“รวมไทยยูไนเต็ด” ในมือ“วินท์” แนวร่วม-แนวรบ ต้านเผด็จการ

“รวมไทยยูไนเต็ด” ในมือ“วินท์”   แนวร่วม-แนวรบ ต้านเผด็จการ

“วินท์” เป็น 1 ใน 9 ส.ส.ก้าวไกล ที่ไม่ลงชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 ทำให้เขาตกเป็นเป้าโจมตี และถูกขบวนการปล่อยข่าวจากคนในพรรคก้าวไกล การแยกทางกันระหว่าง “วินท์” กับพรรคก้าวไกลจึงจากกันด้วยความบาดหมาง

ไม่เหนือความคาดหมายที่ “วินท์ สุธีรชัย” จะโบกมือลาพรรคก้าวไกล พร้อมยื่นใบลาออกจาก ส.ส. ในนามพรรคก้าวไกลด้วย เนื่องจากจุดยืนทางการเมือง อุดมการณ์ของ “วินท์” แตกต่างจาก “แกนนำก้าวไกล” แตกต่างจาก “แกนนำคณะก้าวหน้า” อย่างมาก

แต่ที่สร้างความฮือฮาคือ “วินท์” หาญกล้าถึงขั้นตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ ใช้ชื่อ “พรรครวมไทยยูไนเต็ด” โดยร่วมกับ “วรนัยน์ วาณิชกะ” หรือไฮโซโก้ “ณิชนัจทน์ สุดลาภา” หรือเซเรน่า นางแบบข้ามเพศชื่อดัง  “อภิรัต ศิรินาวิน” อดีตหัวหน้าพรรคมหาชน

“วินท์” แถลงเปิดตัว “พรรครวมไทยยูไนเต็ด” พร้อมสโลแกน รวมกันคิด รวมกันทำ รวมกันสร้าง โดยระบุว่าคือกลุ่มใหม่ ที่จะกลายเป็นพรรคใหญ่ เราไม่มีบุคคลใดอยู่เบื้องหลังการจัดตั้งพรรคการเมือง

รวมไทยยูไนเต็ด ก่อตั้งขึ้นจากประชาชนมืออาชีพในต่างสาขาหลากหลายอาชีพ ที่เชื่อว่าคนไทยหลายคนเบื่อหน่ายกับความล้มเหลวไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาของรัฐบาล จึงต้องมารวมตัวกันเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองที่ทำเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งในด้าน เศรษฐกิจ การศึกษา สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน อยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

“เวลาเป็นสิ่งที่มีค่าเสมอ และเราเสียเวลาไม่ได้อีกแล้ว เพราะกว่า 30 ปี ที่ประเทศไทยติดอยู่กับคำว่าประเทศที่กำลังพัฒนา นั่นทำให้เราเสียเวลามามากพอแล้ว ฉะนั้นผมมีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ ภายใต้แนวทางในระยะเร่งด่วนและระยะยาว โดยต้องเริ่มทันที เพราะเราไม่สามารถจะรอได้อีกแล้ว” 

วินท์ ยังบอกด้วยว่า ถึงรวมไทยยูไนเต็ด จะเป็นพรรคใหม่ แต่ก็ยืนว่าจะเป็นพรรคใหญ่ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นบัตร 2 ใบ หรือบัตรใบเดียว พวกเรามั่นใจว่าจุดยืนจะสามารถรวบรวมประชาชนได้เพียงพอเพื่อไปเปลี่ยนแปลงประเทศไทย พร้อมยืนยันว่าไม่มีเบื้องหลัง หรือมีใครชักใย เพราะทุกคนรวมกันมาด้วยกำลังใจ ด้วยจุดยืนที่เชื่อมั่นและมุ่งมั่น ตนคิดว่าความหวัง ความฝันที่พวกเรามีคือพลังอันมหาศาลที่จะเดินไปข้างหน้าได้ และมั่นใจในความคิดและจุดยืนที่จะหาทางออกให้กับประเทศ เพื่อให้ประเทศเติบโตขึ้นไปได้อย่างแท้จริง

รวมถึงอยากเห็นพรรคการเมืองที่เป็นพรรคการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่มีเจ้าของคนใดคนหนึ่ง และเป็นองค์กรที่สามารถอยู่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต พร้อมย้ำจุดยืนว่า กลุ่มรวมไทยยูไนเต็ดไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ โดยเฉพาะการให้ ส.ว. มีอำนาจในการนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ “วรนัยน์ วาณิชกะ” นักการเมืองรุ่นใหม่ผู้มีอุดมการณ์แน่วแน่ในการช่วยผลักดันประเทศไทยให้รุดหน้าทัดเทียมนานาประเทศ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบอกว่า รวมไทยยูไนเต็ด เสนอตัวเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ประชาชน ภายใต้วิสัยทัศน์ในการ จุดประกายธรรมาภิบาล สร้างเส้นทางใหม่ให้กับประเทศไทย

ขณะนี้กลุ่มไม่มีใครที่เป็นหัวหน้าพรรค แต่ให้สิทธิทุกคนที่มีความสามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิก และเมื่อพรรคสามารถจดจัดตั้งได้ จะให้สิทธิประชาชนร่วมลงมติเลือกบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว

“กลุ่มรวมไทยยูไนเต็ด พร้อมสู้ทุกกติกาเลือกตั้ง และขอเรียกร้องให้ทุกกลุ่มไม่ว่า กลุ่มซ้าย หรือกลุ่มขวา รวมกันเพื่อขจัดความไม่เป็นธรรม และร่วมสร้างกติกาใหม่ที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชน”

สำหรับกติกาเลือกตั้งที่ปรับเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบนั้น เราไม่กังวล เพราะไม่ว่ากติกาเลือกตั้งจะเป็นแบบใด มั่นใจในจุดยืน และการรวบรวมประชาชนที่ให้กลุ่มรวมไทยยูไนเต็ดสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศได้

“สิ่งที่เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ต้องชนะเลือกตั้ง มี 376 ส.ส. เพื่อหักล้างอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะเราไม่สามารถปฏิรูปได้หากไม่ได้ส.ส.รวมกัน 376 เสียง ส่วนที่มีคำถามว่าหลังเลือกตั้งจะอยู่รวมรัฐบาลข้างไหน เรามองว่ารัฐบาลที่เป็นของประชาชน ไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากอำนาจเผด็จการ และกลุ่มของพวกเรา ไม่มีนายห้าง นายทุนครอบงำ”

ขณะที่ “เซเรน่า ณิชนัจทน์ สุดลาภา” ผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกลุ่ม LGBTQ+ ในฐานะนักกิจกรรมคนข้ามเพศ ผู้ร่วมก่อตั้ง Trans for Career Thailand (TFCT) กล่าวว่า ความเท่าเทียมไม่ได้มีผลแค่มิติทางสังคม แต่รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศ สภาพเศรษฐกิจที่เราเผชิญอยู่ในขณะนี้ไม่ได้เอื้อสำหรับทุกคน แต่มันเอื้อให้เฉพาะกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง ซึ่งเศรษฐกิจที่ดีควรเป็น เศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน ที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกเราทุกคนจริงๆ ไม่ว่าคุณจะตัวเล็กแค่ไหน ทุนเท่าไหร่ เพศอะไร

ส่วน “อภิรัต ศิรินาวิน” อดีต ส.ส.และหัวหน้าพรรคมหาชน ระบุว่า ประชาชาวไทยทุกคนรู้ดีว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญสูงสุดอันละเมิดมิได้ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบันกลับถูกออกแบบมาเพื่อจำกัดสิทธิ และทำลายระบบพรรคการเมืองให้ต้องอยู่อย่างยากลำบาก อีกทั้งยังเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชน ไม่ให้ได้สิทธิตามระบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงถึงเวลาแล้วที่สิ่งเหล่านี้จะต้องถูกเปลี่ยนแปลง

“วินท์” มีธุรกิจเป็นอาณาจักรของตัวเอง ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2564 พบว่า “วินท์” เป็นกรรมการบริษัทอสังหาริมทรัพย์อย่างน้อย 11 แห่ง ในเครือ ตระกูล “สุธีรชัย”

แต่ที่เป็นขุมทรัพย์พันล้านมาจากการที่ “วินท์” เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทตระกูล “สุธีรชัย” คือบริษัท เอเซีย เมทัล จำกัด (มหาชน) ทุนปัจจุบัน 549 ล้านบาทเศษ นายชูศักดิ์ ยงวงศ์ไพบูลย์ ถือหุ้นใหญ่สุด 15.98% คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ถือ 14.88% นายวีระชัย สุธีรชัย ถือ 9.67% ส่วนนายวินท์ ถือหุ้นลำดับ 6 จำนวน 6.22%

ก่อนหน้านี้ “วินท์” เคยเป็นกรรมการบริษัทอสังหาริมทรัพย์ และส่งออกสินค้าเหล็ก รวมถึงรับเหมาก่อสร้างในเครือตระกูล “สุธีรชัย” อีก 5 แห่ง ได้แก่ บริษัท คอสโม แลนด์แอนเฮ้าส์ จำกัด บริษัท พีเอส สตีล โปรเซสซิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด บริษัท แกรนด์ เอเชีย สตีล โพรเซสซิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด บริษัท พรีซิชั่น เพอร์เฟ็คท์ ไพพ์ จำกัด และบริษัท ไพร์ม สตีล มิลล์ จำกัด (มีบริษัท เอเซีย เมทัล จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 40%)

โดย 5 บริษัทข้างต้นไม่ปรากฏชื่อนายวินท์ เป็นกรรมการแล้ว แต่ยังมีคนสกุล “สุธีรชัย” นั่งเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นอยู่

อย่างไรก็ตามหากยังจำกันได้ “วินท์” เป็น 1 ใน 9 ส.ส.ก้าวไกล ที่ไม่ลงชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 ทำให้เขาตกเป็นเป้าโจมตี และถูกขบวนการปล่อยข่าวจากคนในพรรคก้าวไกล การแยกทางกันระหว่าง “วินท์” กับพรรคก้าวไกลจึงจากกันด้วยความบาดหมาง

อีกทั้งยังถูกโยงไปถึง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ผู้ชักชวน “วินท์” ให้มาร่วมด้วยช่วยกันก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ แต่สุดท้ายอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันจึงต้องแยกทางกัน

“วินท์” กล่าวในวันที่ยื่นใบลาออกจาก ส.ส.พรรคก้าวไกล ว่า “วันนี้ ด้วยสถานการณ์และบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ผมขอยุติบทบาทการทำหน้าที่ ส.ส. เพื่อยืนหยัดและเดินตามอุดมการณ์ของผมที่ได้แสดงเจตจำนงไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม”

ฟากฝั่งพรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า ไม่มีคำชี้แจงจาก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล รวมทั้งท่าทีจาก “ธนาธร” แต่มีคำพูดจากปากของ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุว่า ถือเป็นสิทธิของเขาตามระบอบประชาธิปไตย

“เป็นการจากกันอย่างเปิดเผย ประชาชนจะได้ไม่สับสน เหมือนการนั่งรถเมล์ถ้าเดินไปสู่เส้นทางที่เราไม่อยากไป ก็โบกมือลาจากกันด้วยดี ทุกคนมีสิทธิ์เลือกพรรคที่ตรงกับอุดมการณ์ส่วนตัวของตัวเอง”

การจากไปของ “วินท์” และการจากไปของ “ส.ส.งูเห่าสีส้ม” จะเป็นบทเรียนสำคัญให้ “พิธา-ธนาธร” คัดเลือกเลือดแท้เข้ามาสังกัดพรรคก้าวไกล เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งครั้งต่อไป

แต่กว่าจะเดินไปถึงวันที่ต้องลงสนามเลือกตั้ง โจทย์ใหญ่ของ “พิธา-ธนาธร” ต้องแก้สมการทางการเมืองให้ออก คือการรักษา “ส.ส.” เอาไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ปล่อยให้เลือดไหลออกไปมากกว่านี้

หลายปรากฏการณ์ที่ผ่านมากำลังสะท้อนให้เห็นว่า ภายในพรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า มีองคาพยพที่ไม่เอาด้วยกับอุดมการณ์ทางการเมืองของ “พิธา-ธนาธร” แฝงตัวอยู่จำนวนหนึ่ง