ศาลยกฟ้องคดี 'บิ๊กโจ๊ก' ยื่นฟ้อง 'นายกฯ' เหตุได้นั่ง 'ที่ปรึกษา สบ.9'  แล้ว

ศาลยกฟ้องคดี 'บิ๊กโจ๊ก' ยื่นฟ้อง 'นายกฯ' เหตุได้นั่ง 'ที่ปรึกษา สบ.9'  แล้ว

ศาลปกครองกลางยกฟ้อง พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกฯ  ปล่อยให้นั่งตบยุงที่สำนักนายกฯ  ชี้ เหตุฟ้องคดีหมดหลังมีคำสั่งให้กลับมาทำงาน เป็นที่ปรึกษา สบ.9  แล้ว

20 ส.ค.64 ที่ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษา  คดีที่ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล  อดีตผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) ผู้ฟ้องคดี   ยื่นฟ้องว่า  พล.อ.ประยุทธ์ จันทีโอชา  นายกรัฐมนตรี  ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (หน.คสช.)ผู้ถูกฟ้องที่ 1  และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่2      

กรณีมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2562 ลงวันที่ 9  เม.ย.2562  ให้ผู้ฟ้องคดีซึ่ง  ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหารระดับสูง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) ต่อมาขณะที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือ ลงวันที่ 20  ส.ค. 25623 จำนวนสองฉบับ ฉบับแรกทำถึงนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1  เพื่อขอให้ ทบทวนและมีคำสั่งใหม่ให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และฉบับที่สองทำถึงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2  ขอให้ พิจารณาเสนอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง กลับไม่ได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมายื่นฟ้องต่อศาล เนื่องจากผู้ฟ้องคดีถูกกระทำละเมิด ได้รับความเสียหาย
     

ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้ว คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยรวมสองประเด็น ดังนี้      ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการไม่พิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามหนังสือของผู้ฟ้องคดี ลงวันที่ 20 ส.ค. 2563และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีอันเนื่องจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรหรือไม่นั้น  
   

ศาลเห็นว่า ตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) เป็นตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่งอธิบดีหรือตำแหน่งรองปลัดกระทรวงฯ ซึ่งงานในหน้าที่ราชการของผู้ฟ้องคดีเมื่อครั้งขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีลักษณะงานเทียบเท่าผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดี หรือตำแหน่งรองปลัดกระทรวง แต่งานในหน้าที่ราชการของผู้ฟ้องคดีขณะดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) มีเพียงเล็กน้อย ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งของผู้ฟ้องคดีเมื่อเทียบกับผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดี หรือตำแหน่งรองปลัดกระทรวง ตลอดจนในขณะที่ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ในสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการปฏิรูปราชการแผ่นดินแล้วกำหนดตำแหน่งหน้าที่อื่นให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ราชการแต่อย่างใด อีกทั้งขณะที่ผู้ฟ้องคดีรับราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือในขณะที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) ผู้ฟ้องคดี ไม่อยู่ระหว่างการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.)หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) หรืออยู่ในระหว่างดำเนินการทางวินัยของผู้บังคับบัญชา จึงเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีเหตุจำเป็นที่จะดำรงตำแหน่งในกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษในสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีอีกต่อไปตามข้อ 1  วรรคห้า ของบัญชีห้าท้ายคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 ก.ค. 2562  การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีหนังสือลงวันที่ 26 ส.ค. 2563 เสนอเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีขอโอนกลับไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานเดิมให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1  พิจารณา และในระหว่างพิจารณาคดีของศาล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีหนังสือลงวันที่ 1 ธ.ค.2563 และหนังสือลงวันที่ 5 มี.ค. 2564 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีเนื้อหาใจความทำนองเดียวกันกับหนังสือ ลงวันที่ 26 ส.ค. 2563 เพื่อให้พิจารณาเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีขอกลับไปปฏิบัติงานในสังกัดเดิม กรณีจึงถือว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการเสนอความเห็นต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อให้พิจารณาเรื่องของผู้ฟ้องคดีแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี
     ส่วนกรณีของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้รับหนังสือของผู้ฟ้องคดี ลงวันที่ 20 ส.ค. 2563แล้ว รวมทั้งได้รับความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ข้างต้นแล้ว     ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องพิจารณาเรื่องของผู้ฟ้องคดี ตามข้อ 1 วรรคห้า ของบัญชีห้าท้ายคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9ก.ค. 2562 แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ได้มีคำสั่งว่า ผู้ฟ้องคดีมีความจำเป็นหรือไม่มีความจำเป็นที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) กรณีจึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีด้วย แต่ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2  ได้มีหนังสือลงวันที่ 5 มี.ค. 2564 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อให้พิจารณาสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาแล้วได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 5  มี.ค. 2564 เห็นชอบตามข้อเสนอของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามข้อ 1  วรรคห้า ของบัญชีห้าท้ายคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 ลงวันที่  9 ก.ค. 2562 และต่อมาผู้ฟ้องคดีได้โอนกลับไปรับราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำแหน่งที่ปรึกษา (สบ.9) ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.)แล้ว 

เหตุแห่งการฟ้องคดีจึงหมดสิ้นไป ศาลไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1  ไปดำเนินการเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับไปปฏิบัติงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานเดิมได้อีกตามนัยมาตรา 72  วรรคหนึ่ง (2 ) และ (3) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2642
    

 ประเด็นที่สอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการไม่พิจารณาคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2562 ลงวันที่ 9 เม.ย. 2562  ใหม่ตามหนังสือของผู้ฟ้องคดี ลงวันที่ 20 ส. ค.2563 และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีอันเนื่องจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรหรือไม่นั้น           

ศาลเห็นว่า  หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้อาศัยอำนาจตามข้อ 5 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2558 ลงวันที่ 15  พ.ค. 2558  ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2562 ลงวันที่ 9  เม.ย. 2562 ให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งดำรงตำแหน่งผบช.สตม. สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ในบัญชีรายชื่อเพิ่มเติมตามข้อ 5 และให้ผู้ฟ้องคดีขาดจากตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อโอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหารระดับสูง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) ซึ่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2558 ลงวันที่ 15  พ.ค .2558เป็นคำสั่งที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 

  ดังนั้น คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 2/2562  ลงวันที่ 9 เม.ย. 2562 จึงมิใช่คำสั่งทางปกครองตามคำนิยามของมาตรา 5  แห่งพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาใน คำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามนัยมาตรา 54 แห่งพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการพิจารณาใหม่ตามหนังสือของผู้ฟ้องคดี ลงวันที่ 20 ส.ค  2563 และไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี      พิพากษายกฟ้อง