'คมนาคม' รายงาน 7 ปี ลงทุนระบบรางทั่วปท. 1.5 ล้านล้านบาท มุ่งลดต้นทุนโลจิสติก

'คมนาคม' รายงาน 7 ปี ลงทุนระบบรางทั่วปท. 1.5 ล้านล้านบาท มุ่งลดต้นทุนโลจิสติก

"คมนาคม" รายงาน 7 ปีรัฐบาลลงทุนระบบรางทั่วประเทศ 1.5 ล้านล้านบาท มุ่งลดต้นทุนโลจิสติก อำนวยความสะดวกให้ประชาชน กระจายความเจริญไปทั่วประเทศ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 29 มิ.ย. 2564 ทราบถึงการพัฒนาระบบคมนาคมทางรางในช่วง 7 ปี(พ.ศ.2557- 2563) ของรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม  ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีนโยบายชัดเจนว่ารัฐบาลจะพัฒนาการคมนาคมทางรางให้ เป็นระบบขนส่งหลักของประเทสเพื่อลดต้นทุนโลจิสติก อำนวยความสะดวกในการเดินทาง สร้างโอกาส และกระจายความเจริญไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ จึงมีข้อสั่งการให้กระทรวงคมนาคมประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการพัฒนาระบบคมนาคมทางรางให้เกิดเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด 

ทั้งนี้  ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการลงทุนในระบบรางมีการลงทุนรวม 1,508,648 ล้านบาท แยกเป็นการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลและพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ 828,132 ล้านบาท พัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่และทางสายใหม่ 276,559 ล้านบาท และพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง 403,957 ล้านบาท สามารถแยกรายละเอียดได้ดังนี้ 

ส่วนที่ 1 การพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล มีการเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนเพิ่มขึ้นจากก่อนปี 2557 มีโครงข่าย 4 เส้นทาง 85 กม. ปัจจุบัน รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเปิดบริการแล้ว 5 สี 9 เส้นทางรวม 170.38 กม. จากทั้งหมด 554 กม. คิดเป็นประมาณ 25%ของโครงการข่ายทั้งระบบ 

อยู่ระหว่างก่อสร้างมี 6 เส้นทางรวม 131.76 กม. ได้แก่

  1. สายดีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต 26.3 กม.
  2. สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน 15.26 กม.
  3. สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนาธรรมฯ-มีนบุรี 22.5 กม.
  4. สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง 30.4 กม.
  5. สายสีชมพูช่วงแคลาย-มีนบุรี 34.5 กม.
  6. สายสีชมพูช่วงส่วนต่อขยายสถานีศรีรัช-เมืองทองทางธานี 3 กม.  

“ในส่วนของสายสีแดงเข้มช่วงบางซื่อ-รังสิต และสายสีแดงอ่อนช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จะเปิดให้บริการในเดือนพ.ย. 2564 นี้ และโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอย่างสายสีเหลือง สายสีชมพู จะทยอยเปิดให้บริการประชาชนปีละ 30-40 กม.ในช่วงปี 2565-67” น.ส.ไตรศุลี กล่าว


น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการประกวดราคาอีก  2 เส้นทาง 37 กม. คือสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) 23.6 กม. และสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-บางขุนนนท์ 13.4 กม. 

อยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชน(พีพีพี) 5 เส้นทาง  ได้แก่

  1. สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 8.84 กม.
  2. สายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง 5.76 กม.
  3. สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 14.80 กม.
  4. แดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 5.70 กม.
  5. สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก 20.14 กม.

ส่วนที่ 2 การพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ เป็นการก่อสร้างศูนย์กลางระบบราง และแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของประเทศ เป็นจุดเชื่อมต่อระบบรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนด้วยด้วยพื้นที่ 298,200 ตรม. 4 ชั้น 24 ชานชาลา 

ส่วนที่ 3 การพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่และทางสายใหม่ เร่งรัดการก่อสร้างรถไฟทางคู่และทางสายใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางและขนส่งสินค้า โดยเปิดให้บริการรถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง 293 กม. ได้แก่

  • ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 187 กม.
  • ช่วงฉะเชิงเทรา -คลองสิบเก้า-แก่องคอย 106 กม.

อยู่ระหว่างก่อสร้างทางคู่ 5 โครงการระยะทางรวม 700 กม. ประกอบด้วย

  • ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 132 กม.
  • ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ 148 กม.
  • ช่วงนครปฐม-หัวหิน 169 กม.
  • ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 84 กม.
  • ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร1 ระยะทาง167 กม.  

อยู่ระหว่างประกวดราคาสายใหม่ 2 โครงการ ได้แก่

  • ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 323 กม.
  • ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม 355 กม. 

ส่วนที่ 4 การพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง เพื่อพลิกโฉมระบบรางของไทย สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยอนุมัติการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 2 สายแรกระยะทางรวม 473 กม. ประกอบด้วย

  1. โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253 กม.
  2. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 220 กม.