‘ล็อกดาวน์’ แค่ทดเวลาบาดเจ็บ

‘ล็อกดาวน์’ แค่ทดเวลาบาดเจ็บ

มาตรการ "ล็อกดาวน์" นอกจากเป็นมาตรการขั้นสุดที่ชี้ว่า โควิดในประเทศ "โคม่า" เกินรับมือไหวแล้ว ยังเป็นเพียงการ "ทดเวลาบาดเจ็บ" ยื้อเวลาออกไป จะจบช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับว่า รัฐตั้งสติปรับแผนแก้วิกฤติให้ตรงจุดเป็นเอกภาพเพียงใด หลังจากนี้

ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดที่พุ่งสูงขึ้นทำนิวไฮ มีผู้เสียชีวิตทุกวัน คนป่วยหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมีจำนวนเพิ่มขึ้น เราเดินมาถึงวันที่วิกฤติโควิดกำลังทุบประเทศให้อยู่ในภาวะโคม่า ยากที่จะเยียวยาให้ฟื้นคืนได้เร็วดั่งใจนึก ประเทศคงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ การแก้ปัญหาที่ชวนสับสน ผิดพลาดในทุกเรื่องของรัฐบาล และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

วิกฤติการสื่อสาร การชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนที่ล้มเหลวยังมีอยู่ ยิ่งสะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นของประชาชน แม้จะโหมเรี่ยวแรงความช่วยเหลือ การสนับสนุนจากทุกภาคส่วนมากมายแค่ไหนก็ตาม จนสุดท้ายรัฐต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ แน่นอนว่า ผลกระทบในวงกว้างย่อมตามมาอีกมหาศาล

ข้อเสนอมาตรการล็อกดาวน์ ที่ สธ.ชงเลือกล็อกเฉพาะสำหรับพื้นที่เสี่ยง คือ กทม. และ ปริมณฑล เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ จำกัดการเดินทางออกจากบ้าน และไปในสถานที่เสี่ยง ลดการเคลื่อนที่ของประชาชน เช่น ให้เวิร์คฟรอมโฮม 100% ยกเว้นงานบริการที่จำเป็น และงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค ให้งดการเดินทางโดยไม่จำเป็น ยกเว้น ซื้ออาหาร ไปโรงพยาบาล และฉีดวัคซีน ปิดหรือลดเวลาเปิดสถานที่ชุมชน สถานที่เสี่ยงเพิ่มเติม เช่น ลดเวลาเปิดปิด ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ยกเว้นส่วนของร้านอุปโภคบริโภค ซูเปอร์มาร์เก็ต ลดรวมกลุ่มกันทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชน งดจัดประชุม จัดสอบ หรือกลับเข้าสถานศึกษา งดเดินทางข้ามจังหวัด

ขณะที่ เสนอให้ปรับแผนกระจายวัคซีนไปต่างจังหวัด และระดมการฉีดวัคซีนที่มีอยู่ให้กลุ่มผู้สูงอายุ และโรคเรื้อรังใน กทม.และปริมณฑล จัดช่องทางด่วนในการตรวจ และรักษาให้คนในกลุ่มนี้

รวมถึงให้ประชาชนทุกคน เน้นมาตรการป้องกันส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัย งดคลุกคลีใกล้ชิดกัน หรือรับประทานอาหารร่วมกัน ทั้งในที่บ้าน สถานที่ทำงาน ทุกหน่วยงานผู้ประกอบการต้องเข้มมาตรการป้องกันส่วนบุคคลในสถานประกอบการและสถานที่ทำงาน

มาตรการล็อกดาวน์เป็นมาตรการขั้นสุดที่ชี้ว่า โควิดในประเทศ “โคม่า” เกินรับมือได้ไหว หากรัฐเลือกทางนี้ ต้องพร้อมรับผลกระทบมหาศาลที่จะต้องตามมา

เหนือสิ่งอื่นใด มาตรการรองรับช่วยเหลือเยียวยาต้องพร้อม ครอบคลุมทุกกลุ่ม เพียงพอ เป็นมาตรการที่มองไปข้างหน้า ยืดหยุ่น ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว เราเห็นว่า มาตรการล็อกดาวน์ต้องประเมินผลได้ และ ไม่มีช่องโหว่ แม้จะรู้ว่าล็อกครั้งนี้ วิกฤติคงไม่จบลงง่าย ๆ เพียงแค่ขอเวลานอก ทดเวลาบาดเจ็บ ไม่ได้จบได้จริง อยู่ที่ว่า จากนี้รัฐต้องตั้งสติปรับแผนแก้วิกฤติให้ตรงจุดเป็นเอกภาพ

เมื่อรัฐเลือกยอมเจ็บ ปลายทางที่เห็นก็ควรต้องสะท้อนออกมาอย่างมีความหวัง