‘กองกำลังไซเบอร์’ แนวรบ ‘โดเมนที่ห้า’

‘กองกำลังไซเบอร์’ แนวรบ ‘โดเมนที่ห้า’

ตลอด 7 ปี “กองทัพบก” ได้ติดตามสถานการณ์และตระหนักถึงอันตราย และกำหนดให้ ภัยคุกคามด้านไซเบอร์เป็นหนึ่งใน 5 ของพลังอำนาจทางทหาร

ปฏิบัติการ “แฮก” ข้อมูลคนไข้ 16 ล้านคนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)แล้วนำไปโพสต์ขาย คือสัญญาณเตือนให้ทุกส่วนราชการของรัฐโดยเฉพาะ “หน่วยงานความมั่นคง” ที่มีฐานข้อมูลสำคัญต้องตื่นตัวในการรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ที่อาจส่งผลกระทบทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างคาดไม่ถึง

ปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี กลายเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้พัฒนาองค์กรให้ทันสมัยเพิ่มศักยภาพด้านต่างๆไม่เว้นแม้แต่ “ด้านทหาร” โดยการใช้อุปกรณ์สื่อสารเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ติดต่อกับองค์กรภายนอก เปิดช่องให้ผู้ไม่หวังดีเข้ามาโจมตีหรือเรียกว่า “แฮกเกอร์”

อ่านข่าว : เช็ค! 12 วิธีป้องกันถูก แฮกข้อมูล สกัดซอฟต์แวร์อันตราย

ตลอด 7 ปี “กองทัพบก” ได้ติดตามสถานการณ์และตระหนักถึงอันตรายดังกล่าวและกำหนดให้ ภัยคุกคามด้านไซเบอร์เป็นหนึ่งใน 5 ของพลังอำนาจทางทหาร เรียกว่า “โดเมน” 1.พื้นที่ปฏิบัติการบนดิน (Land Domain)2.พื้นที่ปฏิบัติการในน้ำ (Sea Domain)3. พื้นที่ปฏิบัติการในอากาศ (Air Domain) 4.พื้นที่ปฏิบัติการบนห้วงอวกาศ (Space Domain) 5.พื้นที่ปฏิบัติการด้านไซเบอร์โดเมน (Cyber Domain)

“กองทัพบก” ให้ความสำคัญกับ “โดเมนที่ 5” ด้วยการผลิต “นักรบไซเบอร์” รับมือสงครามยุคใหม่ที่ไร้ตัวตน ในลักษณะการควบคุมสั่งการของกองทัพผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และหากระบบควบคุมสั่งการถูกทําลาย บิดเบือนข้อมูล ระบบบังคับบัญชาและระบบสั่งการใช้งานไม่ได้ ก็เท่ากับพ่ายแพ้ในสมรภูมิรบ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง “ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก” รองรับภารกิจผ่าน 3 กองปฏิบัติการ

“กองปฏิบัติการไซเบอร์” ทำหน้าที่ เฝ้าระวัง แจ้งเตือนป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภัยคุกคามและการเผชิญเหตุฉุกเฉินด้านไซเบอร์ ตลอดจนการพัฒนาขีดความสามารถในการปฏิบัติการไซเบอร์ เชิงรุกและโจมตี ฝ่ายตรงข้ามในกรณีจำเป็น

“กองรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ทำหน้าที่ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ติดตาม การปฏิบัติของหน่วยตามมาตรการการรักษาความมั่งคงปลอดภัย รวมถึงการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยคุกคาม สืบค้น และตรวจสอบช่องโหว่ของระบบ โดยใช้เครื่องมือระบบตรวจหาการบุกรุก กู้คืนสภาพเมื่อถูกโจมตีและพิสูจน์หลักฐานทางดิจิทัล

 

“กองสนับสนุนการปฏิบัติการข่าวสารไซเบอร์” ทําหน้าที่ เฝ้าระวัง แจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารบนไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันและความมั่งคงของชาติ วิเคราะห์ทิศทาง โครงข่ายความสัมพันธ์ของข้อมูล ประเภทสื่อ และกลุ่มเป้าหมาย ติดตาม สืบค้น แหล่งที่มาและกําหนดมาตรการป้องปราม ตอบโต้

แม้ภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ของไทย ยังไม่รุนแรงเท่ากับประเทศมหาอำนาจ โดยส่วนใหญ่เป็นการโจมตีคือ ปล่อยไวรัสคอมพิวเตอร์ การปล่อยมัลแวร์ และการแฮกหน้าเว็บไซต์ โปรแกรม แอพพลิเคชั่นต่างๆอย่างที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังเผชิญอยู่ แต่ “กองทัพบก” ได้กําหนดระดับภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ไว้ 4 ด้าน

 1. ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ การเผยแพร่ข้อมูลทําให้เกิดความได้เปรียบทางการเมืองหรือด้านความมั่นคง การเผยแพร่ข้อมูลความลับ และกระจายโปรแกรมไม่พึงประสงค์ทําลายเครือข่ายระบบคอมพิวเตอร์

2. ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) เช่น การเผยแพร่ข่าวลือ ข่าวเท็จ กล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติการข่าวสาร หรือ ปฏิบัติการไอโอ

3. ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันของชาติ เช่น เผยแพร่ภาพหมิ่นสถาบัน การวิจารณ์สถาบันในทางเสื่อมเสีย โดยส่วนใหญ่ใช้เว็บไซต์หรือสื่อโซเชียลในต่างประเทศ จึงยากต่อการดําเนินคดี

และ 4. ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของกองทัพไทย ทําให้ภาพลักษณ์ของผู้นํากองทัพไทยเสียหาย ลดความน่าเชื่อและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการปกป้องประเทศ และการบังคับบัญชาของเหล่าทัพซึ่งส่งผลกระทบต่อการพิทักษ์อธิปไตยของชาติไทย

ศูนย์ปฏิบัติการไซเบอร์ภายใต้กำกับดูแลของ “กองทัพบก” ยังคงเดินหน้าพัฒนาบุคลากร เสริมสร้างทักษะ ขีดความสามารถอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เท่าทันต่อภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่มีวิวัฒนาการไปตามยุคสมัย