สัญญา'รอบ 5' จุด(ไม่)สิ้นสุด มหากาพย์'รัฐสภา-ซิโน ไทย'

สัญญา'รอบ 5' จุด(ไม่)สิ้นสุด  มหากาพย์'รัฐสภา-ซิโน ไทย'

ความยืดเยื้อบานปลายที่เกิดขึ้น เวลานี้ยังไร้คำตอบว่า ที่สุดแล้ว “จุดสิ้นสุด” ของโครงการก่อสร้างรัฐสภา ที่มีคู่สัญญากับ ซิโน-ไทย จะจบลงเมื่อใด?

การขยายสัญญาการก่อสร้าง “รัฐสภา” แห่งใหม่ ภายใต้ชื่อ “สัปปายะสภาสถาน” บนพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านเกียกกาย กรุงเทพมหานคร “119.6 ไร่” นำมาซึ่งคำถาม และเสียงครหาในเรื่องการก่อสร้างที่ยืดเยื้อ บานปลาย

โครงการ “สัปปายะสภาสถาน” อันหมายถึงสภาที่มีแต่ความสงบร่มเย็นสบาย เริ่มขึ้นในเดือน ก.ค.2551 สถาปัตยกรรมเป็นผลงานชนะเลิศการประกวดแบบของ “ธีรพล นิยม” ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) จากผู้ส่งประกวดทั้งหมด 5 รายโครงการ ได้เริ่มวางเสาเข็มตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย.2556

ดังนั้น หากนับถึงปัจจุบัน เท่ากับว่าขณะนี้ระยะเวลาการก่อสร้าง ได้ล่วงเลยเวลากว่า 10 ปี มีการขยายสัญญามาแล้ว 4 ครั้ง

ครั้งที่ 1 วันที่ 25 พ.ย.2558 -15 ธ.ค.2559 รวม 387 วัน

ครั้งที่ 2 วันที่ 16 ธ.ค.2559 - 9 ก.พ.2561 รวม 421 วัน

ครั้งที่ 3 วันที่ 10 ก.พ.2561 - 15 ธ.ค.2562 รวม 674 วัน

ครั้งที่ 4 วันที่ 16 ธ.ค.2562 - 31 ธ.ค.2563 รวม 382 วัน

แม้ก่อนหน้านี้ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2563 ขณะตรวจความคืบหน้าห้องประชุมสุริยัน ถึงการต่อสัญญาการก่อสร้างในรอบที่ 5 ว่า “ไม่ควรจะเปลี่ยนแปลงอีก เพราะถ้าต่อสัญญาอีกครั้งจะถูกวิจารณ์อย่างหนัก”

เอาเข้าจริง กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะ “การขยายสัญญาเป็น ครั้งที่ 5”  กำลังจะเกิดขึ้น มีข้อมูลว่า อาจขยายเวลาให้อีกราวๆ 100-300 วัน 

ปัญหาล่าช้าที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้มีคำชี้แจงมาจากฝั่งสำนักเลขาธิการสภาฯ ว่า เกิดจากหลายปัจจัยโดยเฉพาะระบบร้อยสาย มีอุปสรรคในการติดตั้ง เนื่องมาจากแบบในการก่อสร้าง

160916362130

“กรุงเทพธุรกิจ” พยายามสอบถามความชัดเจน ถึงเหตุผล รวมถึงระยะเวลาในการขยายสัญญารอบที่ 5 จาก เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการรัฐสภา “พรพิศ เพชรเจริญ” ได้รับคำตอบว่า

"ขณะนี้มีการเสนอเรื่องมาที่คณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งกรรมการกำลังพิจารณา ตัวเลขที่มีการปรากฎออกมา ไม่ทราบว่ามีการอ้างอิงจากแหล่งใด ขอให้อดใจรออีกสักนิด เรื่องนี้จะมีการแถลงอย่างเป็นทางการ ทุกข้อสงสัย ไม่มีปกปิดแน่นอน”

160916394281

(พรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการรัฐสภา)

ขณะที่อีกด้าน มีความเห็นมาจากอดีตมือปราบประจำรัฐสภา “วิลาศ จันทร์พิทักษ์” ในฐานะอดีตประธานกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ (นายอนันต์ ผลอำนวย เป็นประธาน) ที่ตั้งข้อสังเกตถึงการขยายสัญญาที่เกิดขึ้นทั้งก่อนหน้านี้ ที่มีการขยายสัญญาถึง 4 ครั้ง กระทั่งการขยายสัญญาการก่อสร้างรอบนี้ เป็นรอบที่ 5 ว่า 

"เข้าใจได้ว่า การขยายสัญญารอบที่ 1 มีความจำเป็นในเรื่องการส่งมอบพื้นที่ รวมถึงการขนย้ายดินเพื่อก่อสร้างชั้นใต้ดิน แต่เมื่อมีการขยายสัญญาครั้งที่ 2 ไม่มีปัญหาดังกล่าวเป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง จึงไม่เห็นความจำเป็นในการขยายสัญญา รอบที่ 3 และ 4 กระทั่งปัจจุบัน กำลังมีการขยายสัญญารอบที่ 5 ในเมื่อ ครั้งที่ 3 เป็นการดำเนินการที่มิชอบ การขยายสัญญารอบที่ 4 และ 5 ก็มิชอบ" 

"จึงขอคัดค้านด้วยเหตุผล หนึ่ง เมื่อการขยายสัญญา รอบที่ 3 มิชอบ การขยายสัญญารอบที่ 4 และ 5 จึงเป็นไปโดยมิชอบ ซ้ำยังต้องมีการเรียกร้องค่าเสียหาย ตั้งแต่ครั้งทีี่ 3 เสียด้วยซ้ำ และ สอง ในเมื่อเรามีสัญญาอยู่แล้ว ผู้ที่เป็นฝ่ายกฎหมายน่าจะรู้ดีว่า จาก 2 ข้อที่กล่าวมา การอ้างเหตุผลการขยายสัญญาการก่อสร้างด้วยสัญญาประกอบ จะสามารถทำได้หรือไม่

160916449767

(วิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตประธานกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร)

"เรื่องนี้ทางฝ่ายพัสดุของรัฐสภาเคยทำหนังสือมาถึงคณะกรรมการตรวจการจ้างฯ ในการขยายสัญญาครั้งที่ 4 ว่า เป็นเรื่องที่ผิดเงื่อนไข และให้ฝ่ายกฎหมายเป็นผู้พิจารณา ก่อนที่ฝ่ายกฎหมายจะทำหนังสือชี้แจงในภายหลังว่า สามารถทำได้ แต่เมื่อครั้งมีการประชุมกรรมาธิการกิจการสภาฯ ตัวแทนฝ่ายกฎหมายกลับระบุว่า ไม่เคยตอบข้อหารือดังกล่าว"

"สาม หากจะอ้างเรื่องสัญญาประกอบในการขยาย เห็นว่าทุกสัญญาประกอบย่อมมีการระบุระยะเวลาไว้อย่างชัดเจน หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จตามที่กำหนด ต้องมีการขยายสัญญาประกอบด้วยหรือไม่

จึงตั้งข้อสังเกตว่า การอ้างสัญญาประกอบเพื่อขยายสัญญาหลัก เป็นไปเพื่อที่จะจ่ายค่าปรับที่ถูกกว่าค่าปรับในสัญญาหลักที่สูงถึง 12 ล้านหรือไม่" ที่ปรึกษา กมธ.วิสามัญพิจารณาตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ทิ้งท้ายด้วยคำถาม

160916504530

ทว่า ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ยังเป็นคำถามที่รอการชี้แจงทางฝั่งสภาฯ เพราะเมื่อการก่อสร้างยืดเยื้อ สิ่งที่ตามมาคือ งบประมาณที่บานปลาย หากจะนับตั้งแต่สภาฯ ได้เซ็นสัญญากับ บริษัทซิโน-ไทยเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้เสนอราคาก่อสร้างและอาคารประกอบต่ำสุดที่ 12,280 ล้านบาท (เฉพาะงานอาคาร/สถาปัตยกรรม/งานภายนอก) นำไปสู่การลงนามร่วมกัน ในวันที่ 30 เม.ย.2556 จากนั้นสภาฯ ได้ขอเพิ่มงบประมาณก่อสร้างอีกหลายครั้ง ตัวเลขกลม ณ เวลานี้มีราคาค่างวดกว่า2หมื่นล้านบาท

จากความยืดเยื้อบานปลายที่เกิดขึ้น เวลานี้ยังไร้คำตอบว่า ที่สุดแล้ว “จุดสิ้นสุด” ของโครงการก่อสร้างรัฐสภา ที่มีคู่สัญญากับ ซิโน-ไทย จะจบลงเมื่อใด

หากเทียบกับหลายโครงการ ที่มีการก่อสร้างหน่วยงานราชการในลัษณะเดียวกัน อาทิ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ บนที่ดิน 449 ไร่ ที่ใช้เวลาราว 8 ปี (พ.ศ.2548-2556) ใช้งบประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท ต่างจากรัฐสภา ซึ่งมีพื้นที่เพียง 119.6 ไร่ แต่ขณะนี้งบประมาณบานปลายไปกว่า 2 หมื่นล้านแล้ว

เชื่อได้ว่า จุดสิ้นสุดในการก่อสร้างสถานที่แห่งนี้ จะยิ่งกว่าความเป็น “มหากาพย์” ที่ตามมาด้วยเสียงทวงถามว่า “ความยืดเยื้อที่เกิดขึ้น ใครต้องรับผิดชอบ?”