'วิษณุ'เผยหาก'ประยุทธ์'โดนคว่ำ ยังรักษาการจนกว่ามี'นายกฯ-ครม.'ชุดใหม่

'วิษณุ'เผยหาก'ประยุทธ์'โดนคว่ำ ยังรักษาการจนกว่ามี'นายกฯ-ครม.'ชุดใหม่

"วิษณุ" เผย หาก "นายกฯ" ถูกโหวตไม่ไว้วางใจ "ครม." พ้นคณะไปด้วย จะอยู่รักษาการจนกว่ามีชุดใหม่ ชี้ หากเลือกนายกฯ นอกสภา ต้องใช้เสียง 2ใน3 ของที่ประชุมรัฐสภา

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีหากพล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ถูกลงมติไม่ไว้วางใจ ว่า โดยจะเริ่มต้นจากที่นายกฯ ถูกลงมติไม่ไว้วางใจก็จะพ้นจากหน้าที่ตามมาตรา 170 และจะทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งไปด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 167 มาตรา 168 ที่บอกว่าให้ครม. ที่พ้นจากตำแหน่งรักษาการอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีครม.ชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่ ซึ่งไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลา แล้วแต่ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะหานายกฯ คนใหม่ได้เมื่อใด พร้อมกับยอมรับว่า หากใช้ระยะเวลาในการสรรหานายกฯ คนใหม่นาน พล..ประยุทธ์ ก็จะต้องรักษาการต่อไป จนกว่าจะมีครม. จะถวายสัตย์ปฏิญาณ

ส่วนการเลือกนายกฯ จะเลือกจากรายชื่อในบัญชีรายชื่อก่อน นอกบัญชีรายชื่อใช่หรือไม่นั้นนายวิษณุ กล่าวว่า ใช่ โดยไม่ขอระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ในอดีตก็เคยมีการล้มรัฐบาลโดยพรรคร่วมรัฐบาลในรัฐบาลหลายสมัย เช่น สมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา ที่จบลงด้วยการยุบสภา

ขณะที่กระบวนการคัดเลือกนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ กล่าวว่า จะมีการเลือกกี่ครั้งก็ได้ หรือจะไม่เลือกรายชื่อที่อยู่ในบัญชีก่อนก็ได้ ถ้าตกลงว่าจะใช้รายชื่อล็อต 2 ในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ระบุว่าไม่ให้เลือกจนไม่ได้บอกแต่เพียงว่า กรณีที่จะนำรายชื่อของคนนอกให้ใช้เสียงครึ่งหนึ่งของสภา2 สภา ยื่นญัตติ และโหวตกันด้วยคะแนน 2 ใน 3 ซึ่งเป็นกระบวนการที่นำมาใช้แทนกันได้ ซึ่งก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากหากต้องใช้คะแนนเสียงถึง 2 ใน 3 แต่ก็เชื่อว่าหากไม่มีการคัดเลือกรายชื่อในบัญชีก่อนก็คงไม่มีใครกล้าเลือกนอกบัญชี

ส่วนเรื่องดังกล่าวจะถูกนำไปผูกโยงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น นายวิษณุ ระบุว่า ขึ้นอยู่กับในวันที่ 10 กันยายน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านในวาระ 3 หรือไม่ หากผ่านในวาระที่ 3 ได้ก็ถือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเสร็จสิ้น ส่วนจะส่งไปตีความยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ก็ไม่สำคัญ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 81 ที่ระบุว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใด ที่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ โดยหากรัฐบาลนั้นสิ้นสภาพก็จะไม่กระทบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเว้นจะมีการยุบสภา หากการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จก็ต้องตกไป แต่เมื่อมีรัฐบาลใหม่ขึ้นมา ก็สามารถหยิบร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว มาพิจารณาต่อไปได้ โดยหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาในวาระ 3 ในวันที่ 10 กันยายนนี้จะขึ้นทูลเกล้าฯ หรือส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความ