มองไปทางไหน เจอแต่ 'วิกฤติ'

มองไปทางไหน เจอแต่ 'วิกฤติ'

ประเทศไทยอาจก้าวข้ามผ่านวิกฤติครั้งนี้ได้ยากขึ้น เพราะถึงวันนี้มองไปทางไหนก็ยังเจอแต่ปัญหา ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่มีแนวโน้มลดลง กลับกันยังคงเพิ่มขึ้น ทำนิวไฮได้อย่างไม่หยุดหย่อน

ทุกการจัดการของรัฐ ถูกตั้งคำถามจากสังคมเต็มไปหมด ตั้งแต่มาตรการป้องกัน การล็อกดาวน์คุมเข้ม การจัดหาวัคซีน แม้กระทั่งได้วัคซีนมาแล้ว ก็ยังถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของวัคซีน กระบวนการฉีด วัคซีนทางเลือก ฯลฯ

ที่สังคมตั้งคำถามเพราะ “ไม่เชื่อมั่น” การทำงานของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปัญหาเกิดขึ้นทุกวัน แม้ภาคธุรกิจเอกชนจะพร้อมใจร่วมไม้ร่วมมือให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนการทำงานของภาครัฐอย่างเต็มที่ แต่วิกฤติก็ยังคงเป็นวิกฤติที่ไม่มีวี่แววจะคลี่คลาย แถมยังไร้แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จะเปิดในวันที่ 1 ก.ค.นี้ โมเดลนำร่อง ก่อนจะเปิดประเทศช่วงกลางเดือน ต.ค. ท่ามกลางตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศที่พุ่งไม่หยุด โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ แม้การฉีดวัคซีนจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อมองจากเป้าหมายการเปิดประเทศใน 120 วัน ตัวเลขของผู้ได้รับวัคซีนยังคงดูห่างไกลมากเหลือเกิน

ยังไม่นับปัญหาเชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่สร้างความหวั่นวิตก ประสิทธิภาพของวัคซีนบางตัวที่ไทยใช้เป็นหลัก ก็อาจไม่สามารถต้านทานความร้ายแรงของเชื้อโรคพวกนี้ได้ ต้องฉีดกันเพิ่มเติม รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สังคมตั้งคำถามกันอย่างท่วมท้น แม้ทุกคนจะรู้ดีกว่าวัคซีนทุกตัวมีประสิทธิภาพ ที่ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ก็ตาม 

ประเด็นเรื่องวัคซีนสำหรับประเทศไทย ยังคงเป็นระเบิดเวลา ปัญหาพร้อมเกิดทุกเมื่อ โดยเฉพาะจำนวนวัคซีน ที่ระหว่างทางไม่รู้ว่าจะเกิดการขาดช่วงขึ้นเมื่อไหร่ จำนวนวัคซีนที่นำเข้ามาเพียงพอจริงหรือไม่ ขั้นตอนที่สุดแสนจะยุ่งยากของการอนุมัติวัคซีนทางเลือก รวมไปถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอด

จำนวนเตียงที่ขาดแคลนเพราะผู้ป่วยล้นทะลักมากมายเกินจะรับไหว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระบบสาธารณสุขของไทยที่อยู่ในภาวะ “วิกฤติ” เป็นยุคที่ระบบสาธารณสุขของเรา “ล่ม” อย่างไม่เป็นท่า เศรษฐกิจที่รอการฟื้นตัว ยังคงได้แต่ “รอ” เมื่อมองไปทางไหน เจอแต่ปัญหา มาตรการล็อกดาวน์ จึงถูกหยิบขึ้นมาใช้อีกครั้ง

เมื่อ พล.อ.อนุพงษ์​ เผ่าจินดา​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกมาพูดถึงแนวทางล็อกดาวน์พื้นที่ กทม. ซึ่ง ศบค.กำลังพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียด​ ทั้งแสดงความมั่นใจว่าการล็อกดาวน์ กทม. จะ​ลดการแพร่ระบาดลงได้แน่ และแก้ปัญหาวิกฤติเตียง ที่ถึงตอนนี้หลับตานึกก็ยังนึกไม่ออกว่า จะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่

เราเห็นว่า มาตรการล็อกดาวน์หากรัฐต้องหยิบมาใช้ ควรพิจารณาข้อดีข้อเสียให้รอบด้าน วางแผนให้รอบคอบ มีแผนรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ด้วย

อย่าให้การล็อกดาวน์ครั้งนี้ หรือวิธีการแก้ปัญหาของรัฐบาลในแต่ละครั้ง กลายเป็นการขยี้ให้เกิดวิกฤติซ้อนวิกฤติ แก้ไขยากขึ้นไปอีก