วินัยการเงินการคลัง วินัยของรัฐบาล

วินัยการเงินการคลัง วินัยของรัฐบาล

หนี้สาธารณะต่อจีดีพีในปี 2563 อยู่ที่ 49.35% และในปี 2564 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 55.59% สิ่งที่น่ากังวล คือ วิกฤติครั้งนี้ยังไม่สิ้นสุดลง และคาดเดาได้ลำบากว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่เพราะมีตัวแปรมาก

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยในระดับวิกฤติ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกกฎหมายเพื่อกู้เงิน 2 ฉบับ มาใช้ดูแลสถานการณ์ประเทศ โดยออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2519 พ.ศ.2563 เพื่อกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งมีการอนุมัติใช้งบประมาณไปแล้ว 996,870 ล้านบาท รวม 296 โครงการ และทั้งหมดต้องกู้ให้เสร็จภายในเดือน ก.ย.2564

ในขณะที่ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 เพื่อกู้เงิน 500,000 ล้านบาท เป็นการกู้เงินเพิ่มเติมหลังจากเกิดการระบาดระลอกที่ 3 เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีความรุนแรงจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตา และส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อรวมนับตั้งแต่เดือน เม.ย.ถึงปัจจุบันมีมากถึง 1.46 ล้านคน ถือว่ามีความรุนแรงมากกว่าการระบาดระลอกที่ 1 และการระบาดระลอกที่ 2 รวมกัน

การออกกฎหมายเพื่อกู้เงินรวม 2 ฉบับ วงเงินถึง 1.5 ล้านล้านบาท ทำให้ต้องการการติดตามฐานะทางการคลังและเพดานหนี้สาธารณะอย่างใกล้ชิด โดยหากย้อนกลับไปดูในรอบ 20 ปี จะพบว่า ระดับหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มสูงขึ้นหลังการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ โดยในปี 2541 หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 47.84% ต่อมาปี 2543 เพิ่มเป็น 59.22% เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเพราะมีความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินมาใช้พยุงเศรษฐกิจในช่วงหลังต้มยำกุ้ง

ส่วนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์หรือวิกฤติซับไพร์มในปี 2550-2551 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การแจกเช็คช่วยชาติให้กับผู้ประกันตามมาตรา 33 วงเงินคนละ 2,000 บาท เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน ซึ่งระบบฐานข้อมูลในขณะนั้นยังไม่ดีทำให้มีข้อมูลเฉพาะแรงงานในระบบประกันสังคม โดยในปี 2551 หนี้สาธารณะต่อจีดีพี อยู่ที่ 34.95% และในปี 2552 หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นมาเป็น 42.36%

วิกฤติโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีในปี 2563 อยู่ที่ 49.35% และในปี 2564 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 55.59% สิ่งที่น่ากังวล คือ วิกฤติครั้งนี้ยังไม่สิ้นสุดลง และคาดเดาได้ลำบากว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่เพราะมีตัวแปรมาก โดยเฉพาะเชื้อกลายพันธุ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกและอาจมีความรุนแรงมากกว่าเชื้อที่มีในปัจจุบันก็ได้ ดังนั้นเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลต้องวางแผนการใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะหากต้องกู้เงินมากขึ้นย่อมมีผลต่อการบริหารงบประมาณในอนาคตที่ถูกจำกัดการใช้มากขึ้น