"โควิดภาคใต้" รัฐต้องคุมให้อยู่ อย่าให้ "ล็อกดาวน์" ทั้ง 14 จังหวัด

"โควิดภาคใต้" รัฐต้องคุมให้อยู่ อย่าให้ "ล็อกดาวน์" ทั้ง 14 จังหวัด

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนใต้ขณะนี้เข้าขั้น "น่ากังวล" หากรัฐบาลคุมไม่อยู่ อาจนำไปสู่การ "ล็อกดาวน์" ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ รัฐจึงต้องเร่งสกัดไม่ให้เชื้อแพร่กระจายลุกลามไปมากกว่านี้

แม้จะดูเหมือนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะเริ่มดูมีความหวัง ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ค่อยๆ ลดลง และอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ มีการฉีดวัคซีนกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งเข็ม 1 เข็ม 2 และ เข็ม 3 แต่ไม่ควรชะล่าใจ หรือดีใจกันจนการ์ดตก

เพราะถ้ามองภาพรวมทั้งประเทศ ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังแตะหลักหมื่น ฉีดวัคซีนยังไม่ครอบคลุมประชากรมากพอ บางพื้นที่การเข้าถึงวัคซีนยังล่าช้า นอกพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงยังเป็นเรดโซน น่าเป็นห่วง แนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ทุกเมื่อ

หากลงลึกตามภูมิภาค สิ่งที่น่ากังวลมากตอนนี้ คือ ชายแดนใต้ ที่กำลังระบาดเพิ่มขึ้น จนน่าจะกลายเป็นความกังวลที่ไม่ธรรมดา

สาธารณสุขไทย รายงานว่า โควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนใต้ พบ 3 สายพันธุ์ เบตา อัลฟา และเดลตา จากการลงพื้นที่ของทางการ ระบุว่า ยะลา สงขลา ปัตตานี คงต้องมีมาตรการคุมเข้มให้มากขึ้นกว่านี้ เช่น การส่งเสริมร้านอาหาร ร้านค้า หรือการดำเนินการที่เกี่ยวกับมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) การป้องกันการติดเชื้อโควิดแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) ที่แม้ไม่ได้เป็นการบังคับ แต่เป็นการเชิญชวน เช่น การไปร้านอาหาร ร้านค้า หากไม่มีการทำ Covid Free Setting ประชาชนต้องช่วยกันทวงถาม เพื่อให้เกิดการตื่นตัว

สิ่งที่ภาครัฐต้องทำเพื่อสกัดไม่ให้เชื้อแพร่กระจายขยายลุกลามไปทั่วพื้นที่ภาคใต้ คือ ส่งเสริมให้เกิด Universal Prevention ให้ได้อย่างเร่งด่วน เป็นหน้าที่ที่กรมอนามัย ศูนย์อนามัยเขต สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ต้องตื่นตัวเรื่องนี้

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า มาตรการต่างๆ ควรต้องทำควบคู่กันไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการส่งชุดตรวจ ATK ไปเพิ่มเติม ส่งยาฟาวิพิราเวียร์เข้าไปเสริม เพราะพบว่า พื้นที่ภาคใต้มีการใช้ยาเพียง 30% อัตราการเสียชีวิตจึงยังสูง ทาง สธ.จึงส่งไปเพิ่มอีก 1 ล้านเม็ด ส่งวัคซีนไปอีกเป็นแสนโดส ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค และไฟเซอร์ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดและหยุดการเสียชีวิต 

แม้ภาคใต้จะยังมีระบบการดูแลรักษาที่เพียงพอ โรงพยาบาลสนามยังมี 1,800-1,900 เตียง คนอยู่ประมาณ 50-60% แต่อย่าประมาท เพราะเรามีบทเรียนมาแล้วมากมาย ความชะล่าใจ การ์ดตก ประชาชน เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ไร้ความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและต่อผู้อื่น การบังคับใช้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ มาตรการหย่อนยาน เป็นต้นตอของการระบาดระลอกแล้วระลอกเล่า

หากไม่อยากเดินไปถึงจุดที่ต้อง “ล็อกดาวน์” ทั้งภาคใต้ นอกจากต้องร่วมมือกันสกัด รัฐและผู้ควบคุมการแพร่ระบาด ต้องมองทุกพื้นที่ในประเทศสำคัญเท่าเทียมกัน การเข้าถึงการดูแลรักษา ยา วัคซีน ต้องจัดให้อย่างเพียงพอและทั่วถึงมากที่สุด