ผอ.สำนักพุทธฯ ชี้เงินทอนวัดไม่จบ 'เจ้าคุณเอื้อน' ห่มเหลืองไม่ได้

ผอ.สำนักพุทธฯ ชี้เงินทอนวัดไม่จบ 'เจ้าคุณเอื้อน' ห่มเหลืองไม่ได้

คดีเงินทอนวัดยังไม่จบ อดีต ผอ.สำนักพุทธฯ “พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์” เตือนอดีตเจ้าคุณเอื้อน รีบร้อนห่มเหลือง อาจเข้าข่ายแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ เหตุคดีทุจริตเงินวัดยังคา ส่วนที่ศาลยกฟ้องเป็นแค่ข้อหาฟอกเงิน

พร้อมแจงรายละเอียด 3 กลุ่มความผิด ทั้งทุจริต ฟอกเงิน และริบทรัพย์ ยกกฎมหาเถรฯ ประกอบพระธรรมวินัย หากเข้าข่ายปาราชิกแล้วย่อมบวชใหม่ไม่ได้อีก

พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (อดีต ผอ.พศ.) กล่าวถึงกรณีศาลอุทธรณ์ยกฟ้องอดีตพระพรหมดิลก หรือ “เจ้าคุณเอื้อน” อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา ในความผิดฐานฟอกเงิน จนมีข่าวเตรียมกลับมาห่มจีวรอีกรอบ เพราะไม่เคยเปล่งวาจาสึก ว่า คดีเงินทอนวัดที่อดีตพระพรหมดิลกตกเป็นจำเลย เป็นคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องกรณีทุจริตงบอุดหนุนการศึกษาพระปริยุติธรรมแผนกสามัญศึกษา แบ่งออกเป็น 3 คดี คือ

1. คดีความผิดมูลฐาน เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 5 มี.ค.2563 ว่าอดีตพระพรหมดิลกมีความผิดฐานสนับสนุนให้เกิดการทุจริต มีโทษจำคุก 8 เดือน แต่โทษจำให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี ซึ่งขณะนี้ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี และยังไม่ชัดเจนว่ามีการยื่่นอุทธรณ์ด้วยหรือไม่

2. คดีอาญาฐานฟอกเงิน ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 16 พ.ค.2562 ว่าอดีตพระพรหมดิลกมีความผิด ให้จำคุก 6 ปี แต่ล่าสุดศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 23 ก.ย.2563 สรุปว่าจำเลยไม่รู้ว่าเป็นเงินที่ไม่มีสิทธิ์ได้รับ จึงขาดเจตนา ไม่มีความผิดฐานฟอกเงิน ให้ยกฟ้อง

3. คดีแพ่ง ฐานฟอกเงิน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเงินในบัญชีเงินฝากของอดีตพระพรหมดิลกเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จึงให้ตกเป็นของแผ่นดิน 1.7 ล้านบาท

พ.ต.ท.พงศ์พร กล่าวต่อว่า หลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวาน มีประเด็นที่ต้องพิจารณาดังนี้

ประเด็นแรก อดีตพระพรหมดิลกขาดจากความเป็นพระหรือยัง เรื่องนี้เมื่อตรวจสอบย้อนหลังไปในชั้นสอบสวน จำเลยถูกจับกุมและศาลมีคำสั่งให้ขัง ไม่อนุญาตให้ประกันตัว จึงถูกเจ้าพนักงานใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (พ.ร.บ.สงฆ์) มาตรา 30 ให้สละสมณเพศก่อนเข้าเรือนจำ ทำให้ขาดจากความเป็นพระแล้วตามกฎหมาย

การขาดจากความเป็นพระ มี 2 หลัก คือ หลักพระธรรมวินัย สละสมณเพศด้วยการลาสิกขา เปล่งวาจา และถอดจีวรออก เรียกว่า “สึกเอง” กับขาดจากความเป็นพระเพราะอาบัติหนัก รือ “ครุอาบัติ” ได้แก่ ปาราชิก 4 ฆ่าคน, ลักทรัพย์, เสพเมถุน, อวดอุตริมนุสธรรม ถ้ากระทำอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 อย่างนี้ ถือว่าขาดจากความเป็นพระ ณ ขณะที่ทำนั้นเลย (ขาดโดยอัตโนมัติ)

อีกหลักหนึ่ง คือ หลักกฎหมาย (พ.ร.บ.สงฆ์) มี 2 มาตราที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 29 ถูกจับในคดีอาญา แล้วพนักงานสอบสวนไม่อนุญาตให้ประกันตัว ก็ให้สละสมณเพศเสียก่อนที่จะนำตัวเข้าห้องขัง กับมาตรา 30 เมื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลให้จำคุก กักขัง หรือขังพระภิกษุ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศ

กรณีของอดีตพระพรหมดิลก พ.ต.ท.พงศ์พร บอกว่า เคยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ประกันตัว จึงขาดจากความเป็นพระตั้งแต่วันนั้น เพราะถูกดำเนินการตาม พ.ร.บ.สงฆ์ มาตรา 30 จะเห็นได้ว่าตอนไปขึ้นศาล ช่วงที่ไม่ได้รับประกันตัว อดีตเจ้าคุณเอื้อนก็ใส่ชุดนักโทษ เมื่อได้ประกันก็ใส่ชุดขาว แสดงว่าเจ้าตัวรู้ดีว่าขาดจากความเป็นพระแล้ว

ประเด็นที่สอง อดีตพระพรหมดิลกกลับมาห่มจีวรได้ทันทีเลยหรือไม่ ประเด็นนี้อธิบายได้ว่า อดีตเจ้าคุณเอื้อนไม่สามารถกลับมาห่มจีวรได้ เพราะถือว่าขาดจากความเป็นพระไปแล้ว หากจะห่มจีวร ต้องกลับมาบวชใหม่ โดยมีพระอุปัชฌาย์ แต่หากไม่มีการบวชใหม่ แล้วไปห่มจีวร ก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 ว่าด้วยการแต่งกายเลียนแบบสงฆ์

ประเด็นที่ 3 อดีตเจ้าคุณเอื้อนกลับมาบวชใหม่ได้หรือไม่ คำตอบคือ ยังเข้าบรรพชาหรืออุปสมบทไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 ข้อ 14 เนื่องจากอดีตพระพรหมดิลกยังต้องคดีอาญาอยู่ คดียังไม่ถึงที่สุด แม้คดีฟอกเงินในศาลอุทธรณ์ ศาลจะยกฟ้องก็ตาม แต่อัยการยังมีสิทธิ์ฎีกา ขณะที่คดีทุจริตก็ยังไม่พ้นระยะเวลารอลงอาญา

ที่สำคัญ การรอลงอาญาแปลว่ามีความผิด และมีโทษ เพียงแต่โทษยังไม่ต้องรับทันทีเท่านั้น และที่ต้องไม่ลืมก็คือ คดีแพ่งที่ศาลสั่งริบทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด แต่มีข้อพิจารณาว่าการได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมิชอบ เข้าข่ายปาราชิกหรือไม่ หากเข้าข่ายก็ไม่สามารถกับมาบวชได้อีกเลย ซึ่งประเด็นนี้ขึ้นกับการวินิจฉัยของฝ่ายสงฆ์

ส่วนกรณีที่มีการยกเคสของ พระพิมลธรรม (อาจ อาสภเถระ) ถูกจับกุมคุมขังเมื่อปี พ.ศ.2505 เพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ถูกสังฆมนตรี สันติบาล และสารวัตรทหารถอดจีวร แต่ท่านไม่เปล่งวาจา และรักษาพระธรรมวินัยระหว่างถูกควบคุมตัว กระทั่งศาลมีคำพิพากษาว่าพระพิมลธรรมไม่มีความผิด จึงถือว่าไม่ขาดจากความเป็นพระนั้น ประเด็นนี้ พ.ต.ท.พงศ์พร อธิบายว่า ช่วงที่เกิดคดีพระพิมลธรรม ในปี 2505 ตอนที่ถูกจับสึก เป็นเดือน เม.ย. ขณะนั้นยังไม่ได้ใช้บังคับ พ.ร.บ.สงฆ์ โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้ ประกาศเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2505 และมีผลบังคับใช้ในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 1 ม.ค.2506

เหตุนี้จึงไม่สามารถนำกรณีของพระพิมลธรรม มาเทียบกับอดีตพระพรหมดิลกได้ เนื่องจากอดีตเจ้าคุณเอื้อนต้องอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.สงฆ์ ถือว่าขาดจากความเป็นพระ และยังไม่สามารถกลับมาบรรพชาหรืออุปสมบทใหม่ได้ หากมีการสวมจีวรตามที่ปรากฏภาพในสื่อสังคมออนไลน์ ก็ต้องถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 แต่งกายเลียนแบบสงฆ์ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนที่มีบางฝ่ายพยายามโจมตีว่า อดีตพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ไม่มีความผิด แต่ถูกกลั่นแกล้งใส่ร้ายนั้น พ.ต.ท.พงศ์พร บอกว่า รัฐบาลหรือสำนักงาน พศ.มีฐานะเป็นส่วนราชการ ถือว่าเป็นนิติบุคคลผู้จ่ายเงินงบประมาณ ผู้รับงบประมาณต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ คืองบที่กำหนดให้ใช้เพื่อการใด ก็ต้องใช้เพื่อการนั้น ฉะนั้นเมื่อมีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ก็จะผิดตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณด้วย และเมื่อมีการทุจริตก็ต้องไปร้องทุกข์กล่าวโทษ

แต่บทบาทของสำนักพุทธฯ ร้องทุกข์เฉพาะคดีปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเท่านั้น ส่วนคดีฟอกเงิน สำนักพุทธฯไม่ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ หน่วยงานที่ร้องทุกข์คือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. เพราะเป็นคดีสืบเนื่อง แต่สังคมมักเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของสำนักงาน พศ.ทั้งหมด