“นายกฯ” เกินเทอม จุดเสี่ยง วิกฤติการเมือง

“นายกฯ” เกินเทอม จุดเสี่ยง วิกฤติการเมือง

วาระ8ปี ของการดำรงตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" ฝ่ายค้าน ใช้เป็นประเด็นทวงถาม "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ว่า จะมีสำนึกรับผิดชอบต่อการปฏิบัติให้อยู่ภายใต้ "รัฐธรรมนูญ" หรือไม่ หากอยู่เกินตัวบท วิกฤติการเมือง ที่ถูกคาดการณ์ และเปิดปมจาก "ฝ่ายค้าน" อาจเกิดขึ้นได้

         ประเด็น “วาระ 8 ปี” ของ นายกรัฐมนตรี ดูท่าว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” จะไม่ยี่หระเท่าไร

 

         หลังให้ “ธนกร วังบุญคงชนะ” โฆษกรัฐบาล ออกมาตอบคำถามแทนในประเด็นนี้ ว่า “ให้ไปดูการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใด” 

 

         ถอดรหัสนี้ จะพบว่า กติกาที่ให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ในคราบนักการเมือง อยู่เป็นนายกฯ ปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 

 

         แต่สิ่งที่ต้องตีความ คือ มาตรา 158  ที่กำหนด วาระดำรงตำแหน่ง "รวมกันเกิน 8 ปีไม่ได้”  ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ และไม่นำระยะรักษาการตามตำแหน่ง มานับรวม

 

         ความตามนี้ มีคนมองวาระดำรงตำแหน่งของมุมกฎหมาย ใน 3 ทาง  คือ 1.นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 หลังการเลือกตั้งทั่วไป, 2.  นับตั้งแต่เมษายน 2560 คือ วันที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 บังคับใช้ และ 3. นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 วันที่ดำรงตำแหน่งจากการยึดอำนาจ

 

         ถือเป็นประเด็น "ข้อขัดแย้งทางกฎหมาย” ที่เข้าข่ายอำนาจของ  “ศาลรัฐธรรมนูญ” ต้องตีความ  และช่องทางที่เกิดขึ้นได้ คือ ครม. , กรรมการการเลือก (กกต.) หรือ สมาชิกแห่งสภาเข้าชื่อ 1 ใน 10 เพื่อยื่นเรื่องได้

 

         ท่าทีของฝ่ายสภาฯ ล่าสุด “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ประกาศจะไม่ขอใช้สิทธิตอนนี้ 

“นายกฯ” เกินเทอม จุดเสี่ยง วิกฤติการเมือง

         เพราะหวั่นว่าจะเข้าทางใช้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ประทับรับรอง-ขยายอำนาจของ “พล.อ.ประยุทธ์” โดยใช่เหตุ

 

         แต่จังหวะที่จะยื่นนั้น ถูกกำหนดไว้โดยแน่ชัดคือ หลัง 24 สิงหาคม2565 เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี นับจากสิงหาคม 2557 ที่ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการยึดอำนาจ

         สำหรับกติกาที่ล็อกวาระของ “นายกรัฐมนตรี”  มี มุมมองจาก "นักกฎหมายของรัฐสภา" ว่า หากจะถกเรื่องนี้ อย่ามองแค่ มาตรา 158 เท่านั้น เพราะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องหลายมาตรา 

 

         ได้แก่  มาตรา 170 ว่าด้วยการสิ้นสุดของ นายกฯ, มาตรา 264 กำหนดความให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ คือ 6 เมษายน 2560 เป็น ครม.ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จนกว่ามีครม. ที่ตั้งใหม่หลังการเลือกตั้งทั่วไป และกำหนดให้การทำหน้าที่เป็นวาระต่อเนื่อง “ไร้การรักษาการ- ไร้รอยต่อ” 

“นายกฯ” เกินเทอม จุดเสี่ยง วิกฤติการเมือง

         มาตรา 279 วรรคสอง ที่รับรองบรรดาการใดๆ ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557  รวมถึงฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้ง 2 ฉบับ  ในปี 2558 และ ปี 2559 นั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงของบรรดาการใดๆ ที่รวมถึง การทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายบริหาร และ นายกฯ
 
         และ ที่สำคัญคือ "กลุ่มมาตราว่าด้วย วาระดำรงตำแหน่งขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ" เช่น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่กำหนด "วาระดำรงตำแหน่งแบบจำกัด” คือ 7 ปี และเป็นได้วาระเดียวชั่วชีวิต

 

         เช่นเดียวกับการกำหนดวาระดำรงตำแหน่งของ ผู้นำฝ่ายบริหาร

 

         ที่ผ่านมาการดำรงตำแหน่งของ องค์กรอิสระ ที่คาบเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ “คสช.” ประกาศให้มีผลใช้บังคับ  และ ฉบับปี 2560 แต่การดำรงตำแหน่ง ไม่พบว่า “องค์กรอิสระใด” ถูกนับวาระดำรงตำแหน่งแบบ “เริ่มใหม่” เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ใช้บังคับ แต่จะให้นับวาระต่อเนื่อง ตั้งแต่วันแรกที่แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ไปจนครบตามกติกา

 

         ประเด็นนี้ “ฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา” ยกตัวอย่างด้วยว่า เช่น การสรรหาและแต่งตั้ง กสม. ชุดที่ 4 ซึ่งเข้าปฏิบัติหน้าที่ เมื่อ 25 พฤษภาคม 2564  หลังจากที่ กสม. ชุดที่3  ดำรงตำแหน่งครบวาระ เมื่อ  24 พฤษภาคม 2564 โดยประเด็นนี้  หากให้ “กสม.” ชุดที่3 เริ่มนับวาระใหม่ จะต้องไม่มีการสรรหาใหม่ เพราะสามารถอยู่ทำหน้าที่ได้อีก 7 ปีตามรัฐธรรมนูญใหม่

 

         ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ กสม. ชุดที่สาม ซึ่งมาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ “คสช.”ออกประกาศให้มีผลบังคับใช้ ต้องพ้นไปเมื่อครบวาระตามที่รัฐธรรมนูญ 2550กำหนด คือ6 ปี ไม่มีการนับใหม่เมื่อมีกฎหมายใหม่ใช้บังคับ

 

         หรือ กรณีการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อปี 2563  ที่ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ครบวาระ 6 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2550 และวุฒิสภา เลือก “อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์” ดำรงตำแหน่งแทน  เมื่อ พฤษภาคม 2564  จะเห็นว่าไม่ได้นับวาระใหม่ เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ใช้บังคับ เช่นกัน

 

         หากนำมาเปรียบกับข้อถกเถียงถึงวาระดำรงตำแหน่ง “นายกฯ” ในปัจจุบัน แทบไม่แตกต่าง 

 

         เพราะนายกฯ  ถูกจำกัดวาระดำรงตำแหน่ง เฉกเช่นเดียวกับ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ  แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนบทบัญญัติต่างกันในบริบท  แต่บรรทัดฐานการใช้หรือตีความกฎหมาย ย่อมไม่ต่างกัน หรือ ให้สิทธิองค์กรใด ได้รับสิทธิพิเศษ เหนือกว่า

“นายกฯ” เกินเทอม จุดเสี่ยง วิกฤติการเมือง

         ฝ่ายบริหาร ถือเป็น 1 ใน 3เสาหลักของอำนาจอธิปไตย  หาก “ผู้นำ” ไม่ยึดกติกาสูงสุดของประเทศ และคิดจะครองอำนาจทางการเมือง “อยู่เกินรัฐธรรมนูญ” ความขัดแย้งและวุ่นวายทางการเมืองอาจเกิดขึ้น


         เหมือนคำทำนาย ที่​ “กรธ.” เขียนความมุ่งหมายของมาตรา 158 ไว้ในบรรทัดท้าย ที่ว่า “การกำหนดระยะเวลา 8 ปีเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองยาวเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤติการเมืองได้".