ตรวจผลงาน “กมธ.ปราบโกง” "เสรีพิศุทธ์" ปีหน้า ฟาด“ขั้วรัฐบาล”

ตรวจผลงาน “กมธ.ปราบโกง”  "เสรีพิศุทธ์" ปีหน้า ฟาด“ขั้วรัฐบาล”

ปีที่ผ่านมา "กมธ.ปราบโกง" ถูกสังคมจับตา ข่าววิวาทะกันเองภายในกมธ. ไม่เว้นสัปดาห์ มากกว่าผลงานตรวจสอบ แต่ปีหน้านั้น "ประธานกมธ." บอกว่าสิ่งที่สังคมต้องไฮไลต์มากกว่านั้น คือ งานที่จะทยอยสรุป โดยเฉพาะการตรวจสอบคนของรัฐบาล

      การทำงานของ “รัฐสภา” ภายใต้บทบาทของ “กรรมาธิการสามัญ” ปฏิเสธไม่ได้ว่า คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ปราบโกง หรือ กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ถูกจับตามากที่สุด เพราะมี “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย” เป็นประธานกมธ.

      ด้วยบทบาทของพรรคร่วมฝ่ายค้าน จึงเชื่อได้ว่า กมธ.ป.ป.ช. จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายตรวจสอบรัฐบาล ของ​ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ผู้กุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้

      แทนกลไกของหน่วยงานตรวจสอบที่ถูกมองว่า​ “เกียร์ว่าง”

      ตลอดการทำงาน 1 ปี 3 เดือนที่ผ่านมา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ บอกว่า “มีผลงานค่อนข้างมาก หากไม่นับ ประเด็นดราม่า” ภายในกรรมาธิการที่มีวิวาทะกันระหว่าง ประธานกมธ. และ กมธ.ที่มาจากพรรคพลังประชารัฐ โดยมีเรื่องที่ชาวบ้านร้องเรียน และอยู่ระหว่างตรวจสอบกว่า 118 เรื่อง

      ขณะที่เรื่องที่ผ่านพิจารณาแล้ว มี 23 เรื่อง และมีเรื่องที่ยุติการพิจารณา รวมถึงพิจารณาเสร็จแล้วอีกว่า 100 เรื่อง จากการประชุมรวมทั้งสิ้น 77 ครั้งในรอบ 1 ปีเศษ

  พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจ โดยไล่เรียงผลงานไฮไลต์ที่ผ่านมา ตั้งแต่ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่มิชอบของ “พล.อ.ประยุทธ์” กรณีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ผู้นำประเทศไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งคดีนี้ ถือเป็นเรื่องฮอตลำดับแรกๆ ที่กมธ. เดินหน้าตรวจสอบ โดยการตั้งประเด็นโดย “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” ผู้มีชื่อเล่นว่า “ตู่”

     “เรื่องกรณีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบของ พล.อ.ประยุทธ์ กมธ. มีมติให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ หรือ ป.ป.ช. เพราะเรื่องนี้เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่มิชอบอย่างชัดเจน ใครที่ได้ดูเทปวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนรับหน้าที่วันนั้น ที่เขาควักกระดาษจากกระเป๋าเสื้อขึ้นมากล่าว แทนจะใช้เอกสารจากแฟ้มที่เจ้าหน้าที่เตรียมให้ ชัดเจนว่า กล่าวไม่ครบ ซึ่งเรื่องนี้ผมไม่ได้กลั่นแกล้ง ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่ใครฟังก็ชัด” ประธาน กมธ.ปราบโกง กล่าว

     ต่อมา คือการตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีตรวจสอบการครอบครองพื้นที่ป่าสงวนของ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ

     “เรื่องนี้หลายคนเข้าใจไปว่า กมธ.สอบคุณปารีณา แต่เขาไม่รู้ว่า จริงๆ แล้วเราสอบการทำงานของพนักงานที่เกี่ยวข้อง ว่าได้ดำเนินการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา หรือละเลยหรือไม่ เพราะหากเขาไม่ทำอย่างตรงไปตรงมา เท่ากับเบียดเบียนผลประโยชน์ชาติ และทำให้ชาติเสียหาย"

160933228168

     "ที่ผ่านมาจากที่ได้เชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง พบข้อเท็จจริงว่า พนักงานที่ตรวจสอบไม่ได้ทำงานตรงไปตรงมา ส่งฟ้องช้า อย่างล่าสุดที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งฟ้อง ปารีณา เมื่อ 2 พฤศจิกายน เป็นผลจากการตรวจสอบของกมธ. แต่ยังข้อใจว่า ก่อนหน้านั้นทำไมไม่ฟ้อง แต่มาฟ้องวันที่เปิดสมัยประชุมสภาฯ ซึ่งเขามีเอกสิทธิ์คุ้มครอง” ประธาน กมธ.ปราบโกง บอก

     เช่นเดียวกันกับ กรณีของ “วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกอัยการส่งฟ้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีทุจริตงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอล จ.นครราชสีมา เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์” บอกว่า เป็นหนึ่งในผลงานที่ตรวจสอบ การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ประวิงเวลาจนต้องใช้กลไกของกมธ.ตรวจสอบ

     “ผมยืนยันว่า การทำงานของ กมธ.ป.ป.ช.เป็นไปตามที่มีประชาชนร้องเข้ามา และตามสไตล์ของผมที่เคยทำหน้าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต้องรับไว้ทั้งหมด ก่อนจะพิจารณาอีกครั้งว่า เรื่องไหนจะรับไว้พิจารณาต่อหรือไม่ ที่ผ่านมามีหลายเรื่องที่สั่งยุติ เพราะซ้ำซ้อนกับหน่วยราชการที่ดำเนินการอยู่"

160933263637

     "ส่วนที่มีคนตั้งข้อสงสัยว่า ผมตั้งธงเล่นเฉพาะฝ่ายรัฐบาล ทำไมไม่ตรวจสอบฝ่ายค้านบ้าง หรือแม่ของคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ บ้างหรือ น้องชายเขาบ้าง ในประเด็น ส.ส.ฝ่ายค้าน ก็มีตรวจสอบและหากคุณคิดว่าฝ่ายค้านมีเรื่องไม่ดี ขอให้ร้องมา ส่วนครอบครัวคุณธนาธร ผมถามหน่อยว่า เขาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือเปล่า เขาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ก็ไม่ใช่”

     ขณะที่ในปี 2564 นั้น ประธาน กมธ.ปราบโกง ยังตั้งเป้าผลิตผลงานตรวจสอบให้ต่อเนื่อง และหลังจากเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ กมธ.เตรียมสรุปเรื่องและขอมติจากที่ประชุมเพื่อดำเนินการในหลายวาระสำคัญ อาทิ

     1.การตรวจสอบ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กรณีขาดคุณสมบัติ ส.ส. เพราะต้องคดีและถูกพิพากษาให้จำคุกด้วยคดียาเสพติดที่ศาลประเทศออสเตรเลีย รวมถึงวุฒิการศึกษา

160933228076

     2. กรณีนายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะอดีตผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น ที่ถูกร้องกรณีนำเงิน 400 กว่าล้านบาทของสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว

     ซึ่งกรณีของ “เอกราช ช่างเหลา” นั้น ประธาน กมธ.ปราบโกง อ้างผลตรวจสอบว่า นำเงินส่วนนั้นไปใช่เล่นการเมืองในนามพรรคพลังประชารัฐและเอื้อประโยชน์ให้ตนเองได้รับตำแหน่ง ส.ส.หรือไม่

     นอกจากนั้น ยังมีกรณีของ “สหายแสง” - ศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย และรองประธานสภาฯคนที่สอง ว่าด้วยเรื่องการถือครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ จำนวน 700 ไร่ และการยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ

    รวมถึงกรณีการตรวจสอบการเรียกรับเงินของ ส.ส.ในนามของอนุกรรมาธิการพิจารณางบประมาณ ที่โทรศัพท์ถึงอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อเรียกรับเงินแลกกับการผ่านงบประมาณ

     การตรวจสอบทุจริตจัดซื้อหน้ากากอนามัย ช่วงป้องกันโควิด-19 ระบาดในระลอกแรก ที่รอสรุปและขอมติจากที่ประชุมเพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ “ลงดาบ”

     พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ บอกด้วยว่า มี “ไฮไลต์” ที่เร่งตรวจสอบ อาจเป็นปมร้อนที่ทำให้ “ดราม่า” ใน กมธ.ป.ป.ช.ประทุอีกรอบ ได้แก่ การตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ กรณีพักบ้านหลวง โดยงานนี้ต้องตรวจสอบการกระทำของผู้บัญชาการทหารบก ที่อนุมัติงบหลวงเพื่อชำระค่าน้ำค่าไฟ โดยระเบียบที่ออกมารองรับอาจไม่ถูกต้อง

   ต่อมาคือ กรณีของ สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกตรวจสอบพบว่า มีคดีติดตัว และเป็นคดีต้องห้ามเป็น ส.ส.​ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 98(10) กำหนด

160933302231

     กรณี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ละเว้การปฏิบัติหน้าที่ว่าด้วยการจัดสร้างอาคารของหน่วยงาน

     และยังมีคดีของ “วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส" ที่เกี่ยวเนื่องกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเชื่อว่ามีส่วนช่วยเหลือในคดี ซึ่งที่ผ่านมาเคยเชิญ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ส.ว.ในฐานะอดีตประธานกมธ.การกฎหมายกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายธานี อ่อนละเอียด ส.ว. อดีตเลขานุการ กมธ.กฎหมาย สนช. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. เข้าชี้แจง แต่ไม่มา

     ดังนั้น กมธ.ป.ป.ช.จึงมีมติว่า หากเชิญ 3 ครั้งไม่มา กมธ.จะถือว่าไม่ติดใจ ดังนั้นจะเดินหน้าสรุปงานทันที

     อย่างไรก็ดี ในการทำงาน 1 ปีเศษที่ผ่านมาของ กมธ.ปราบโกง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยืนยันว่าไม่เคยใช้อำนาจหน้าที่กลั่นแกล้งใคร และทำหน้าที่ตรงไปตรงมา แม้ก่อนหน้านี้จะเคยมีวิวาทะกับ พล.อ.ประยุทธ์ กลางสภาฯ ก็ตาม หรือมีประเด็นถึงขั้นฟ้องร้องเอาความกับ “ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ” และไม่เคยมีบุคคลใด ร้องขอในทางลับให้ เพลาๆ เรื่องการตรวจสอบ

     “ผมเป็นนักรบ ที่พร้อมยอมเจ็บ และยอมตาย ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครมาขอให้ยุติเรื่องที่สอบ ผมเป็นนักรบ ที่ไม่ใช่จอมทัพที่ยอมเจ็บ แต่ไม่ยอมตาย ส่วนข้อมูลที่ได้นั้น ยอมรับว่าพร้อมมอบให้พรรคฝ่ายค้าน หากเขาสนใจจะเอาไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่ามีประเด็นใดบ้าง” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว

     เมื่อถามถึงการถูกตรวจสอบ ในสถานะประธานกมธ.เอง กรณี “ส.ส.ปารีณา" และพวก ยื่นเรื่องเข้ามายัง กมธ.ป.ป.ช.เอง ให้ดำเนินการ รวมถึงยื่นเรื่องให้ปลดออกจากตำแหน่งประธาน กมธ.ป.ป.ช.ด้วยนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยืนยันว่า "มติกมธ.ไม่รับไว้พิจารณา เพราะคำร้องที่ยื่นมีผลยุติในกระบวนการทางศาลแล้ว".