ธรรมนัส ทหารมหาดเล็ก รุ่นบุกเบิก จาก ’ถอดยศ’ ถึง ‘ถูกปลด’

ธรรมนัส ทหารมหาดเล็ก รุ่นบุกเบิก จาก ’ถอดยศ’  ถึง  ‘ถูกปลด’

ไม่ว่าจะอดีต หรือ ปัจจุบันเส้นทางของ ธรรมนัส ยังคงผกผันให้ตามลุ้นกันตลอด โดยเฉพาะบทสรุปใน ตำแหน่ง เลขาฯ พปชร. จะอยู่ต่อ หรือ มูฟออน ไปอาศัยบ้านใหม่ หรือ มีพรรคของตัวเอง ยังต้องติดตามกันต่อไป

เมื่อ 35 ปีที่แล้ว 'บิ๊กจิ๋ว'  พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้อนุมัติให้กองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 พัน 4 รอ.)ขึ้นตรงต่อหน่วยบัญชาการรักษาความปลอดภัยฯ ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นที่มีการจัดหน่วยแยกเป็น 'ทหารมหาดเล็ก' หรือ 'ทม.' ครั้งแรก

ประจวบเหมาะกับเวลานั้น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 25 (ตท.25) พึ่งเรียนจบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) มาหมาดๆ ด้วยบุคลิกดูดี มีคุณสมบัติตรงตามที่กองทัพบกกำหนด จึงได้รับการคัดเลือกเข้าประจำ ร.1 พัน 4 รอ. กลายเป็น 'ทม.' รุ่นแรก ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยฯ

เส้นทางรับราชการ 'ร.อ.ธรรมนัส' ที่ดูเหมือนสดใสในช่วงต้นกลับพลิกผัน ทันทีที่ถูกปลดออกจากราชการ 2 ครั้ง ในปี 2534 เนื่องจาก ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา และ ปี 2536 หนีราชการ แม้ตอนหลังได้ทำเรื่องขอกลับเข้ารับราชการใหม่ได้สำเร็จทั้ง 2 ครั้ง แต่สุดท้ายก็มีปัจจัยแทรกซ้อน ทำให้ต้องออกไปใช้ชีวิตนอกกองทัพ

แม้ขณะนั้นนายทหารชื่อดัง 'เสธไอซ์' พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต ได้ยื่นมือมาประคับประคอง และชี้ช่องทางการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัย แต่นั่นก็ส่งผลให้ชีวิตนอกกองทัพของ 'ร.อ.ธรรมนัส ' ต้องเข้าไปเฉียดฉิวกับคดีสำคัญมากมาย จนต้องเปลี่ยน 'ชื่อ-นามสกุล'หลายครั้งทั้ง ยุทธภูมิ โบพรหม, พชร โบพรหม, พชร พรหมเผ่า , มนัส พรหมเผ่า 

และในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2541 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถอดยศ ร้อยโท พชร พรหมเผ่า (ชื่อในขณะนั้น) เนื่องจากประพฤติตนไม่เหมาะสมตามพระราชบัญญัติวินัยทหาร พุทธศักราช 2476

จากนั้น 'ร.อ.ธรรมนัส' ก็เริ่มชิมลางการเมืองครั้งแรก ด้วยการทำหน้าที่อยู่เบื้องหลังช่วยดูฐานเสียง กทม.ให้พรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2542 โดยมี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรค และสามารถชนะเลือกตั้ง 2 สมัยติดต่อกัน

 'ร.อ.ธรรมนัส' เงียบหายไปหลังเกิดรัฐประหาร 2549 ก่อนจะมีชื่อปรากฎใน 'แบล็กลิสต์' ของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ 'ศอฉ.' หลังมีกระแสข่าวเข้าไปเกี่ยวพันกลุ่ม 'ฮาร์ดคอร์' ในการชุมนุมของคนเสื้อแดง และเตรียมถูกอายัดทรัพย์ แต่ไม่นานก็ถูกปลดชื่อออกจากบัญชี

ต่อมา ร.อ.ธรรมนัส ได้เปลี่ยนชื่อจาก มนัส พชร จนมาถึงชื่อปัจจุบัน และเข้าไปคลุกคลีกับการเมืองในพื้นที่บ้านเกิด จังหวัดพะเยา กระทั่งมีข่าวได้ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ปี 2557 แต่การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ

จากนั้นเกิดรัฐประหาร 2557  'ร.อ.ธรรมนัส' ได้ย้ายขั้วสลับข้างมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ช่วยงาน  3 ป. (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา) ออกแบบการเมือง และด้วยความสามารถเฉพาะตัวในการรวบรวม ต่อรอง จัดกลุ่ม รวมไปถึงวาทกรรม 'แจกกล้วย'  จนได้เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์

จากนั้นไม่นาน พปชร. ปรับโครงสร้างพรรคใหม่ ซึ่ง 'พล.อ.ประวิตร' ยังคงนั่งเป็นหัวเรือใหญ่ แต่เลื่อนขั้น 'ร.อ.ธรรมนัส' มาเป็น 'เลขาธิการพรรค' เพราะเชื่อมั่นว่าความถึงลูกถึงคน กล้าได้กล้าเสีย จะสามารถชิงพื้นที่ฐานเสียงคู่แข่งด้วยสรรพกำลังที่เต็มเปี่ยม ทั้งทุน อำนาจ และบริวาร หวังเดินการเมืองต่อไป

แต่สิ่งที่หวังกลับไม่เป็นไปตามที่คิด ทันทีเกิดกระแสข่าวโค่นล้มพี่น้อง 2 ป. ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์  โดยมี 'ร.อ.ธรรมนัส' โยงใยอยู่เบื้องหลังผ่าน 'ศึกซักฟอก'ไม่ไว้วางใจรัฐบาลช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้เนื้อหาอภิปรายของฝ่ายค้านจืดชืดไปสนิท

แม้ผลสุดท้าย คะแนนผลโหวตของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้รับเสียงโหวตเกินครึ่ง 264 คะแนน ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่ก็ได้อันดับ'บ๊วย' ตามญัตติ คือคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจมีถึง 208 คะแนน สูงสุดใน 6 รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยกัน

เสร็จศึกในสภา ก็ถึงคราวสะสางเรื่องภายในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  นำเรื่องกราบบังคมทูลให้ 2 รัฐมนตรี ประกอบด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน พ้นจากตำแหน่ง เพื่อความเหมาะสมและเกิดประโยชน์แก่ราชการ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 171 ก่อนประกาศราชกิจจานุเบกษา

ในช่วงที่ 'ร.อ.ธรรมนัส' เปิดแถลงข่าวที่รัฐสภาและโชว์ใบลาออกจากตำแหน่ง แค่เพียงไม่กี่นาที โดยระบุ

"ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งมา บรรยากาศ การบริหารราชการแผ่นดินไม่เป็นไปอย่างที่ผมคาดหวังเอาไว้ แล้วผมก็อยากกลับไปอยู่ในจุดเดิมของผม คือการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน ผมต้องการทำการเมืองให้มันเข้มแข็ง เพื่อประเทศชาติบ้านเมืองจริงๆ ไม่ใช่มารองรับ หรือทำอะไรเพื่อคนบางกลุ่ม”

โดย  'ร.อ.ธรรมนัส'ทิ้งท้ายว่า จะเลือกทางเดิน เลือกเส้นทางของการเมืองใหม่ แต่ยังยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง จะไปต่อสู้เวทีการเมืองอย่างเต็มที่ในอนาคต

ดังนั้นคงต้องจับตาดูชอตต่อไป 'ร.อ.ธรรมนัส' ยังจะอยู่ในตำแหน่งเลขาฯ พปชร.ได้อีกหรือไม่ และเส้นทางการเมืองในอนาคตจะมูฟออนไปอาศัยบ้านใหม่ หรือมีพรรคเป็นของตัวเอง