รธน.วาระแรก 3 ขั้ว “เสียงแตก” ด่าน ส.ว.ขวางรื้อ “กลไก คสช.”

รธน.วาระแรก 3 ขั้ว “เสียงแตก”  ด่าน ส.ว.ขวางรื้อ “กลไก คสช.”

24มิถุนา ถือเป็นวันประวัติศาสตร์การเมือง และปีนี้ ก็เช่นกัน ที่บันทึกทางการเมือง ต้องเขียนไว้ ว่า รัฐสภา จะลงมติ รับหรือไม่รับหลักการ ทั้ง13 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของ 3ขั้วการเมือง อย่างไร?

       ความพยายามเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบสองของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25

       ที่ 4 กลุ่มการเมืองเสนอรวม 13 ฉบับ ได้แก่ "กลุ่มของพรรคพลังประชารัฐ” 1 ฉบับ เสนอโดย ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐพร้อมคณะ “กลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้าน” 4 ฉบับ นำโดย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทยพร้อมคณะ

       “กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล” 6 ฉบับ นำโดย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และคณะ “พรรคภูมิใจไทย” 2 ฉบับ นำโดย อนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

       ในการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ทั้งบุคคลที่เป็นคีย์แมน และตัวแทนคีย์แมนของพรรคที่มีบทบาทนำ เมื่อ 23 มิถุนายน 2564 พอเห็นทิศทางของการลงมติในวาระแรกแล้วว่า

       จะเกิดปรากฎการณ์ “เสียงแตก” ทั้งจากกลุ่มพรรคฝ่ายค้าน - กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงฝ่ายวุฒิสภา และมีบางญัตติที่ไม่สามารถผ่านด่าน “ส.ว.” ไปได้

       เงื่อนไขของมาตรา 256 (3) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดให้การออกเสียงวาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีเสียงเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของวุฒิสภา

       ปัจจุบันมีสมาชิกรัฐสภาทั้งสิ้น 733 คน แบ่งเป็น ส.ส. 483 คน และ ส.ว. 250 คน ดังนั้นเสียงที่จะเห็นชอบ ต้องร่างแก้รัฐธรรมนูญต้องมีเสียงทั้งสิ้น 367 เสียงขึ้นไป และในจำนวนดังกล่าวต้องมีเสียง ส.ว.เห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่า 84 เสียง

162446404240

       หากลองคำนวณคะแนนคร่าวๆ ของร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับ

       “ฉบับแรก" ร่างแก้รัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ แก้ระบบเลือกตั้งเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ตัดการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคต่อการกำหนดผู้แทนลงเลือกตั้งกำหนดนโยบายพรรค แก้มาตรา 144 แก้มาตรา 185 และกลุ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน

       มีคะแนนตุนไว้ 109 เสียง จาก ส.ส.พลังประชารัฐที่ร่วมยื่นญัตติ คาดว่าจะได้เสียงสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทยประมาณ 100 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 50 เสียง กลุ่มพรรคเล็กประมาณ 30 เสียง

       ส่วน ส.ว.นั้น แม้ผู้อภิปรายจะไม่เห็นด้วยต่อเนื้อหาแก้มาตรา 144 และมาตรา 185 พร้อมกังวลว่าหากออกเสียงสนับสนุนส่อถูกยื่นสอบจริยธรรมเพราะเข้าข่ายแก้เพื่อประโยชน์ของตัวเอง

       แต่จากการเช็คเสียงแล้ว เชื่อว่า ส.ว. ส่วนใหญ่จะงดออกเสียง แต่ยังพอมีคะแนนเกิน 84 เสียงเพียงพอต่อการ “ผ่านด่าน” รับหลักการ

       “ฉบับสอง" ร่างแก้รัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยรวมกับเสรีรวมไทย แก้กลุ่มมาตราว่าด้วยสิทธิเสรีภาพประชาชน ตัดการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคกำหนดผู้แทนลงเลือกตั้ง และเพิ่มสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และการต่อต้านรัฐประหารด้วยสันติวิธี

       มีคะแนนตุนไว้ 140 เสียงจาก ส.ส.เพื่อไทย และเสรีรวมไทย คาดว่าจะได้เสียงเพิ่มเติมจากพรรคประชาธิปัตย์ 50 เสียง ส่วน ส.ว.แสดงท่าทีคัดค้าน และจะไม่รับหลักการ เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล

       “ฉบับสาม" ร่างแก้รัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย แก้ระบบเลือกตั้ง และ “ฉบับสิบสาม” ร่างแก้รัฐธรรมนูญ ของ 3 พรรคร่วมรัฐบาล แก้ระบบเลือกตั้งมี ส.ส. 500 คนจากเขต 400 คนเขต 100 คน

162446404192

       ทั้ง 2 ฉบับนี้มีคะแนนตุนไว้รวมกันที่ 287 เสียง คาดว่าจะได้เสียงสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐ 112 เสียง ส่วน ส.ว. แสดงท่าทีคัดค้าน และส่วนใหญ่จะไม่รับหลักการ เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล

       “ฉบับสี่" ร่างแก้รัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล และ "ฉบับสิบเอ็ด" ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ที่มีเนื้อหาคล้ายกัน คือ แก้ที่มานายกรัฐมนตรี และตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี

       โดยทั้ง 2 ฉบับนี้มีคะแนนตุนรวมกัน 272 เสียง จากประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย เพื่อไทย และพรรคก้าวไกล คาดว่าจะได้เสียงเติมจากพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ อีกประมาณ 25 เสียง

       ส่วนเสียง ส.ว. นั้น ขณะนี้ยังเห็นต่างเป็น 2 ทาง และเมื่อนำผลลงคะแนนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2563 พบว่า ส.ว.ให้คะแนนเห็นชอบไม่พอตามเกณฑ์กำหนด คือเห็นด้วยแค่ 56 เสียง และที่เหลือนั้นงดออกเสียง รอบนั้นการแก้กลุ่มมาตรานี้ ไม่ผ่านด่าน ส.ว.

       “ฉบับห้า" ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องของยุทธศาสตร์ชาติ และยกเลิกมาตรา 279 การรับรองความชอบของบรรดาคำสั่ง ประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.

       มีคะแนนตุนไว้ 140 เสียง จาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อชาติ และเสรีรวมไทย คาดว่าจะได้เสียงสนับสนุนจากพรรคประชาธิปัตย์ 50 เสียง กลุ่มพรรคเล็กฝ่ายค้าน ส่วนพรรคก้าวไกลนั้นแสดงจุดยืนไว้ว่าจะไม่สนับสนุน แต่อาจงดออกเสียง

       ขณะที่ ส.ว.เชื่อว่าจะเสียงแตก และเสียงเห็นด้วยไม่ถึงเกณฑ์กำหนด หากการตัดสินใจของส.ว.ยังเป็นแนวเดียวกับการลงมติเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2563 ในชั้นรับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญ

162446404235

       สำหรับ “ฉบับหก" ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 3 พรรคร่วมรัฐบาล แก้ไขมาตรา 65 ว่าด้วยการทำยุทธศาสตร์ชาติที่วางเป้าหมายพัฒนาประเทศ และคลายเงื่อนไขการปรับแก้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ “ฉบับเจ็ด" ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 3 พรรคร่วมรัฐบาล เพิ่มมาตราใหม่ ให้รัฐวางหลักประกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า

       “ฉบับแปด" ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 3 พรรคร่วมรัฐบาล แก้มาตราว่าด้วยสิทธิเสรีภาพประชาชนด้านกระบวนการยุติธรรม สิทธิด้านสิ่งแวดล้อม คุ้มครองผู้บริโภค และ “ฉบับสิบสอง”ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 3 พรรคร่วมรัฐบาล เพิ่มหลักการกระจายอำนาจปกครองท้องถิ่น ให้นักการเมืองท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

       แต่ละร่างมีคะแนนตุนไว้ประมาณ 110 เสียงจาก ส.ส.ที่ร่วมยื่นญัตติ และคาดว่าจะได้เสียงเพิ่มจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ประมาณ 100 เสียง เพราะเนื้อหามีหลักการใกล้เคียงกัน และกลุ่ม ส.ส.พรรคเล็กร่วมรัฐบาลประมาณ 30 เสียง

       ขณะที่เสียง ส.ว.ส่วนใหญ่สนับสนุน แต่ยังไม่ชัดว่าจะได้เสียงครบเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ เว้นแต่มาตรา 65 ที่เห็นว่าจะเพิ่มบทบาทและความแจ่มชัดของ “ยุทธศาสตร์ชาติ” ที่มีฐานริเริ่มมาจาก “คสช."

162446462112

       “ฉบับเก้า" ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 3 พรรคร่วมรัฐบาล แก้มาตรา 256 ปลดล็อคเสียง ส.ว.ออกจากการลงคะแนนแก้รัฐธรรมนูญ

       มีเสียงตุนไว้แล้ว 115 เสียง จากส.ส.ที่ร่วมยื่นญัตติ และเชื่อว่าจะได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านอีกประมาณ 100 เสียง เมื่อเทียบกับการลงมติของส.ว. เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2563 ในเรื่องดังกล่าว พบว่าเทคะแนนเสียงรับหลักการเกิน 120 เสียง

       อย่างไรก็ดี การแก้ไขมาตราดังกล่าว หากรัฐสภารับหลักการและแก้ไขจนผ่านวาระสาม ต้องนำไปทำประชามติ และอาจทำให้เสียเวลาและเสียงบประมาณ ดังนั้นเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ส.ว.จึงเตรียมงดออกเสียง และคาดว่าเสียงจะไม่พอตามเกณฑ์กำหนด

       “ฉบับสิบ" ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 3 พรรคร่วมรัฐบาล แก้กระบวนการตรวจสอบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ให้ใช้ช่องทางศาลฎีกา แทนช่องทางของประธานรัฐสภา มีเสียงตุนไว้แล้ว 154 เสียง จาก ส.ส.ที่ร่วมเสนอญัตติ แต่คาดว่าจะได้เสียงสนับสนุนอีกเล็กน้อยจาก ส.ส.พรรครัฐบาล

       ส่วนส.ส.ฝ่ายค้านนั้น ยังแสดงท่าทีไม่ชัด และออกอาการลังเล เพราะหากโยนอำนาจให้ศาลจะเท่ากับสภาฯ ไม่มีประเด็นอะไรเพื่อต่อรอง หรือตรวจสอบองค์กรอิสระ ส่วน ส.ว. นั้นท่าทีต่อเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน

162446425426

       ดังนั้นหากคาดการณ์ญัตติ 13 ร่างรัฐธรรมนูญในวาระแรก ที่จะผ่านและรับหลักการแน่นอน คือการแก้ไขระบบเลือกตั้ง และ มาตรา 65 ของพรรคภูมิใจไทย

       ส่วนที่ไม่ผ่านแน่นอน คือการแก้ไขประเด็นที่กระทบต่อยุทธศาสตร์ชาติ และที่เกี่ยวกับ คสช. รวมถึงการปิดสวิตซ์ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกลไกของ คสช.ที่ถูกขนานนามว่าสืบทอดอำนาจ

       ขณะที่ประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิ และเสรีภาพอื่นของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ส.ว.ยังมีท่าทีไม่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนฉบับใดหรือไม่ แต่ที่แน่ชัดเกี่ยวกับสิทธิ และเสรีภาพคือ ไม่เอาญัตติที่ให้สิทธิประชาชนต่อต้านรัฐประหารโดยสันติวิธี

       ดังนั้นจึงต้องลุ้นกันว่า ด่านแรกของการแก้กติกาประชาธิปไตยจะฝ่าเกมการเมืองไปได้กี่ร่าง.