แก้รธน. 'ปากอย่างใจอย่าง' นักเลือกตั้งหวงอำนาจ-จุดวิกฤติ

 แก้รธน. 'ปากอย่างใจอย่าง' นักเลือกตั้งหวงอำนาจ-จุดวิกฤติ

เริ่มนับหนึ่งอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ภายหลัง ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล 206 คนเข้าชื่อร่วมกันและเสนอให้กับ ‘ชวน หลีกภัย’ ประธานรัฐสภา

พลิกดูตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลมีด้วยกันทั้งสิ้น 5 มาตรา แต่มีเนื้อหาด้วยกันทั้งสิ้น 10 หน้า โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็นสองส่วน

ส่วนแรก เป็นเนื้อหาว่าที่ด้วยการแก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยแก้ไขให้การลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญใช้เสียงข้างมากพิเศษ 3ใน5 จากเดิมที่บัญญัติให้ต้องมีเสียงส.ว.อย่างน้อย1ใน3อยู่ในฝ่ายเสียงข้างมาก

ส่วนที่สอง เป็นเนื้อหาว่าด้วยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หลักใจความไม่ได้มีอะไรมาก กล่าวคือ กำหนดให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 150 คน ส่วนอีก 50 คนมาจากการเลือกของรัฐสภา 20 คน ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัย 20 คน และ กลุ่มนิสิตนักศึกษา 10 คน

วางกรอบเวลาให้ ส.ส.ร.ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จภายใน 240 วัน และส่งให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ หากรัฐสภาไม่เห็นชอบจะส่งร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่กระบวนการการออกเสียงประชามติต่อไป

ทันทีที่ตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงมือประธานรัฐสภาและมีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ ปฏิเสธไม่ได้เริ่มเห็นวิกฤติและความไร้ชอบธรรมมาตั้งแต่ไกล เพราะพรรคร่วมรัฐบาลตั้งส.ส.ร.และวางกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บนตรรกะที่ไม่ถูกที่ถูกทางเท่าใดนัก

ความไม่ถูกที่ถูกทางที่สุด คือ การให้รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบในขั้นตอนสุดท้าย

แกนนำส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล อ้างว่าเป็นการดำเนินรอยตามแนวทางของการจัดทำรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 ที่เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว รัฐสภาก็ให้ความเห็นชอบ ประกอบกับรัฐสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็สมควรให้รัฐสภาลงมติความเห็นชอบ

การอ้างเช่นนั้นไม่ได้ผิดหรือถูกเสียทีเดียว แต่มองย้อนกลับไปเมื่อครั้งการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ปรากฎว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จและส่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติก่อนไปสู่การทำประชามติในขั้นตอนสุดท้าย

ความคิดเช่นนั้นเป็นแนวคิดที่ดีแต่ผลที่ออกมากลับร้ายแรงและส่งผลเสียมากกว่าที่คิด เพราะตามหลักการแล้วเมื่อยึดมั่นในการทำประชามติเพื่อให้ประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ ก็สมควรให้ประชาชนทำประชามติทันทีที่คณะกรรมาธิการฯเขียนรัฐธรรมนูญเสร็จโดยไม่ต้องผ่านเสียงของสภาอีก ซึ่งในกรณีของสปช.ปรากฎว่าเต็มไปด้วยการใช้เล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองกดดันการทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ

โดยอ้างว่าสปช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จสุดท้ายในการให้ความเห็นชอบ สุดท้ายเมื่อความคิดเห็นระหว่างคณะกรรมาธิการยกร่างฯและสปช.ไม่ตรงกัน สุดท้ายรัฐธรรมนูญจึงถูกคว่ำกลางที่ประชุมสปช. การทำงานกว่า 8 เดือน และเม็ดเงินที่ใช้ไปในการทำร่างรัฐธรรมนูญต้องสูญเปล่า เพื่อสนองความอยากทางการเมืองของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่แอบอิงผู้มีอำนาจคสช.ในเวลานั้น

มาถึงตอนนี้ไม่น่าเชื่อว่าบรรดาผู้แทนปวงชนชาวไทยจะเดินตามรอยนั้นอีก ไม่ต่างอะไรกับการเป็นคน ‘ปากอย่างใจอย่าง’

ปากของส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลต่างบอกว่าต้องการให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน จึงต้องการให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่กลับวางกลไกเพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองด้วยการให้รัฐสภามีอำนาจให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ

หากเป็นเช่นนี้สภาพที่เกิดขึ้นในอนาคต คือ รัฐสภาที่ประกอบไปด้วยนักการเมืองและส.ว.ที่ไม่ได้มาจากเลือกของประชาชน จะพยายามแสดงพลังกดดันส.ส.ร.เพื่อให้เขียนรัฐธรรมนูญสอดคล้องกับความต้องการของรัฐสภา ด้วยการอ้างว่ารัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ ซึ่งจะเป็นสถานการณ์ที่ไม่ต่างจากอดีต

อีกไม่นานการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเปิดฉากขึ้น แต่วิกฤติก็เริ่มปรากฎให้เห็นเช่นกัน