เสถียรภาพการเมือง ชี้วัดการฟื้นฟูประเทศ

เสถียรภาพการเมือง ชี้วัดการฟื้นฟูประเทศ

เสถียรภาพของรัฐบาลถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะนำพารัฐบาลให้บริหารจัดการสถานการณ์วิกฤติได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเบื้องหลังการแก้ปัญหาโควิด-19 ของรัฐบาลหลายเรื่องมีประเด็นการเมืองเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจเชิงนโยบาย

การระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกกินเวลาไปมากกว่า 1 ปี ครึ่ง โดยในประเทศไทยได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากการระบาดระลอกที่ 3 เป็นต้นมานับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และนับจำนวนผู้ติดเชื้อตั้งแต่ปี 2563 ถึงวันที่ 26 ก.ย. 2564 มีผู้ติดเชื้อสะสมรวม 1.56 ล้านคน มีผู้หายป่วยสะสม 1.42 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตสะสม 16,268 คน นับเป็นความสูญเสียที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นและทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่อันดับ 28 ของโลก

ในขณะที่การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในแต่ละประเทศล้วนเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของแต่ละรัฐบาล ซึ่งเป็นการชี้วัดถึงขีดความสามารถในการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยหลายประเทศดำเนินการได้ค่อนข้างดีในการเฝ้าระวังการระบาด การจัดหาและการฉีดวัคซีน การจัดหายาและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการควบคุมการระบาด การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาด รวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากวิกฤติครั้งใหญ่

แน่นอนว่า มีหลายประเทศที่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้ก้าวข้ามวิกฤติโควิด-19 ไปให้ได้ แต่การระบาดที่รุนแรงจากเชื้อโรคที่กลายพันธุ์ทำให้ยังไม่บรรลุเป้าหมาย

เมื่อเดือน ส.ค. 2564 นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ยื่นลาออกหลังจากที่ไม่สามารถแก้ปัญหาโควิด-19 ในประเทศมาเลเซียได้ ขณะที่นายโยชิฮิเดะ ซูกะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกาศออกจากตำแหน่งหลังจากถูกวิจารณ์ถึงความล้มเหลวในการแก้ปัญหาโควิด-19

เสถียรภาพและการแก้ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 จึงไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ซึ่งไม่แปลกใจเมื่อช่วงที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งเพราะไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์การระบาดได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ โดยเสถียรภาพของรัฐบาลถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะนำพารัฐบาลให้บริหารจัดการสถานการณ์วิกฤติได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเบื้องหลังการแก้ปัญหาโควิด-19 ของรัฐบาลหลายเรื่องมีประเด็นการเมืองเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจเชิงนโยบาย

ระหว่างที่กำลังแก้ปัญหาโควิด-19 กลับมีปัญหาการเมืองซ้อนขึ้นมาจึงนำมาสู่ประเด็นที่สังคมสงสัยถึงความแตกแยกของแกนนำรัฐบาลและแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งนำมาสู่การพ้นจากหน้าที่ของรัฐมนตรี 2 คน เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 โดยเฉพาะการพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งเป็นถึงเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ สะท้อนถึงเสถียรภาพของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี และจะสะท้อนถึงโจทย์ข้อใหญ่ของรัฐบาลหลังจากนี้ในการฟื้นฟูประเทศ