น โดยธรรมเนียมปกติ การเสนอร่างกฎหมายของพรรคร่วมรัฐบาลต่อสภาฯ หรือรัฐสภาไม่เคยมีการนำเนื้อหาให้วิปรัฐบาลตรวจสอบ และลงตราอนุมัติ

 

         กับสถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนไป เพราะช่วงปลายสมัยของรัฐบาล แต่ละพรรคมักชิงความได้เปรียบทางการเมือง ดังนั้นหากมีกติกาที่แอบซ่อน สร้างความได้เปรียบเพียงฝ่ายเดียว อาจทำให้เกิดความระแวงจาก “ฝ่ายร่วมรัฐบาล” จนกระทบความกลมเกลียว และลามสู่เสถียรภาพของ “ฝ่ายบริหาร”

 

         ต้องยอมรับว่า ภาวะระแวงจากการกำหนดกติกานั้น เกิดจากบทเรียนที่ “รัฐธรรมนูญ 2560” ถูกออกแบบ เขียนกติกาเพื่อเอื้อให้ “พลังประชารัฐ” และสืบอำนาจของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี พร้อมบริวารให้มีอิทธิพล “จัดการฝ่ายการเมือง” ได้แบบเบ็ดเสร็จ

ลุ้นคุมสภาฯ เบ็ดเสร็จ ?  เกม “กฎหมาย” วัดพลังรัฐบาล

          ในปลายเทอมของรัฐบาล “บิ๊กตู่” หากฝ่ายการเมืองสามารถถอนเกมซ่อนกล-กติกาซ่อนเงื่อนได้ อาจทำให้ “พลังประชารัฐ” หรือ พรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของฝ่ายทหาร-ระบบสืบทอดอำนาจ ขาดตัวช่วย

 

          นอกจากนั้น ยังต้องจับตาร่างกฎหมายอีกหลายฉบับ ที่รัฐบาลเตรียมส่งให้สภาฯ พิจารณา ทั้งที่เป็นกฎหมายปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญกำหนดระยะเวลาให้จัดทำ รวมถึงกฎหมายที่ต่างชาติกดดันให้รัฐบาลไทยต้องจัดทำ

 

          หาก “ฝั่งรัฐบาล” ยังคุมเกม คุมเสียงในสภาฯได้ไม่เบ็ดเสร็จ ย่อม “อยู่ยาก”แน่นอน.