'บิ๊กช้าง' เจอ งานช้าง ร่วมโต๊ะเจรจา 'ม็อบราษฎร'

 'บิ๊กช้าง' เจอ งานช้าง ร่วมโต๊ะเจรจา 'ม็อบราษฎร'

ข้อเรียกร้องของ 'เยาวชนปลดแอก' หรือ 'แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม' ล้วนแต่เข้าข่ายกระทำผิดการล้มล้างการปกครอง

แม้แนวทางยังไม่ชัดเจน แต่พอจับทิศทางได้ว่า 'ม็อบ' สารพัดกลุ่มที่รวมตัวกันเป็น 'ราษฎร' ต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะออกมาในรูปแบบการ 'แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง' ด้วยการเปิดพื้นที่ และ ประเด็นใหม่ๆหวังยกระดับการชุมนุมในปีนี้

โดย 'จุดร่วม'ที่ว่าคือ ข้อเรียกร้อง 3 ประการ  1. 'พล.อ.ประยุทธ์'ลาออกจากนายกรัฐมนตรี 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3.ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์  ส่วน 'จุดต่าง' คือ แนวทางการเคลื่อนไหว ที่มีการเกริ่นหัวกันมาตั้งแต่ปลายปี 2563

สำหรับ 'กลุ่มเยาวชนปลดแอก' ได้เปิดประเด็นการปกครองแบบ 'สาธารณรัฐ' ใช้ 'ค้อนเคียว'สัญลักษณ์ 'คอมมิวนิสต์' ปลุกชนชั้นแรงงานร่วม 'รีสตาร์ท' ประเทศไทยและสร้างสังคมที่คนเท่ากัน

ขณะที่ แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม  'เพนกวิน' นายพริษฐ์ ชีวารักษ์  ประกาศไม่เอาด้วยกันแนวทางดังกล่าว และย้ำชัดไม่ใช่มติของ 'ราษฎร' ที่ยังยึดการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มีสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียมและรัฐสวัสดิการ

พร้อมยื่นทางออกให้กับ 'ผู้มีอำนาจ'ตัดสินใจเลือกระหว่างปฏิรูปตัวเองตาม 3 ข้อเรียกร้อง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน หรือ ถูก 'ปฏิวัติ' ด้วยประชาชน ก่อนจะรูดม่านปิดการชุมนุมชั่วคราวเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันแม้สถานการณ์การชุมนุมคลี่คลายลงไปมาก แต่รัฐบาลคงวางใจไม่ได้ เพราะการชุมนุม 'ม็อบราษฎร'  แสดงให้เห็นแล้วว่าสามารถกดดันการบริหารงานของ 'พล.อ.ประยุทธ์' จนเป็นที่มาของการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงใน กทม.มาแล้ว

ควบคู่กับคำประกาศ 'รอมชอม' พร้อมให้  'รัฐสภา' ออกแบบโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ หาทางออกลดความขัดแย้งประเทศ จำนวน 21 คน คัดสรรมาจาก 7 กลุ่ม และหนึ่งในจำนวนนั้นมี 'โควต้า' ของ รัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ เคาะชื่อ 'บิ๊กช้าง' พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม 

'พล.อ.ชัยชาญ' มีบทบาทสำคัญดูแลงานความมั่นคง ของรัฐบาลตั้งแต่ยุค คสช. เคยนั่งเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความปรองดอง รวมถึง ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการทุจริต 2 โครงการยักษ์ของกองทัพ ทั้ง 'อุทยานราชภักดิ์ -จีที 200' จนไร้ข้อกังขา



ปัจจุบัน 'พล.อ.ชัยชาญ' ยังเปรียบเสมือน รมว.กลาโหมเงา ของ 'พล.อ.ประยุทธ์' เพราะนอกจากทำหน้าที่ดูแลกองทัพ - สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และงานด้านความมั่นคงแล้ว ยังเป็นผู้รับเหมางานในสภา ไม่ว่าจะตอบกระทู้ถามสด หรือ สู้ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรียกว่า สอบผ่านฉลุย

ไม่ใช่แค่ 'พล.อ.ประยุทธ์' หรือ คนในพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น ที่เชื่อมั่นฝีมือการทำงานของ 'พล.อ.ชัยชาญ' แม้แต่ ส.ส.ฝีปากกล้า นายจิรายุ หวงทรัพย์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ยังเคยเอ่ยปากชมกลางที่ประชุมรัฐสภามาแล้ว ตอบกระทู้ถามสดตรงประเด็น ชัดเจน ครบถ้วน

จากนี้ไป 'พล.อ.ชัยชาญ' อาจต้องรับบทหนักใน 'คณะกรรมการสมานฉันท์'  เพราะเมื่อพิจารณาข้อเรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็น 'เยาวชนปลดแอก' หรือ 'แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม' ล้วนแต่เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายหลายมาตรา ที่เกี่ยวข้องกับการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ในขณะที่ 'พล.อ.ประยุทธ์' ประกาศยยกระดับความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรา กับผู้ชุมนุม ต้องจับตาว่า  'พล.อ.ชัญชาญ' ซึ่งเป็นหนึ่งใน'คณะกรรมการสมานฉันท์' ที่ดูงานความมั่นคง ควบคู่กับสร้างความปรองดอง จะเปิดทางให้นำประเด็นสะท้อนความกังวล 'กลุ่มราษฎร' เกี่ยวข้องกับปฏิรูประบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนขึ้นมาอยู่บนโต๊ะเจรจามากน้อยเพียงใด