‘ท้องถิ่น’คึกคัก ประชานิยมวัคซีน

 ‘ท้องถิ่น’คึกคัก ประชานิยมวัคซีน

วัคซีนร้อนๆ “นายก อบจ.” จองซิโนฟาร์ม แต่ “นายกเล็ก” ที่จุดพลุท้องถิ่นทุ่มเงินซื้อวัคซีนกลับเงียบฉี่

กรณีที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงข่าวบูรณาการความร่วมมือนำเข้าวัคซีนโควิดทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” โดยจะนำเข้าล็อตแรกในช่วงเดือน มิ.ย.2564 จำนวน 1 ล้านโดส  เบื้องต้นจะมีการจำหน่ายให้กับภาคเอกชน ซึ่งเมื่อซื้อไปแล้ว จะต้องนำไปฉีดให้แก่ บุคลากร พนักงาน หรือกลุ่มคนขององค์กรนั้นๆ โดยไม่มีการเก็บเงินกับผู้ฉีดแต่อย่างใด ห้ามมีการนำไปจำหน่ายต่อ
+อบจ.นำร่อง
     หลังการแถลงข่าววัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์ม ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข “บิ๊กแจ๊ส” พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี ที่มานั่งฟังการแถลงข่าวด้วยตัวเอง ได้ตัดสินใจจะขอจองวัคซีนซิโนฟาร์ม โดยจะกลับไปขอเปิดประชุมสภา อบจ.เพื่อหารือซึ่งต้องการฉีดให้คนปทุมธานีอย่างน้อย 500,000 คน หรือ 1 ล้านโดส พร้อมตั้งงบประมาณ ก่อนทำการคุยกับสถาบันราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
 “บิ๊กแจ๊ส” กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้ช้าไม่ได้ เพราะแต่ละวันมีการติดเชื้อมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรื่องเงินนั้น ถ้าติดระเบียบมหาดไทยก็จะทำหนังสือเพื่อขออนุมัติ เพราะถือว่าเหมือนเป็นภาวะสงคราม ถ้ามัวเดินตามไวรัสอาจช้าเกินไป จึงต้องหาทางป้องกันให้เร็วไว้ดีที่สุด

ด้าน “นายกต้อย” กนกพร เดชเดโช นายก อบจ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า พื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ที่ส่งผลให้เกิดผู้ติดเชื้อสะสมอย่างต่อเนื่อง ทาง อบจ.นครศรีธรรมราช จึงเตรียมจองวัคซีนซิโนฟาร์ม ล็อตแรก 100,000 โดส มาให้ชาวนครศรีฯ
       วิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงวัคซีนทางเลือก เบื้องต้นได้ปรึกษากับรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่า หากสามารถสั่งซื้อวัคซีนได้ ทางจังหวัดจะขอประสานกับทาง อบจ.นครราชสีมา ขอใช้เงินท้องถิ่นในการจัดซื้อวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่
        ในแฟนเพจของ “แม่หน่อย” ยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา ได้โพสต์ว่า “อบจ. พร้อมใช้เงินท้องถิ่น สนับสนุนผู้ว่า ในการจัดหาวัคซีน เพื่อพี่น้องชาวโคราช”
+คนเคยหาเสียง 
       ย้อนไปเมื่อเดือน ม.ค.2564 ช่วงก่อนการหาเสียงเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และสมาสภาเทศบาล ได้มีบรรดาองค์กรปกครองท้องถิ่น ได้เสนอแนวคิดสนับสนุนรัฐบาลโดยกำหนดนโยบายการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด 19 ด้วยงบของท้องถิ่นเอง
      สมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี เสนอใช้งบประมาณ 260 ล้านบาท เพื่อซื้อวัคซีนให้ประชาชน ซึ่งนายกฯ สมนึก ถือว่าเป็นคนแรกที่จุดพลุเรื่องการใช้งบท้องถิ่นซื้อวัคซีน ตอนนั้นเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วประเทศ

ตามมาด้วย วิชัย บรรดาศักดิ์ นายกเทศบาลนครปากเกร็ด แถลงข่าวใหญ่ว่า เทศบาลนครปากเกร็ด พร้อมทุ่มงบ 240 ล้านบาทซื้อวัคซีนฉีดช่วยเหลือประชาชน
 ฉัฐมงคล อังคสกุลเกียรติ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ได้อนุมัติงบฉุกเฉินไว้ 40 ล้านบาท ในการเตรียมไว้ซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด และธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น พร้อมทุ่มงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เพื่อซื้อวัคซีนโควิด
เวลานั้น ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ท้องถิ่นทำไม่ได้ เพราะติดล็อกมหาดไทย แต่ “นายกเล็ก” หลายคนก็แอบหวังผลด้านเสียงสนับสนุน
ปัจจุบัน นักการเมืองท้องถิ่นเหล่านี้ ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีต่ออีกสมัย 
แต่เมื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ “วัคซีนทางเลือก” บรรดา “นายกเล็ก” เหล่านี้ กลับเงียบ ไม่มีการแถลงข่าวใดๆ เหมือนนายก อบจ.หลายแห่งที่สนใจสั่งจองวัคซีนซิโนฟาร์ม