'ก้าวไกล' จี้ พม. เปิดข้อมูล-แนวทางช่วยเหลือ 'เด็กกำพร้า' จากโควิด

'ก้าวไกล' จี้ พม. เปิดข้อมูล-แนวทางช่วยเหลือ 'เด็กกำพร้า' จากโควิด

"ก้าวไกล” จี้ พม. เร่งเปิดเผยข้อมูลและแนวทางการให้ความช่วยเหลือ “เด็กกำพร้า” จากสถานการณ์โควิด

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และรองประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตรายวันจำนวนมาก พบรายหลายเป็นพ่อหรือแม่ เป็นผู้ดูแลเด็ก จนทำให้เด็กกลายเป็น “เด็กกำพร้า” แบบไม่ทันตั้งตัว แต่ไม่พบว่ากระทรวง พม. ในฐานะหน่วยงานหลักได้แถลงสถานการณ์และแนวทางการให้ความช่วยเหลือเด็กอย่างเป็นระบบ แถมยังไปขอให้ภาคส่วนต่างๆ ตั้งมูลนิธิช่วยเหลือเด็กกำพร้ากันเอง

“ภาพเด็กหญิงอายุ 7 ปี และ 9 ปี สองพี่น้องที่ต้องสูญเสียแม่เสาหลักเพียงคนเดียวที่ จ.สมุทรปราการ เป็นเพียงหนึ่งภาพสะท้อนที่สร้างความสะเทือนใจแก่สังคม แต่ในฐานะที่ทำงานด้านคุ้มครองเด็กมานาน กลับไม่เห็นการแถลงข่าวของกระทรวง พม. ที่เป็นหน่วยงานหลักตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ว่าได้มอบหมายให้ พมจ. สำรวจว่ามีเด็กกำพร้าหรือได้รับผลกระทบจำนวนเท่าใดกันแน่ แนวทางการให้ความช่วยเหลือทั้งการฟื้นฟูร่างกายจิตใจ การมีผู้ดูแลระยะยาว การศึกษาของเด็ก โดยไม่จำเป็นต้องแยกเด็กมาดูแลในสถานสงเคราะห์จะเป็นอย่างไร มิใช่แต่เพียงการช่วยเฉพาะรายที่เป็นข่าว และอ้างว่าจะใช้เงินจากกองทุนคุ้มครองเด็กที่มีระเบียบยุ่งยากหรือจะตั้งมูลนิธิช่วยเหลือแต่เพียงอย่างเดียว อนาคตของเด็กๆ เป็นอนาคตของชาติและสำคัญกว่าจะปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม” นายณัฐวุฒิระบุ

โดยข้อมูลจาก The Lancet Medical Journal วารสารทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียง เปิดเผยรายงานการประเมินนับจากการระบาดของโรคตั้งแต่ 1 มีนาคม 2563 - 30 เมษายน 2564 ว่ามีเด็กอย่างน้อย 1.13 ล้านคน ต้องสูญเสียพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายที่เป็นผู้ดูแลหลักอย่างน้อย 1 คน และมีเด็กไม่น้อยกว่า 1.56 ล้านคน ต้องเผชิญกับการสูญเสียผู้ดูแลหลักหรือผู้ดูแลรอง เช่น เครือญาติในบ้าน อย่างน้อย 1 คน นี่นับเฉพาะข้อมูลจาก 21 ประเทศที่มีการเสียชีวิตสูงสุด สำหรับในประเทศไทยนั้นมีการประเมินโดย Imperial College London แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คาดการณ์ว่าจะมีเด็กกำพร้าที่พ่อแม่หรือทั้งสองเสียชีวิตอย่างน้อย 160 คน เด็กที่อยู่ในภาวะที่มีผู้ดูแลหลักเสียชีวิตอย่างน้อย 180 คน และอีกมากกว่า 350 คน ที่มีผู้ดูแลหลักหรือผู้ดูแลรองในบ้านเสียชีวิต แม้เด็กจะไม่ได้กำพร้าก็ตาม และตัวเลขนี้เป็นตัวเลขการประเมินก่อนที่จะมีอัตราการเสียชีวิตมากขึ้นในปัจจุบัน

การเสียชีวิตของคนในครอบครัวย่อมส่งผลกระทบ หรือ trauma กับเด็กทั้งทางจิตใจและทางสังคม ที่ต้องได้รับการประเมินจากนักวิชาชีพผู้เกี่ยวข้อง เพราะเด็กแต่ละคนมีต้นทุนไม่เหมือนกัน ยิ่งถ้าเป็นเด็กกำพร้า ยิ่งจะต้องได้รับการประเมินและติดตาม เพราะผลกระทบยิ่งมากกว่าทั้งการขาดผู้ดูแล การเรียนรู้บทบาทในครอบครัว ที่อยู่ เศรษฐานะ โอกาสในการศึกษา โอกาสในอาชีพ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งภายใต้ พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 นั้น ได้กำหนดให้ พม. เป็นกระทรวงหลัก ดำเนินการผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะต้องเร่งในการสำรวจข้อมูลเด็กที่ได้รับผลกระทบ การวางแผนในการช่วยเหลือ และการมอบหมายให้มีพนักงานเจ้าหน้าที่ ทำหน้าที่เป็น case manager ในการติดตาม ซึ่งรวมถึงการประเมินว่าใครจะเป็นผู้ดูแลเด็ก และเด็กจะเติบโตไปในระยะยาวได้อย่างไร และแน่นอนว่าสถานการณ์แบบนี้เป็นการตอกย้ำว่าการมีนโยบาย “เงินอุดหนุนเด็กเล็ก” แบบถ้วนหน้า ยิ่งจำเป็นยิ่งที่ต้องลงทุน มากกว่าการใช้งบประมาณที่ไม่จำเป็นในด้านอื่นๆ

“ตนชื่นชมคนในสังคมที่ช่วยเหลือเมื่อเห็นเด็กสูญเสียพ่อแม่จากโควิด ทั้งการบริจาค การระดมทุน แม้กระทั้งการหามูลนิธิหรือโรงเรียนประจำให้เด็ก แต่รัฐบาลที่มีหน้าที่โดยตรง โดยเฉพาะกระทรวง พม. ที่ควรวางแผนและแถลงถึงแนวทางรองรับปัญหาที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นกลับไม่ได้ทำ ซึ่งตนจะเสนอให้ กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนฯ เชิญนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสอบถามถึงแนวทางการช่วยเหลือเด็กกำพร้าและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิดต่อไป หลายๆ เรื่องในสังคมไทย อาจเป็นเรื่องที่รอได้ แต่เรื่องเด็กเป็นเรื่องที่รอไม่ได้” นายณัฐวุฒิกล่าวทิ้งท้าย