ผ่าอำนาจ ‘กมธ.กฎหมายฯ’ ‘คดีลุงพล’ ที่พึ่งหรือก้าวล่วง ?

ผ่าอำนาจ ‘กมธ.กฎหมายฯ’  ‘คดีลุงพล’ ที่พึ่งหรือก้าวล่วง ?

กรณี"ลุงพล" ไปร้องขอความเป็นธรรมกับกมธ.กฎหมาย สภาฯ นำมาซึ่งคำถามจากสังคมถึงอำนาจหน้าที่ของกมธ. โดยเฉพาะการ "นำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าว" ว่านี่คือมาตฐานเดียวกันทุกคดีหรือไม่?

“ไม่รู้ว่าทำอะไรได้บ้างที่รัฐสภาตอนนี้ เมื่อกี๊ก็ไปแถลงข่าวกันข้างล่าง เอาผู้ต้องหามาแถลงสู้คดีกันอยู่ข้างล่างจนถึงสภา มันเกิดขึ้นในประเทศไทย” 

สุ้มเสียงจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ระหว่างประชุมสภาผู้เแทนราษฎรเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.

แม้จะไม่ได้เอ่ยชื่อตัวบุคคล หรือกลุ่มคณะ แต่หากไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ดูแล้ว ตีความเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากกรณีที่นายษิทรา เบี้ยบังเกิด ทนายความ พร้อมด้วยนายไชย์พล วิภา หรือ "ลุงพล" ผู้ต้องหาในคดีการเสียชีวิตน้องชมพู่ ยื่นหนังสือร้องเรียนกับนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ในวันเดียวกัน ก่อนการชี้แจงของนายกฯ เพียงไม่กี่ชั่วโมง

จริงอยู่ที่การใช้ช่องทาง “กมธ.สภาฯ” จะเป็นอีกหนึ่งช่องทาง และเป็นที่พึ่งของผู้ที่คิดว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องนั้น แต่กรณีที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งคำถามเกี่ยวกับ "มาตรฐาน" และ "การปฏิบัติ" กับผู้ร้องเรียนหากเทียบกับกรณีอื่น ๆ 

กรณีที่เกิดขึ้นยังนำมาซึ่งข้อสัยเกี่ยวกับอำนาจของ กมธ.โดยเฉพาะการนำตัวต้องบุคคลซึ่งขณะนี้กลายเป็น“ผู้ต้องหา” มาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ว่าสามารถทำได้หรือไม่? หรือเหมาะสมมากน้อยเพียงใด?

- เปิดอำนาจกมธ.สภาฯ

หากไล่ดูอำนาจหน้าที่ของ กมธ.ชุดนี้ เขียนไว้ว่า“มีหน้าที่ และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการกฎหมายและการยุติธรรม”

ขณะที่ มาตรา 129 แห่งรัฐธรรมนูญ ยังระบุถึงอำนาจหน้าที่ของ กมธ.สภาฯ ชุดต่างๆ ไว้ในวรรคสองว่า การกระทำกิจการ การสอบหาข้อเท็จจริง หรือการศึกษาตามวรรคหนึ่งต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของสภา และหน้าที่และอำนาจตามที่ระบุไว้ในการตั้งคณะกรรมาธิการก็ดี ในการดำเนินการของคณะกรรมาธิการก็ดี ต้องไม่เป็นเรื่องซ้ำซ้อนกันในกรณีที่การกระทำกิจการ การสอบหาข้อเท็จจริง หรือการศึกษาในเรื่องใดมีความเกี่ยวข้องกัน ให้เป็นหน้าที่ของประธานสภาฯ ที่จะต้องดำเนินการให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องทุกชุดร่วมกันดำเนินการ”

ขณะที่วรรคสามระบุว่า คณะกรรมาธิการตามวรรคหนึ่งมีอำนาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำ หรือในเรื่องที่พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาอยู่นั้นได้ แต่การเรียกเช่นว่านั้น มิให้ใช้บังคับแก่ผู้พิพากษาหรือตุลาการที่ปฏิบัติตามหน้าที่ หรือใช้อำนาจในกระบวนวิธีพิจารณาพิพากษาอรรถคดี หรือการบริหารงานบุคคลของแต่ละศาล และมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามหน้าที่ และอำนาจโดยตรงในแต่ละองค์กรตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ หรือตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี

คำถามที่เกิดขึ้นคือ กรณีดังกล่าว กมธ.มีการใช้อำนาจดังที่ระบุไว้มากน้อยเพียงใด ?

-ช่องทางกมธ.ที่พึ่ง-ทางเลือกปกป้องสิทธิ?

ความเห็นต่อประเด็นนี้ทั้ง “สิระ เจนจาคะ” ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ  ในฐานะประธาน กมธ.กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ให้เหตุผลไว้ว่า  การรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนของ กมธ.กฎหมายฯ มีการปฎิบัติทุกวัน บางวันรับประชาชนกว่า 10 คน และไม่ได้เลือกปฎิบัติ ใครเป็นผู้เสียหายที่มายื่น ไม่ได้เลือกว่าคดีดังหรือไม่ดัง เพราะถือเป็นเรื่องปกติในการทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน

การทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่สำคัญที่สุดคือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถเข้าถึง รู้ช่องทางที่จะทำให้ประชาชนสามารถเรียกร้องและปกป้องสิทธิของตัวเองได้ เพราะในบางครั้งประชาชนอาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม มีประชาชนจำนวนมากมาร้องเรียนว่าคดีความไม่คืบหน้า หรือถูกตัดสินแบบไม่เป็นธรรม ไม่แตกต่างจากกรณีของลุงพล แต่ประชาชนเหล่านี้ไม่ได้ถูกสังคมจับตามมอง ก็ไม่มีสื่อให้ความสนใจ เพราะฉะนั้นเหตุการณ์เมื่อวาน ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องพิเศษแต่อย่างใด” 

162341234532

- อำนาจกมธ.สภาฯ ที่ต้องไม่ก้าวล่วง

อีกด้านยังมีความเห็นจาก รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล  ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการสถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความเห็นต่อกรณีที่เกิดขึ้นว่า ต้องทำความเข้าใจว่า ขณะนี้ลุงพลคือผู้ต้องหาที่ศาลออกหมายจับ และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ตำรวจก็จะทำสำนวนส่งพนักงานพนักงานอัยการ เพื่อส่งฟ้องต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ศาลจะเป็นผู้ตัดสิน ว่าผิดจริงหรือไม่ ตามระบบกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย

การที่ลุงพลไปพบนายสิระ และมีการนำมาแถลงข่าว เป็นเรื่องของความเหมาะสมการใช้ "ดุลพินิจ"ของแต่ละบุคคล ก็ต้องยอมรับว่าภาพที่ออกมา ดูแตกต่างจากคดีอื่น ต้องไม่ลืมว่าเขาคือผู้ต้องหา ไม่ใช่ผู้เสียหาย เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของการใช้ดุลพินิจที่จะพิจารณาเฉพาะที่มีความเหมาะสม ยอมรับว่าคำว่าดุลพินิจแต่ละบุคคลก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้นเราต้องสร้างมาตรฐานที่ดี

“หมายความว่า คดีนี้ไม่ว่าจะเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศ หรือเป็นคนรากหญ้าที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ตาม ต้องให้ความเท่าเทียมเสมอภาค ยิ่งเป็นกรรมาธิการกฎหมายด้วยแล้วจำเป็นต้องมีการให้ความรู้ ในต่างประเทศจะมีการให้ความรู้บทบาทหน้าที่ของกรรมการมีอะไรบ้าง”

162341249926

( รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล  ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการสถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต)

นักวิชาการอาชญวิทยาผู้นี้ ยังกล่าวด้วยว่า กรณีมีการตั้งข้อสังเกตเรื่อง “นำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าว” นั้น ถ้าสังเกตดูปัจจุบันตำรวจพยายามเลี่ยงที่จะนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าว ตรงนี้เองก็อาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องข้อกฎหมาย เพราะฉะนั้นใครที่เกี่ยวข้องก็ตาม โดยเฉพาะนายสิระซึ่งเป็น ส.ส.ด้วยนั้น ท่านอาจจะต้องพิจารณาในประเด็นนี้เช่นกันว่า ต้องมีความระมัดระวังหรือไม่

ส่วนจะส่งผลกระทบต่อรูปคดีที่ทำอยู่ขณะนี้หรือไม่นั้น รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ มองว่า ประเด็นนี้อาจต้องแยกก่อนว่า ขณะนี้ตำรวจมีพยานหลักฐานอยู่ในสำนวนส่วนหนึ่ง ส่วนจะมีแรงกดดันหรือไม่ เห็นได้จากที่นายสิระระบุว่าเตรียมเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)มาชี้แจงนั้น คิดว่า ผบ.ตร.น่าจะทราบดีถึงเรื่องข้อกฎหมาย เพราะบางทีประเด็นที่เป็นความลับในสำนวนก็อาจจะหลุดออกมาได้ ก็อาจมีผลกระทบต่อการทำคดีในชั้นศาล

ส่วนที่มีการเทียบเคียงกับกรณีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ซึ่งมีการร้องเรียนต่อ กมธ.สภาฯเช่นเดียวกัน จนกระทั่ง กมธ.มีการเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และนำไปสู่การพลิกคดีนั้น รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ระบุว่า “ตรงนี้ต้องแยกอำนาจให้ชัดเจน มิเช่นนั้นจะมีศาลไว้ทำไม ในระบอบประชาธิปไตยแยกไว้อย่างชัดเจนว่า มีฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ 3 อำนาจนี้จะคานกันอยู่ และจะไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน”

ดังนั้นหากกรรมาธิการนำเรื่องเข้ามา แล้วเรียกคนนั้นคนนี้เพื่อถามถึงพยานหลักฐาน ตรงนี้อาจจะไปกระทบกับกระบวนการยุติธรรม และอำนาจตุลาการ เพราะอย่าลืมว่าการเรียกผู้ที่เกี่ยวข้อง เรียกพนักงานสอบสวน หรือเรียกสำนวนมาดู ก็จะมีผลต่อรูปคดี จะมีข้อเท็จจริงอะไรที่อยู่ในสำนวน หรือเป็นความลับในสำนวนหลุดรอดออกไปได้ 

"ยกตัวอย่างที่บอกว่า พบเส้นผม 3 เส้น เหตุใดจึงไปขอศาลออกหมายจับ เกิด กมธ.ไปซักถามว่า คุณพบที่ไหน พบอย่างไร ประเด็นนี้ก็อาจจะกระทบต่อการต่อสู้ในชั้นศาลเช่นกัน" 

ดังนั้นข้อกังวลเหมือนกรณีของนายวรยุทธ ที่มีการเรียกพนักงานสอบสวน หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจนนำไปสู่การพลิกคดีนั้น

ต้องยอมรับว่า กระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ยังถูกแทรกแซงได้ เพราะการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ส่วนจะปฏิรูปไปแล้วหรือไม่ คิดว่าประชาชนจะเป็นคนตอบคำถามนี้ 

ดังนั้นหากเป็นไปตามวิธีการตามที่กล่าวมา ก็จะนำไปสู่การแทรกแซงในกระบวนการยุติธรรมได้ วันนี้เราลืมในเรื่องความรู้สึกของญาติของเหยื่อที่ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ คุณพ่อคุณแม่ที่สูญเสียลูกไปเราต้องคำนึงถึงด้วย ไม่ใช่คำนึงถึงเฉพาะสิทธิของผู้ต้องหาแต่เพียงอย่างเดียว มันจะต้องมีความสมดุลกัน

ความเห็น 2 มุมมองต่อคดีดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลานี้สังคมกำลังตั้งคำถามถึงบทบาทหน้าที่ของ กมธ.กฎหมายฯ ชุดนี้ ว่าที่สุดแล้ว เป็นที่พึ่งของของประชาชนอย่างแท้จริง หรือจะเป็นการเปิดช่องเพื่อนำไปสู่การล้วงลูกในกระบวนการยุติธรรมจากนี้