คีย์แมนการเมือง-พรรคพวกถูกสอบกราวรูด! 6 ปี"รัฐ-ป.ป.ช."แก้ทุจริตผิดทาง

คีย์แมนการเมือง-พรรคพวกถูกสอบกราวรูด! 6 ปี"รัฐ-ป.ป.ช."แก้ทุจริตผิดทาง

หลายโครงการ “ฉาว” ไม่ว่าจะเป็นก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ขุดลอกแหล่งน้ำโดยองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ทั่วประเทศ ต่างมีบทสรุปที่ “ค้านสายตา” ประชาชนอย่างมาก กลายเป็น “ภาพสะท้อน” รัฐบาล “ประยุทธ์” ในมุมมอง “องค์กรต่างชาติ” ว่าแก้ปัญหาคอร์รัปชัน “ล้มเหลว”

“จากการศึกษายุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องพบว่า การกำหนดเป้าหมายหลักที่ไม่อาจบรรลุได้ (ภาครัฐมีความโปร่งใสปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ) การกำหนดตัวชี้วัดที่ไม่สามารถวัดความก้าวหน้าได้ (CPI score) และการกำหนดค่าเป้าหมายที่นอกเหนือการควบคุม (ได้คะแนน CPI ไม่ต่ำกว่า 50 คะแนนภายในปี 2565) ส่งผลให้ประเทศไทยยากต่อการที่จะกล่าวได้ว่าประสบความสำเร็จในการต่อต้านการทุจริต ดังนั้น จึงมีข้อเสนอว่า ควรที่จะกำหนดกำหนดเป้าหมายหลักให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและมีการกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสม เช่น การประเมิน ITA หรือการสำรวจความคิดเห็นของสาธารณชน อีกทั้งควรมีการกำหนดค่าเป้าหมายที่สามารถวัดความก้าวหน้าและความสำเร็จได้จากเอกสารหลักฐาน”

คือหลักใหญ่ใจความสำคัญจากรายงาน Improving Thailand’s Prevention Measures on Corruption จัดทำโดย Dr.Hady Fink ที่ปรึกษาด้าน Anti-Corruption Indicator ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) ที่ประเมิน “ศักยภาพ-ยุทธศาสตร์” ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับการ “ต่อต้านการทุจริต” ในไทย สะท้อนผ่านผลคะแนน CPI และ ITA

ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับการประเมินผลเกี่ยวกับ “ความโปร่งใส” และ “การต่อต้านการทุจริต” ใน 2 ตัวชี้วัดหลักด้วยกัน คือ ระดับสากล ได้แก่ คะแนน CPI หรือค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index - CPI) ที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ซึ่งมี 180 ประเทศทั่วโลกถูกประเมินด้วย โดยคะแนนดังกล่าวสะท้อนภาพลักษณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ยิ่งได้ “คะแนนมาก” ยิ่ง “โปร่งใส” มาก

ระดับประเทศ ได้แก่ คะแนน ITA หรือผลคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment : ITA) ที่ดำเนินการโดยสำนักงาน ป.ป.ช. ริเริ่มอย่างเป็นทางการในปี 2561 ตามยุทธศาสตร์ชาติฯ และแผนแม่บทฯ โดยมีการเพิ่มเติม “หลักเกณฑ์” และ “ตัวชี้วัดย่อย” ตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

คีย์แมนการเมือง-พรรคพวกถูกสอบกราวรูด! 6 ปี"รัฐ-ป.ป.ช."แก้ทุจริตผิดทาง

กล่าวสำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศหลายครั้งหลายหนว่า การป้องกันและปราบปรามการทุจริต คือลำดับความสำคัญ “ต้น ๆ” ของรัฐบาลชุดนี้ ขณะที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า ในแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2565) และแผนแม่บทบูรณาการป้องกัน ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) มี “ความคาดหวัง” ว่า คะแนน CPI ของไทย จะต้องได้ไม่ต่ำกว่า 50 คะแนน

แต่จะทำได้จริงตามแผนแม่บทฯ และตามที่พูดหรือไม่?

กรุงเทพธุรกิจรวบรวมผลคะแนน CPI และ ITA นับตั้งแต่ปี 2558-2563 ที่ผ่านมา สรุปได้ดังนี้

คะแนน CPI ปี 2563 ประเทศไทยได้ 36 คะแนน จาก 100 คะแนน (เท่ากับปี 2562 และ 2561) โดยอยู่ลำดับที่ 104 ของโลก และอันดับที่ 5 ในกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN)

สำนักงาน ป.ป.ช. วิเคราะห์ผลคะแนน CPI ปี 2563 ดังกล่าว สรุปสาเหตุสำคัญคือ ประเด็น “การติดสินบน-คอร์รัปชัน” ที่ผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่า ไทยยังคงมีปัญหาเหล่านี้อยู่ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐยอมรับสินบนในการลักลอบเปิดบ่อนพนัน และปัญหาสินบน รวมถึงการลักลอบนำเข้าแรงงานผิดกฎหมาย ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการทุจริตยังไม่มีประสิทธิภาพ มีการลงโทษแค่เจ้าหน้าที่ระดับล่าง

ผลคะแนนครั้งนี้ล้อกันกับเหตุการณ์บุกจับกุม “เจ้าพ่อบ่อน” ชื่อดังภาคตะวันออก รวมถึงปัญหาแรงงานต่างด้าว และคำพิพากษาของศาลฎีกาคดี “ค้ามนุษย์โรฮีนจา” ที่เป็นข่าวดังในช่วงปีดังกล่าว

ส่วนปี 2562 ไทยได้ 36 คะแนนเช่นกัน อยู่อันดับ 101 ของโลก อันดับ 6 ในอาเซียน ปี 2561 ไทยได้ 36 คะแนนเหมือนกัน อยู่อันดับ 99 ของโลก อันดับ 5 ในอาเซียน ปี 2560 ไทยได้ 37 คะแนน อันดับ 96 ของโลก อันดับ 4 ในอาเซียน ปี 2559 ไทยได้ 35 คะแนน อันดับ 101 ของโลก อันดับ 5 ในอาเซียน และปี 2558 ไทยได้ 43 คะแนน อันดับ 76 ของโลก อันดับ 3 ของอาเซียน

เห็นได้ว่าคะแนน CPI ของไทยหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 จากเดิมไทยได้คะแนน CPI ในปี 2558 สูงถึง 43 คะแนน มากสุดในรอบ 6 ปีนับตั้งแต่การบริหารแผ่นดินโดย พล.อ.ประยุทธ์ ทว่าหลังจากนั้นกลับ “ยักแย่ยักยัน” แทบไม่เพิ่มขึ้น หรือถ้าขึ้นก็แค่ 1 คะแนน อยู่ลำดับกลางค่อนท้ายของโลกมาโดยตลอด?

ส่วนผลคะแนน ITA ของไทยที่ดำเนินการโดยสำนักงาน ป.ป.ช. ประเมินหน่วยงานของรัฐในไทยหลายพันแห่ง (ปี 2564 ล่าสุด 8,300 แห่ง) ยังคง “ไม่ผ่านหลักเกณฑ์” ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ คะแนนเฉลี่ย 85 คะแนนขึ้นไป และหน่วยงานผ่านเกณฑ์ไม่น้อยกว่า 65%

โดยปี 2564 คะแนน ITA เฉลี่ย 81.25 คะแนน มีหน่วยงานผ่านเกณฑ์เพียง 49.95% จากทั้งหมด 8,300 แห่ง ส่วนปี 2563 คะแนน ITA เฉลี่ย 67.9 คะแนน ผ่านเกณฑ์เพียง 13.19% จากทั้งหมด 7,208 แห่ง ปี 2562 คะแนน ITA เฉลี่ย 66.73 คะแนน ผ่านเกณฑ์ 11.69% จากทั้งหมด 8,299 แห่ง และปี 2561 คะแนน ITA เฉลี่ย 68.78 คะแนน มีหน่วยงานเข้าร่วม 426 หน่วยงาน

ทั้งหมดคะแนน CPI และ ITA ในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สะท้อนให้เห็นค่อนข้างชัดเจนว่ามาตรการ “ต่อต้านการทุจริต” แทบไม่เป็นผล

บุคคลระดับ “คีย์แมน” ในรัฐบาลชุดนี้ ต่างถูกตรวจสอบกราวรูดในชั้น ป.ป.ช. ไล่เรียงมาตั้งแต่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม แม้แต่ “บิ๊กติ๊ก” พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย “บิ๊กตู่” ก็ยังโดน

ขณะที่หลายโครงการ “ฉาว” ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ โครงการขุดลอกแหล่งน้ำโดยองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ทั่วประเทศ ต่างมีบทสรุปที่ “ค้านสายตา” ประชาชนอย่างมาก

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จึงกลายเป็น “ภาพสะท้อน” ออกไปในมุมมองของ “องค์กรต่างชาติ” ว่า รัฐบาล “บิ๊กตู่” แก้ปัญหาคอร์รัปชัน “ล้มเหลว” ขณะที่ “องค์กรปราบโกง” สำคัญอย่าง ป.ป.ช. กำลังเดินผิดทาง?