ปชป. ประสาน 'ศึกนอก' เปิดแนวรบ 'ศึกใน'

ปชป. ประสาน 'ศึกนอก' เปิดแนวรบ 'ศึกใน'

เวลานี้ “รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา” กำลังรับศึกนอกอันหนักหน่วงจากกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่ออกมากดดันเคลื่อนไหว เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และการ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่แกนนำหลายกลุ่มกำลังซุ่มเตรียมตัวจัดการชุมนุมใหญ่ ในวันที่ 19 ก.ย.นี้

แว่วๆ ว่า ในวันนั้น จะมีอะไรที่ต่างจากเวทีก่อนๆ แน่นอน ระหว่างนี้ จึงต้องเลี้ยงกระแส มีกิจกรรมยิบย่อยต่อเนื่อง

อย่างล่าสุด การเสวนาหัวข้อ “มุมมองที่มีต่อรัฐธรรมนูญ 60” แกนนำคณะประชาชนปลดแอก หรือ “ฟอร์ด” ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ที่โยนข้อเสนอ แก้คุณสมบัติผู้ที่จะลงรับสมัครเลือกตั้งจากเดิมกำหนดไว้ที่ 25 ปี เป็น 18 ปี พร้อมให้เหตุผลว่า ในเมื่อคนอายุ 18 ปีสามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ ถูกดำเนินคดีได้ จึงควรให้มีสิทธิ์ลงสมัครได้

 รวมถึงเรียกร้องให้ยกเลิกระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม มาใช้บัตร 2 ใบแทน และที่สำคัญ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับ “ส.ว.” ต้องโละไปจากรัฐธรรมนูญโดยเร็ว

จุดยืนและข้อเรียกร้องทั้งฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล หรือแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาล อย่าง “ประชาธิปัตย์” ที่ล็อกเป้าหั่นอำนาจที่เกินขอบเขตของ ส.ว เช่นเดียวกัน

ฟังจาก “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” หัวหน้าพรรคสีฟ้า ที่ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า “เราสนับสนุนอำนาจ ส.ว.ในการกลั่นกรองกฎหมาย และควบคุมการบริหาร ส่วนอำนาจอื่นที่เกินความจำเป็น ควรทบทวน” 

เท่ากับว่า ตอนนี้ “กลุ่มประชาชนปลดแอก” และ “ประชาธิปัตย์” มีข้อเสนอที่สอดรับกัน ทั้งเรื่องตัดอำนาจส.ว.และระบบเลือกตั้ง

สวนทางกับท่าทีของ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่ยังมีเยื่อใยกับ ส.ว.ที่ระบุชัดเจนว่า “จะไปลบทั้งหมดมันไม่ได้ เพราะเป็นกลไกของรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ แล้วจะไม่มี ส.ว.หรือ ประเทศไทย ในส่วนของอำนาจที่มีการเรียกร้องกันอยู่ ก็ต้องหารือกันจนได้ ไม่มีใครอยากโดนว่าหรือถูกตำหนิ เพราะทุกคนก็ตั้งใจทำงาน แล้วบ้านเมืองมีความสงบสุขหรือไม่ขอให้ไปดูตรงนั้น ที่ผ่านมาเคยมี ส.ว.อีกประเภทหนึ่งแล้วเป็นอย่างไรลองเปรียบเทียบดู อย่ามองประเด็นเดียวว่าเขาสนับสนุนให้ตนเป็นนายกฯ ประเด็นอื่นก็มีอีกเยอะ”

นอกจากศึกนอกที่รัฐบาลกำลังรับมือ ก็ยังมี “ศึกใน” ของพรรคร่วมเข้ามาผสมโรงอีก จากกรณีแบนสารเคมี 2 ตัว ได้แก่ “พาราควอต” และ “คลอร์ไพริฟอส” ที่อยู่ดีๆ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เตรียมจะให้มีการทบทวน ทำเอา “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” รมช.เกษตรฯ จากภูมิใจไทย ที่ผลักดันเรื่องนี้ ควันออกหู ไม่ยอมคนเป็นเจ้ากระทรวง รวมถึงท่าทีของ “ภูมิใจไทย” ที่ตั้งป้อมคัดค้านอย่างหนัก

จะเห็นว่า การเดินของ “ประชาธิปัตย์” ดูจะคร่อมจังหวะ โดยเฉพาะกับพรรคร่วมกันเองอยู่บ่อยครั้ง

ไม่ต้องแปลกใจ ต่อข้อสังเกตว่า “ประชาธิปัตย์” ประสานศึกนอก พร้อมๆ กับเปิดแนวรบศึกในกับพรรคร่วม เพราะมองถึง “เกมยาว” ในอนาคตที่ตั้งเป้าจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง เพราะหากยอมเดินตามเกมแกนนำรัฐบาล หรือพรรคร่วมบางพรรค นั่นเท่ากับว่าจุดยืนที่คนจะจดจำ จะถูกกลบไปเสียสิ้น

 ต้องไม่ลืม สถานะหนึ่งของพรรคร่วมจริงๆ ก็คือคู่แข่งทางการเมืองของกันและกันอยู่วันยังค่ำ วันนี้อาจเป็นมิตรต่อกัน แต่วันหน้าเมื่อสิ้นประโยชน์ และขาดเยื่อใยกันแล้ว วันคืนที่เคยหอมหวานอาจกลายเป็นความขมที่ลืมไม่ลงแน่นอน