"พริษฐ์ วัชรสินธุ” คลื่นใหม่การเมือง ตั้ง 3 โจทย์ใหญ่ พลิกโฉมประเทศ

"พริษฐ์ วัชรสินธุ” คลื่นใหม่การเมือง ตั้ง 3 โจทย์ใหญ่ พลิกโฉมประเทศ

“คนเริ่มเห็นมากขึ้น ถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาการเมืองกับปัญหาเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำ มันเชื่อมโยงกัน การจะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำ โดยไม่แตะโครงสร้างทางการเมืองเลย ผมว่าเป็นไปไม่ได้ และถ้าไม่แก้การเมือง ก็แก้การศึกษาไม่ได้เหมือนกัน"

เปิดมุมมองของหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่สังคมตั้งความหวังผ่านวิธีคิด และการลงมือทำ ในการขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปสู่จุดที่ดีกว่า จากอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ตัดสินใจลาออกจากพรรคหลังการเลือกตั้ง เมื่อประชาธิปัตย์ตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะรู้สึกขัดกับอุดมการณ์ส่วนตัว เหมือนไปรับรองการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร

ตั้งแต่นั้น “พริษฐ์ วัชรสินธุ” หรือ ไอติม จึงเลือกแนวทางการเมืองนอกสภา ด้วยการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 ผ่านการเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (CONLAB) และกลุ่ม Re-solution กับแคมเปญขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นประชาธิปไตยสากล

ขณะเดียวกัน “พริษฐ์” ที่ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา ได้ริเริ่มแอพพลิเคชั่นในชื่อ “StartDee” ด้วยเหตุผลสำคัญคือ มองว่าการศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ นำเนื้อหาที่ดีมีคุณภาพเข้าไปอยู่ในสมาร์ทโฟน เด็กทุกคนดาวน์โหลดมาใช้เรียน มีการสอดแทรกเนื้อหานอกเหนือหลักสูตรปกติ ให้ความรู้นอกห้องเรียน ทักษะทางการเงิน ความรู้ด้านเพศศึกษา สิ่งแวดล้อม ถึงวันนี้แอพฯ ที่พูดถึงกำลังจะมีอายุครบ 2 ปี มีผู้ดาวน์โหลดแล้ว 1.2 ล้านคน

“พริษฐ์” มองว่าท้ายที่สุด ทุกปัญหาที่ประเทศเราเผชิญ จุดเริ่มต้นในการแก้ไขส่วนหนึ่งต้องเริ่มจากการศึกษา ต้องติดอาวุธให้คนของเรามีทักษะ ถ้าอยากให้เศรษฐกิจเติบโตก็จำเป็นที่จะต้องปฏิรูปการศึกษา สร้างงาน สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มีหลักสูตรตั้งแต่ระดับประถม มัธยม ที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะและสมรรถนะเหล่านี้ แต่หลักสูตรการเรียนการสอนของไทยล้าหลัง เน้นอัดฉีดความรู้ อัดฉีดข้อมูล ท่องจำ มากกว่าความพยายามฝึกทักษะ การคิดวิเคราะห์ ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ การทำงานเป็นทีม ซึ่งสำคัญมากสำหรับเศรษฐกิจยุคใหม่ การทำให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม เป็นกลไกแก้ความเหลื่อมล้ำ

การศึกษาไทยมี 3 ปัญหาหลักที่เรื้อรังมาสักพักแล้ว และในช่วงการระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้แย่ลง 

1.เรื่องคุณภาพ เด็กไทยเรียนหนักที่สุดเมื่อเทียบกับเด็กประเทศอื่นทั่วโลก ใช้เวลาในห้องเรียนเยอะที่สุด แต่เมื่อมีการวัดทักษะออกมากลับตามหลังนานาชาติ แสดงว่าตัวระบบหลักสูตร หรือการเรียนการสอน ไม่สามารถแปลความขยันของนักเรียน มาเป็นทักษะไปแข่งขันกับต่างชาติได้

2.ความเหลื่อมล้ำ มีการเขียนเป็นกฎหมายมีนโยบายเรียนฟรี แต่ไม่ได้มีอยู่จริง มีค่าใช้จ่ายแอบแฝง พอไม่ฟรี ก็ทำให้เด็กบางคนเข้าไม่ถึงการศึกษาตรงนี้ เมื่อมีโควิด-19 เข้ามา ก็ทำให้ตกหล่นเพิ่มเติมเข้าไปอีกประมาณ 60,000 คน

3.การที่นักเรียนไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา ไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนพอเด็กไทยเรียนหนักมาก เวลาที่จะค้นพบตัวเองน้อยลง ความยืดหยุ่นในการเลือกวิชาเรียนน้อยลง มีวิชาบังคับเยอะมาก

โรงเรียนอาจไม่ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาเรียนรู้ การแสดงความเห็นบางอย่างกลับถูกลงโทษ รวมถึงค่านิยมหลายอย่างในโรงเรียนสวนทางค่านิยมสากล ที่เด็กสัมผัสผ่านโลกออนไลน์

การแก้ปัญหาที่กระทรวงศึกษาธิการ ยังไม่ได้ทำคือ 

1.ต้องวางหลักประกันสวัสดิการ สิทธิเสรีภาพของนักเรียนให้ชัดขึ้น ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ในสภา วาระ 1 ก็ไม่ได้พูดถึง ทำอย่างไรให้การเรียนฟรี ฟรีจริง เรื่องอาหารเช้า อาหารกลางวัน เพื่อเติมเต็มการพัฒนาของเด็ก มีทางเลือกในการเรียนต่อระดับอุดมศึกษาที่มากกว่าปัจจุบัน

2.ต้องปรับโครงสร้าง งบประมาณและอำนาจ โรงเรียนขนาดเล็กเสียเปรียบในการจัดการเรียนการสอน ได้งบน้อยกว่า เมื่อเทียบกับโรงเรียนขนาดใหญ่ จึงต้องมานั่งคิดว่าจะจัดสรรงบประมาณอย่างไรเพื่อให้โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลจัดการเรียนการสอนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจให้โรงเรียนขนาดเล็กได้งบประมาณต่อหัวที่มากกว่า ให้อำนาจตัดสินใจ อยากใช้งบฯไปกับอะไร ไม่ต้องถูกกำหนดมาเหมือนกันทุกโรงเรียน อาจให้ออกแบบหลักสูตรบางส่วนของตัวเองให้ตรงบริบทพื้นที่ และนักเรียนในโรงเรียน

3.การปฏิวัติหลักสูตรการสอนและการประเมิน ไม่เฉพาะตัดวิชาไม่จำเป็นออก แต่หมายถึงการปรับวิธีการสอนวิชาที่มีอยู่ เช่น ภาษาอังกฤษ เราเรียนภาษาอังกฤษเร็วกว่าเด็กหลายประเทศในอาเซียน แต่พอเติบโตทักษะเราตามหลัง เพราะเน้นไวยากรณ์ แทนที่จะฝึกให้เด็กกล้าสื่อสารหรือการเรียนประวัติศาสตร์ทำอย่างไรให้เด็กเรียนรู้รอบด้าน เพื่อให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย เอาข้อมูลที่ขัดแย้งกันมาวิเคราะห์เอง อันไหนมีความน่าเชื่อถือกว่ากัน เป็นการฝึกคิดวิเคราะห์ไปในตัว จะทำให้เด็กพัฒนา

4.การผสมผสานครูกับเทคโนโลยี เราไม่ได้เชื่อว่า เทคโนโลยีจะแทนครูได้ทั้งหมด แต่เทคโนโลยีเหมือนเป็นกองหลังช่วยครูที่เป็นกองหน้า ทำหน้าที่ให้ดีขึ้น

“โควิด-19 ฉายภาพให้เห็นปัญหาเหล่านี้มากขึ้น ผมหวังว่ามันจะเป็นสัญญาณเตือนภัย พอโควิด-19 พ้นไป เรามาสร้างระบบการศึกษาใหม่จริงๆ จังๆ”

สำหรับการเดินหน้าพลิกโฉมประเทศไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น พริษฐ์ มองว่าการศึกษาอย่างเดียวคงไม่พอ ผมคิดว่าการที่จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ผมเปรียบเหมือนเค้กก้อนหนึ่ง สมมติเค้กก่อนหนึ่งเป็นตัวแทนรายได้ประชาชนรวมกัน เค้กก่อนนี้จะดี พัฒนาขึ้นได้ มี 3 วิธีสำคัญ 

1.ทำให้เค้กก่อนนี้มันโต ทำให้เศรษฐกิจเรามีโครงสร้าง มีศักยภาพการแข่งขันที่สูง

2.ทำอย่างไรให้เค้กถูกแบ่งอย่างยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ทุกคนมีหลักประกันในเรื่องคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน จะนำไปสู่เรื่องรัฐสวัสดิการ 

และ 3. เมื่อทำ 2 ข้อแรกได้แล้ว รสชาติเค้กต้องอร่อยด้วย หมายถึงมีระบบการเมืองการปกครอง ที่เคารพหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ยอมรับความหลากหลาย เป็นประชาธิปไตยตรงนี้เป็น3เป้าหมายสำคัญ ผมคิดว่าเราต้องทบทวนกันใหม่

“การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ผมคิดว่าพอโควิด-19 หายไป เราอาจจะต้องมาทำ 2-3 อย่างอย่างแรกต้องทบทวนว่าจุดเด่นของเศรษฐกิจไทยคืออะไร ที่ผ่านมาเราพึ่งการส่งออก พึ่งการท่องเที่ยวเยอะมาก เราต้องมาคิดกันว่าจะหา Growth Engine เครื่องยนต์ใหม่ของเศรษฐกิจไทยอย่างไร การสนับสนุนส่งเสริมทักษะคนในประเทศเพิ่มเติม ก็เป็นเรื่องสำคัญ และต้องวางมาตรการเพิ่มการแข่งขันภายใน เราเจอปัญหาเรื่องทุนผูกขาดมายาวนาน ทำอย่างไรให้มีมาตรการควบคุมทุนผูกขาด และมีมาตรการส่งเสริมการแข่งขันที่รัดกุมขึ้นกว่าอดีต”

ปัญหาความเหลื่อมล้ำ นับเป็นเหตุผลสำคัญ ที่นำมาซึ่งข้อเรียกร้องรัฐสวัสดิการ ประเด็นนี้พริษฐ์ มองว่า สวัสดิการรูปแบบเดิม เช่น การศึกษา สาธารณสุข ที่พักอาศัยอย่างเดียวไม่พอต้องเป็นรัฐสวัสดิการรูปแบบใหม่ อินเทอร์เน็ตควรเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนทุกคนหรือไม่เพื่อทำให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการพื้นฐานที่ต้องรองรับให้ทุกคน

“มีคำถามว่ารัฐสวัสดิการ จะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยหรือไม่ ผมอยากให้คนมองเรื่องรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่เป็นแค่ในมุมของสวัสดิการ แต่อยากให้มองในมุมการลงทุนด้วย การให้สวัสดิการกับประชาชนไม่ใช่เป็นแค่การรองรับให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเดียว แต่ยังเป็นการปลดล็อกศักยภาพภาพของเขา ให้สามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ด้วย เช่น การที่ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต จะมีโอกาสสร้างนวัตกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ เช่นเดียวกับการเข้าศึกษาที่มีคุณภาพ สร้างทักษะและนวัตกรรมใหม่ๆ ได้”

พริษฐ์ มองว่า เรื่องรายได้ขั้นพื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income หรือ UBI) ในโลกยุคที่มีความผันผวน ก็อาจจำเป็นต้องมีรายได้พื้นฐานเพื่อช่วยรับประกันคุณภาพชีวิตประชาชน ถ้าทุกคนมีรายได้พื้นฐาน จะทำให้ทุกคนมีความกล้าที่จะเสี่ยงมากขึ้น หลายคนทำงานราชการ ทั้งที่ไม่อยากทำ เพราะต้องการความมั่นคง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ค เคยพูดเอาไว้ว่าถ้าเขาไม่ได้มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางการเงินดี เขาไม่มีทางกล้าที่จะทำเฟซบุ๊ค ไม่มีทางกล้าที่จะเดินออกมาจากมหาวิทยาลัย เพื่อทำสิ่งเหล่านี้ เขาจึงสนับสนุนแนวคิด UBI จะทำให้คนกล้าลองอะไรใหม่ๆ ซึ่งมีความจำเป็น ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมในอนาคต การวางรากฐานทางเศรษฐกิจและรัฐสวัสดิการต้องไปควบคู่กัน

ถึงอย่างไรก็ตาม พริษฐ์ มองว่า การเมืองเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การศึกษาไม่พัฒนา ทำให้ประเทศติดหล่มไม่ยกระดับขึ้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จะพูดอย่างนั้นก็ได้ ผมว่าทั้งการเมืองและการศึกษา ส่งผลกับทั้ง 3 เป้าหมาย คือ เศรษฐกิจเติบโต ความเหลื่อมล้ำลดน้อยลง และความเป็นประชาธิปไตย มันเชื่อมโยงกันหมด

สิ่งสำคัญ ถ้าเราไม่ออกแบบความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับพรรคการเมืองที่ยังเหนียวแน่น เราก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ไม่มีรัฐบาลที่กล้าออกนโยบายตัดอำนาจทุนผูกขาด หรือเรื่องรัฐสวัสดิการ ซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาล ต้องจัดสรรงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ แต่ถ้าการเมืองไม่ดี ไปลดงบประมาณที่ควรจะเป็นสวัสดิการประชาชน แล้วเพิ่มงบให้บางหน่วยงานที่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่สุดกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคน มันก็เสียงบประมาณเปล่า

“ผมมองว่าการเมืองที่ดี คนเริ่มเห็นมากขึ้น ถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาการเมืองกับปัญหาเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำ มันเชื่อมโยงกันเป็นปัญหาที่แยกออกจากกันไม่ได้ ผมถึงเห็นด้วยว่าการเมืองเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้วย การจะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำโดยไม่แตะโครงสร้างทางการเมืองเลย ผมว่าเป็นไปไม่ได้ และถ้าไม่แก้การเมือง ก็แก้การศึกษาไม่ได้เหมือนกัน"       

"ประเทศที่เป็นเผด็จการจะมองการศึกษาเป็นอาวุธของตัวเอง พยายามปลูกฝังค่านิยมของตัวเอง เห็นความพยายามจะเข้าไปแก้หลักสูตรเพื่อเขียนแต่สิ่งดีๆ ของตัวเอง ให้คนจดจำวีรกรรมของตัวเองในมุมที่ดี เพื่อให้ตัวเองสามารถอยู่ต่อในอำนาจได้ แต่ถ้าเรามีประชาธิปไตย รัฐก็จะไม่พยายามเข้ามาควบคุมการศึกษาในรูปแบบนั้น แต่จะทำการศึกษาให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ทุกอุดมการณ์ความคิด ใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์ของตัวเองเพื่อจะเลือกว่าอยากเห็นประเทศเดินไปแบบไหน เพราะฉะนั้น การเมืองเป็นเหมือนกระดุมเม็ดแรกของหลายสิ่งหลายอย่าง”

ในส่วนของประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่ พริษฐ์ ยืนยันต้องดำเนินการ เราอยู่ในประเทศที่ไม่สามารถให้ทุกคนมีความคิดเห็นเหมือนกันได้ แต่จำเป็นต้องบริหารจัดการความเห็นต่างไม่ให้เป็นความขัดแย้ง คือกติกาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่ผูกขาดอำนาจทางการเมืองไว้กับคนบางกลุ่ม รัฐธรรมนูญ 60 ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อพยายามสืบทอดอำนาจของคนกลุ่มเดียว จึงต้องเริ่มจากกติกาที่เป็นธรรม ตัดกลไกสืบทอดอำนาจ นำไปสู่การร่างฉบับใหม่ ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม ผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.จากการเลือกตั้ง 100% เพื่อให้ความฝันของคนทุกรุ่นมีโอกาสเป็นจริงอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่ออกแบบประเทศบนกติกาที่ยึดแค่ความฝันของคนไม่กี่คน

แน่นอนว่า ความตั้งใจจะทำงานทางการเมืองของ พริษฐ์ ยังมีอยู่เต็มเปี่ยม อนาคตทางการเมืองจะลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคการเมืองใดหรือไม่นั้น เขายอมรับว่า “ในที่สุดก็อยากกลับเข้ามาทำงานการเมือง ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงประเทศ เปลี่ยนแปลงกฎหมาย เปลี่ยนแปลงนโยบายมันต้องไปเปลี่ยนในภาครัฐ คิดว่าในที่สุดคงกลับไป แต่จะเป็นเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ ขอดูสถานการณ์ว่าพร้อมแค่ไหน ตอนนี้เป้าหมายหลักของผมคือ StartDee อยากจะมั่นใจว่าถ้าจะไปทำงานการเมือง แอพฯ ที่ทำมาจะไปต่อได้ และสร้างอิมแพคให้การศึกษาเพียงพอ เมื่อถึงตรงนั้นเมื่อไหร่ ผมจะพิจารณา”

 

 

เรื่อง : ณัฐภัทร พรหมแก้ว