ตลาดการเมือง สู้กันเดือด ทั้งระบบ “อุปถัมภ์” และ “กลยุทธ์ไอโอ”

ตลาดการเมือง สู้กันเดือด ทั้งระบบ “อุปถัมภ์” และ “กลยุทธ์ไอโอ”

อดีต ส.ส.ร.40-50 ประเมินเลือกตั้งหลัง แก้ระบบเลือกตั้ง สู้กันเดือด ใครมีอำนาจมากกว่า ใช่จะชนะ เหตุต้องวัดที่ระบบอุปถัมภ์ และ ไอโอ

         การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยรัฐสภา ชุดปัจจุบัน ที่ล่าสุด สามารถปรับแก้ เนื้อหาว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ให้กลับไปใช้ บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แยกเลือกคน และ พรรค ชัดเจน จากเดิมมีเพียง1 เลือกได้เฉพาะ “ผู้สมัคร ส.ส.” ปรับจำนวน ส.ส.เขตให้มี 400 คนจากเดิมเขียนให้มี 350 คน และลดส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้มี 100 คน จากเดิมมี 150 คน

 

            พร้อมกับแก้เนื้อหาว่าด้วยการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จาก “ระบบจัดสรรปันส่วน” ไปเป็น “ระบบเติมเต็ม” ได้ส.ส.เขตมากเท่าไร ให้เติมคะแนนป๊อบปูลาร์โหวต ไปใน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

 

         หลังจากที่มีความพยายามกันมาแล้ว หนึ่งครั้ง เมื่อปลายปี 2563 แต่ต้องแท้งไป เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

 

        กับปรากฎการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “เสรี สุวรรณภานนท์” วุฒิสมาชิก ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้ที่เคยร่วมวง ยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ฐานะเป็น สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มองสภาพการเมืองไทย หลังจากนี้ ว่า 

อ่านข่าว : "ยุทธพงศ์" มั่นใจเลือกตั้งรอบหน้า "เพื่อไทย" ได้เกิน200เก้าอี้

          “การเมืองไทยคงอยู่สภาพแบบนี้ คือ เป็นการต่อสู้ แย่งชิง อำนาจทางการเมือง ไม่สามารถทำประโยชน์อะไรได้จริงๆ  เพราะการแก้รัฐธรรมนูญล่าสุดที่กลับไปใช้แบบเดิม เหมือนรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่สู้กันแบบเอาชนะฝ่ายเดียว ไม่มีที่ยืนสำหรับผู้แพ้ จะทำให้มีคนไม่ยอมรับและรวมตัวต่อสู้กันทางการเมืองอีก”

ตลาดการเมือง สู้กันเดือด ทั้งระบบ “อุปถัมภ์” และ “กลยุทธ์ไอโอ”

         เมื่อถามถึงมุมมองการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้แบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งถูกปรับแก้ไปแล้ว มีความสมบูรณ์ที่แก้ปัญหา “ฝ่ายชนะกินรวบ” หรือไม่ อดีต ส.ส.ร. มองว่า ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่สมบูรณ์แบบ  แต่การปรับแก้ไขที่เกิดขึ้นได้นั้น เพราะเป็นไปตามเสียงส่วนใหญ่ ความต้องการ รวมถึงสถานการณ์ทางการเมือง เหตุผลที่บอกว่าไม่มีฉบับใดสมบูรณ์นั้น เพราะ จริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญไม่มีการพัฒนา ไม่ได้ต่ออด ทำแบบเอาปัญหาเก่าๆ มาคิดวิธีแก้ แบบลองผิดลองถูก

 

          “เชื่อว่าปัญหายังวนไปที่เดิม การคิดให้มีเขตเดียว คนเดียว บัตรเลือกตั้งแยกคนแยกพรรรค เพราะคิดแค่ตัวเองจะชนะได้อย่างไรไว้ก่อน รูปแบบการเลือกตั้งจึงถูกสร้างตามความต้องการ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ประชาชน”

 

         กับท่าทีล่าสุดของ “พรรคเพื่อไทย” ที่ประกาศล่วงหน้าจะชนะเลือกตั้งสมัยหน้า เกิน 200 เสียง เหมือนที่เคยทำได้ในสมัย “ทักษิณ - ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นั้นเห็นอย่างไร “อดีตส.ส.ร. 40 -50” มองว่า แนวโน้มที่ประเมินวันนี้อาจเป็นไปได้ แต่อย่าลืมว่านอกจากแนวโน้ม และเรื่องกติกาที่ออกแบบไว้ ยังมีปัจจัยชี้ขาดที่สำคัญด้วย คือ 1. การกระแส โดยเฉพาะกระแสทางโซเชียลมีเดีย ที่จะช่วยย้ำความคิด นำเสนอกระบวนการชักจูงใจ ซึ่งสมัยนี้อาจเรียกได้ว่า "ปฏิบัติการไอโอ” ที่มีความลึกลับ ซับซ้อน ดังนั้นใครที่เก่งเรื่องนี้ จะถือว่ามีแต้มต่อต่อการกำหนดทิศทาง

ตลาดการเมือง สู้กันเดือด ทั้งระบบ “อุปถัมภ์” และ “กลยุทธ์ไอโอ”

          หากมีการเลือกตั้งทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไข เชื่อว่าการสู้กันทางการเมืองจะรุนแรงมากขึ้น ใช้ ไอโอมากขึ้น    ดังนั้นไม่ใช่ว่าฝ่ายใดมีอำนาจมากกว่า จะชนะเเสมอไป และสิ่งสำคัญ ในประเด็นที่ 2 คือ การเกาะเกี่ยว ยึดเหนี่ยว ด้วยระบบอุปถัมภ์ ดูแล ช่วยเหลือชาวบ้าน

 

         "ดังนั้นไม่ว่าการเมืองจะมีคนรุ่นใหม่ หน้าใหม่ เข้ามาเป็นตัวเลือก หากไร้ซึ่งระบบอุปถัมภ์ การสร้างกระแสเพื่อปูทางไปสู่การได้มาซึ่งคะแนนนิยม น้อยมากจะผ่านเข้าสู่เวทีการเมืองได้ เช่นเดียวกับนักการเมืองหน้าเก่า แม้จะมีระบบอุปถัมภ์เป็นเครดิตตุนไว้ แต่หากไร้ซึ่งพลังเงิน ก็อาจพ่ายกระแสได้เช่นกัน” อดีต ส.ส.ร. กล่าวทิ้งท้าย.