แก้ 'วิกฤติชาติ' ต้องถอยคนละก้าว

แก้ 'วิกฤติชาติ' ต้องถอยคนละก้าว

การนำปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้งทางความคิดขึ้นสู่โต๊ะเจรจา นับเป็นทางออกที่ดีที่สุดของทั้งสองฝ่ายที่ยอมถอยคนละก้าว ขณะที่พรรคการเมืองร่วมหารือเพื่อเปิดประชุมสภาฯสมัยวิสามัญ สอดรับแถลงการณ์คณะราษฎร 63 สะท้อนถึงการเริ่มต้นแก้ไขวิกฤติชาติอย่างสันติวิธี

การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 63 ต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 นับจากวันที่ 14 ต.ค.2563 การชุมนุมยังเป็นในลักษณะดาวกระจาย ไปในหลายพื้นที่ ภายใต้ 3 ข้อเรียกร้องเดิม คือ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก การเปิดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ผสมโรงกับข้อเรียกร้องจากผู้ชุมนุมให้ปล่อยตัวแกนนำ ที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ โดยการชุมนุมทำท่าจะไม่จบลงโดยง่าย เหล่านี้ล้วนสั่นคลอน ซ้ำเติมความเชื่อมั่นในการ “เปิดประเทศ” พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤติโควิด-19 จนรัฐบาลต้องเชิญทูตประเทศต่างๆ ที่ประจำอยู่ในไทย มาชี้แจงสถานการณ์ในวันนี้ (20 ต.ค.)

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดวานนี้ (19 ต.ค.) นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้หารือร่วมกับตัวแทนพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และตัวแทนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนใหญ่ยืนยันว่า ต้องการให้เปิดการประชุมสภาฯสมัยวิสามัญ เพื่อร่วมกัน “ผ่าทางตัน” ต่อสถานการณ์การชุมนุมดังกล่าว สอดรับกับแถลงการณ์ของกลุ่มคณะราษฎร 63 ที่เห็นด้วยกับการเปิดประชุมสภาฯสมัยวิสามัญ นับเป็น “นิมิตหมาย” ที่ดี สะท้อนถึงการเริ่มต้น แก้ไขวิกฤติชาติบ้านเมืองอย่างสันติวิธี

แตกต่างจากการจะใช้ “ความรุนแรง” ในการสลายการชุมนุม ที่สุดแล้วเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ตราบที่ความขัดแย้งทางความคิดยังคงอยู่ และรอการปะทุ การใช้ความรุนแรงยังอาจสร้างความเสียหายให้กับประเทศ ชนิด“กู่ไม่กลับ” ทั้งๆที่ทิศทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจทำท่าจะตั้งไข่ได้ โดยรัฐได้เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติประเภทพิเศษ หรือ Special Tourist VISA (STV) เดินทางเข้าไทย แบบจำกัดจำนวน โดยกลุ่มแรกเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน บินลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในวันนี้ ขณะที่ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนก.ย. 2563 อยู่ที่ระดับ 85.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 84.0 ในเดือนส.ค. 2563 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จากปัจจัยบวกจากอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า

เราเห็นว่า การนำปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้งทางความคิด “ขึ้นสู่โต๊ะเจรจา” ถือเป็นทางออกของปัญหาที่ดีที่สุดของทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุม และรัฐบาล ถือเป็นการ “ยอมถอยคนละก้าว” เพื่อหาทางออกร่วมกัน ลดดีกรีความขัดแย้งที่ไม่มีใครชนะ ประเทศชาติคือผู้พ่ายแพ้ เศรษฐกิจเสียหาย สังคมเต็มไปด้วยความขัดแย้ง สวนทางกับภาวะที่สังคมไทย ต้องการความสมัครสมานสามัคคี เพื่อต่อกรกับปัญหานานาประการ จากผลกระทบโควิด การร่วมแรงร่วมใจของคนในชาติเพื่อฝ่าวิกฤติจึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง ขณะที่“ความเห็นต่าง”ถือเป็นเรื่องปกติในการปกครองระบบประชาธิปไตย ทว่ากระบวนการที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของไทย มักจะจบไม่สวย วังวนของปัญหาจึงไม่จบสิ้น “บทเรียน”จากการชุมนุมนับครั้งไม่ถ้วนของไทย จึงน่าจะนำไปสู่การ “เรียนรู้” สำหรับการชุมนุมคราวนี้ก็เช่นกัน ต้องไม่จบด้วยความรุนแรง