จังหวะ “ตั้งรับ” เพื่อ รอ “รุก” ปรากฏการณ์ “เขา (ยัง) อยากอยู่ยาว"

จังหวะ “ตั้งรับ” เพื่อ รอ “รุก” ปรากฏการณ์ “เขา (ยัง) อยากอยู่ยาว"

ข่าวจาก ทำเนียบรัฐบาล ที่ชะลอ ทูลเกล้าฯ ร่างพ.ร.ก.แก้ไขพ.ร.บ.โรคติดต่อ และ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ดูเหมือนเป็นท่าทีที่ "ฝ่ายค้าน" จับทางได้ว่า รัฐบาล ออกอาการลังเล ในการคุมอำนาจของตัวเอง และจังหวะรอ เพื่อรุกนั้น ผลลัพท์คือ เขาอยากอยู่ยาว (อีกครั้ง)

ปรากฏการณ์ที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม”  ฐานะผู้นำรัฐบาล ชะลอ การทูลเกล้าฯ กฎหมายสำคัญ อย่างน้อย 2 ฉบับ คือ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ และ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งแก้ไขประเด็นระบบเลือกตั้ง ออกไปทั้งที่ก่อนหน้านั้น มีท่าทีเร่งรัด

 

         ถือเป็นการแสดงท่าที ที่ “ฝ่ายค้าน” ประเมินว่า ออกอาการลังเล และสะท้อนความไม่มั่นใจว่า  จะคุมเกมในสภาฯ ได้อยู่หมัดเหมือนก่อน


          แม้ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี จะแจงต่อการชะลอทูลเกล้าฯ ร่างพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่ “คณะรัฐมนตรี” (ครม.) เห็นชอบ เมื่อ 21 กันยายน  ว่า อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะตราเป็น  “พ.ร.บ.” หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นต้องรอให้สภาฯ เปิดสมัยประชุม อีกกรณีหนึ่งถ้าออกเป็น พ.ร.ก. รัฐธรรมนูญกำหนดให้นำเสนอต่อสภาฯ หากอยู่ในระหว่างปิดสมัยยประชุมต้องเรียกประชุมวิสามัญ

 
         "ดังนั้นไม่ต้องรีบอะไร ไม่เห็นมีอะไรเดือดร้อน หรือเร่งรีบสักเรื่อง”

 

         ตามรายละเอียดมาตรา  172 ของรัฐธรรมนูญ เขียนข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับ การตรา “พ.ร.ก.” ไว้ในสาระสำคัญ คือ พ.ร.ก. ออกได้ 1.เพื่อประโยชน์รักษาความปลอดภัยประเทศ หรือ  2.ความปลอดภัยสาธารณะ หรือ 3.ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือ 4.ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และการตราพ.ร.ก.นั้น ทำได้เฉพาะกรณีที่ “ครม.”เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน จำเป็นรีบด่วน หลีกเลี่ยงไม่ได้

         ขณะเดียวกันยังกำหนดเงื่อนไขเพื่อให้ สภาฯ ตรวจสอบถ่วงดุล ให้ ครม. เสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาและลงมติอนุมัติโดยไม่ชักช้า หากอยู่นอกสมัยประชุม และรอเปิดสมัยจะชักช้า ต้องเรียกประชุมสมัยวิสามัญ  ทั้งนี้ยังกำหนดการผ่อนคลาย ไม่ต้องเปิดประชุมวิสามัญ ได้ด้วยว่า “การพิจารณา พ.ร.ก. จะต้องทำในโอกาสแรกที่มีการประชุมสภาฯ นั้นๆ” 

จังหวะ “ตั้งรับ” เพื่อ รอ “รุก” ปรากฏการณ์ “เขา (ยัง) อยากอยู่ยาว\"

         อย่างไรก็ดี ในเงื่อนไขที่สภาฯ ต้องอนุมัติ พ.ร.ก. ด้วยเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง นั้น ถูกมองว่าคือ เงื่อนไขสำคัญ ที่ “นายกฯ” ขอชะลอการทูลเกล้าฯ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว  ทั้งที่ในสมัยบริหารของ “พล.อ.ประยุทธ์” กับการเสนอ พ.ร.ก.​รวม 8 ฉบับ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

         ปฐมบทของ “ความกลัว” นั้น มีผู้ประเมิน ว่า เกิดจากรอยร้าว ของการกุมอำนาจ ระหว่าง “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ” ที่คุมสภาฯ  และมีคณะขับเคลื่อน ในก๊วนของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ 

 

         ขณะที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังต่อสายเข้าไม่ถึง “ส.ส.” ขณะที่คณะขับเคลื่อนงานฝั่งตนเอง  มี "บารมีไม่มากพอ”

 

         ดังนั้น หากยังปราบ “ส.ส.ที่พยศ” ไม่อยู่ อาจทำให้เกมอำนาจ ถูก เปลี่ยนมือ

 

         ท่ามกลางที่คุมเสียงไม่เบ็ดเสร็จ และ ทำตามกระบวนการตรา “พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว” เมื่อถึงจังหวะเข้าสภาฯ ในภาวะที่ยากจะคุมผลลัพท์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ  อาจถูก "ส.ส.สั่งสอน" แพ้โหวต และ  “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องทำตามประเพณี คือ ยุบสภา  

 

          เมื่อ “กลุ่มประยุทธ์” ไม่มั่นใจว่า ทางที่เดินข้างหน้า คือ หลุม หรือ ทางราบ ย่อมฉวยจังหวะที่ตัวเองคุมได้ รอ และ ไม่เสี่ยงก้าวขาเดินหน้า

จังหวะ “ตั้งรับ” เพื่อ รอ “รุก” ปรากฏการณ์ “เขา (ยัง) อยากอยู่ยาว\"

         ส่วน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ ปรากฎความจาก “วิษณุ” ว่า ยังไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ 

 

         อย่างไรก็ดีตามขั้นตอนนี้ “เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” อธิบายไว้ว่า รัฐธรรมนูญ 256 (7) เขียนให้ “เมื่อรัฐสภาเห็นชอบแล้ว ให้รอไว้ 15 วัน แล้วจึงนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย” ทั้งนี้ต้องพิจารณามาตรา 81 ประกอบมาตรา 145  ด้วย ซึ่งมีสาระคือ เมื่อรอ 15 วันแล้ว มีสิทธิ์รอได้อีก 20 วัน ก่อนทำตามขั้นตอน ซึ่งระยะที่ว่านี้ต้องไม่เกิน 35 วัน

 

         นับจากวันที่ 10 กันยายน ซึ่งรัฐสภาเห็นชอบในวาระสามแล้ว จะครบกำหนด 35 วัน คือ  15 ตุลาคม นี้

 

         ในเหตุของการชะลอทูลเกล้าฯ รัฐธรรมนูญ “ธีรัจชัย พันธุมาศ” ส.ส.ก้าวไกล มองว่า คือ อาการลังเล ว่า จะใช้กติกาเลือกตั้งใหม่ดีหรือไม่ หรือมีวิธีปรับเปลี่ยน แก้ไขอย่างไร เพื่อคงกติกาที่เอื้อให้ฝั่งตนเองได้ประโยชน์มากที่สุด 

จังหวะ “ตั้งรับ” เพื่อ รอ “รุก” ปรากฏการณ์ “เขา (ยัง) อยากอยู่ยาว\"

         จึงต้องดึงจังหวะ หาช่องทางคุมความได้เปรียบ 

 

         กับเกมคุมอำนาของ “ผู้นำรัฐบาล” ที่คาดว่าจะใช้เวลา 5 ปี นับตั้งแต่ 24 มีนาคม 2562 เปลี่ยนผ่านเกมอำนาจ ให้ “ราบรื่น" ดูเหมือนจะมีปัญหาและอุปสรรค ทำให้ต้องแก้เกม กระชับอำนาจ อยู่บ่อยครั้ง 

 

         จังหวะที่ “ผู้คุมเกม” ประลองกำลังกับ “ฝั่งการเมือง” คำที่ “อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” เคยพูดไว้ว่า “เขาอยากอยู่ยาว” หวนมาให้ ได้ยินแว่วๆ อีกครั้ง.