รัฐหวดม็อบล้มล้างปกครอง วัดใจแกนนำโผล่ร่วมชุมนุม ?

รัฐหวดม็อบล้มล้างปกครอง วัดใจแกนนำโผล่ร่วมชุมนุม ?

“ตำรวจ-ทหาร” วางเกมหลายชั้น วางกำลังนับพันนาย ทุกอย่างพร้อมรับมือ เมื่อ “แกนนำ” กลุ่มผู้ชุมนุมติดเงื่อนไขการประกันตัวแต่จุดยืนยังแข็งกร้าว ม็อบ 7 สิงหาจึงน่าจับตาทุกย่างก้าวของผู้ชุมนุม จะหันหน้าเดินไปทางไหน และจะจบการชุมนุมอย่างไร

พลันที่ “เยาวชนปลดแอก” ผนึกกำลังกับกลุ่มเครือข่าย นัด "ม็อบ 7 สิงหา" โดยนัดรวมพลกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังบริเวณวัดแก้ว (พระบรมมหาราชวัง) ส่งผลให้ “หน่วยงานความมั่นคง” ต้องออกแอ๊คชั่นแบบแรงๆ

 

โดยเฉพาะ “บิ๊กปั๊ด” พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ที่ถูกจับไต๋ ไม่ออกแรงคุมม็อบมานาน โยนให้อยู่ในความดูแลของกองบัญชาการตำรวจนครบาล แม้จะเกิดเหตุรุนแรงหลายต่อหลายครั้ง แต่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แทบไม่ปรากฏตัวต่อหน้าสื่อ

 

แต่การชุมนุมครั้งนี้ ไฟต์บังคับที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ ต้องเล่นบทแสดงนำ ออกมาบัญชาการด้วยตัวเอง เพราะหากรักษามาดนิ่ง เก้าอี้ ผบ.ตร.อาจสั่นคลอนได้ แม้จะเกษียณอายุราชการปี 2565 ก็ตาม

 

จับอาการของ พล.ต.อ.สุวัฒน์-บิ๊กตำรวจ ประเมินม็อบ 7 สิงหา ไม่ธรรมดา เพราะมีเป้าหมายการชุมนุมที่บริเวณพระบรมมหาราชวัง การรักษาความปลอดภัยจึงต้องเข้มข้นมากเป็นพิเศษ

 

ชอตแรก พล.ต.อ.สุวัฒน์ เรียกบิ๊กตำรวจประชุมเตรียมรับมือการชุมนุม ออกแอ๊คชั่นเอาจริงไม่ได้ขู่ พร้อมสั่งระดมกำลังจากตำรวจทั่วประเทศให้เข้ามาช่วยคุมม็อบ ขู่ใช้มาตรการเข้มหากกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าใกล้พระบรมมหาราชวังในระยะ 150-300 เมตร

ชอตสองปล่อยคลิปเสียงการประชุมของ “บิ๊กตำรวจ” ซึ่งถูกตีความว่า "ตั้งใจอัดเสียง-ปล่อยคลิป" โดยเตรียมงัดข้อหามาตรา 112 "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี"

 

มาตรา 113 ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ

ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือcบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

 

มาตรา 116 ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

 

มาตรา 85 ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด และความผิดนั้นมีกำหนดโทษไม่ต่ำกว่าหกเดือน ผู้นั้นต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น โดยผู้โฆษณาหรือประกาศต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ

 

การปั่นข่าวของ “ตำรวจ” เสมือนปฏิบัติการจิตวิทยา ที่ข่มขู่กลุ่มผู้ชุมนุม กดดันให้คิดเยอะกว่าเดิม หากตัดสินใจออกมาชุมนุม อาจจะต้องถูกดำเนินคดีในอัตราโทษสูงสุด ซึ่งต้องวัดกันหน้างานว่า ปฏิบัติการจิตวิทยาครั้งนี้จะได้ผลมากน้อยเพียงใด

สำหรับการตรึงกำลังรักษาความปลอดภัย “ตำรวจ” จะรับผิดชอบพื้นที่การชุมนุม พื้นที่นอกเขตพระบรมมหาราชวัง โดยจะตั้งตู้คอนเทนเนอร์ปิดล้อมทางสัญจรทุกช่องทาง เพื่อสกัดกั้นไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินขบวนไปยังจุดหมาย

หากกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าใกล้เขตพระบรมมหาราชวังในระยะ 150-300 เมตร อาจมีการปะทะกันแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ขณะที่พื้นที่โดยรอบ และด้านในพระบรมมหาราชวัง จะอยู่ในความรับผิดชอบของ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กรมทหารราบ 1 รักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ โดย “บิ๊กบี้” พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้เรียกประชุมเตรียมความพร้อมเมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา

 

โดยสถานะของ “ทหาร” อยู่ในสถานะผู้ช่วยเจ้าพนักงาน แต่สามารถปรับเปลี่ยนเป็น “เจ้าพนักงาน” ได้ทันที หากสถานการณ์รุนแรง และจำเป็นต้องเข้าระงับเหตุ

 

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า “แกนนำผู้ชุมนุม” อาจจะตลบหลัง “ตำรวจ-ทหาร” ซึ่งตามศัพท์ชาวเน็ตเรียกกันว่า “แกง” ไม่มาชุมนุมบริเวณพระบรมมหาราชวัง โดยเปลี่ยนเป้าหมายไปยังจุดอื่นแทน โดยเฉพาะลานพระบรมรูปทรงม้า ทำให้ “ตำรวจ-ทหาร” ตรึงกำลังรักษาพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ไว้หลายจุด เพื่อเตรียมความพร้อมได้ทันการณ์

 

ขณะเดียวกัน การชุมนุมครั้งนี้เป็นเดิมพันของ “แกนนำ” หลายคน เนื่องจากสุ่มเสี่ยงต่อการผิดเงื่อนไขการให้ประกันตัวของศาลได้ ซึ่งหากผิดเงื่อนไขย่อมเข้าทาง ที่จะถูกยื่นคำร้องถอนประกัน ซึ่งหากศาลถอนประกันในครั้งนี้ ก็มีโอกาสสูงที่แกนนำจะไม่ได้รับการประกันตัวออกมาอีก เพราะศาลสามารถกล่าวอ้างถึงการให้โอกาส และการทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวได้ ซึ่งจะมีน้ำหนักมากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน

 

ดังนั้นจึงต้องจับตาว่า “แกนนำระดับแม่เหล็ก” จะเข้าร่วมการชุมนุมหรือไม่ เพราะเดิมพันสูงยิ่งกว่าการชุมนุมครั้งก่อนๆ

 

เมื่อ “ตำรวจ-ทหาร” วางเกมหลายชั้น วางกำลังนับพันนาย ทุกอย่างพร้อมรับมือ เมื่อ “แกนนำ” กลุ่มผู้ชุมนุมติดเงื่อนไขการประกันตัวแต่จุดยืนยังแข็งกร้าว ม็อบ 7 สิงหาจึงน่าจับตาทุกย่างก้าวของผู้ชุมนุม จะหันหน้าเดินไปทางไหน และจะจบการชุมนุมอย่างไร