กมธ. ค้าน 'ร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา' ชี้ก่อปัญหา

กมธ. ค้าน 'ร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา' ชี้ก่อปัญหา

กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและตำรวจ วุฒิฯ ค้าน "ร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา" ชี้ก่อปัญหา "คำนูณ" เซ็งปฏิรูปตำรวจไม่คืบหน้า

เมื่อวันที่ 31 ส.ค.63  พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา กล่าวถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ต้องปฏิรูปทั้งระบบ รวมถึงพนักงานอัยการด้วย ไม่ใช่ปฏิรูปตำรวจเพียงอย่างเดียว จะเอาคดีใดคดีหนึ่ง หรือเรื่องหนึ่งเรื่องใดมาเป็นตัวแทนทุกเรื่องไม่ได้ ในกรณีทำนองอย่างนี้ เคยเกิดคดีสุพรรณบุรี ทำให้ต้องยกระดับเรื่องแพทย์ชันสูตรพลิกศพทั้งหมด ดังนั้นต้องคิดก่อนว่าในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ต้องให้เกิดความชัดเจนก่อนว่าต้องการให้เกิดอะไร 

พล.ต.อ.ชัชวาลย์  กล่าวว่า ที่ผ่านมา การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มักจะมองที่ปลายเหตุ ต้นเหตุคือป้องไม่ให้เกิดอาชญากรรม แต่แน่นอนว่า เราไม่สามารถป้องกันได้ 100% เกิดการกระทำผิดทางอาญาขึ้น จนต้องมีการปราบปรามตามมา ซึ่งการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมักจะพูดในจุดนี้กันมากกว่า ทั้งนี้ในส่วนด้านกฎหมาย คณะกรรมการปฏิรูปฯ เสนอเรื่องการปฏิรูปตำรวจ ว่า ควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ ร่างพ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา ซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯ มีความเห็นว่า ควรปรับปรุงเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และนำมาสู่การพิจารณาของรัฐบาล ในโอกาสต่อไป แต่ในส่วนร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา เห็นควรให้ยกเลิกในการเสนอกฎหมายฉบับนี้

ทั้งนี้ เห็นว่าถ้ามีความสำคัญตรงไหนก็ให้ไปปรับในประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญาแทน เพราะร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา พ.ศ.ทำให้เกิดประเด็นปัญหาการทำงาน ในส่วนของพนักงานสอบสวนในฝ่ายตำรวจ ที่ผ่านมากระบวนการสอบสวนทั้งหมดในประมวลกฎหมายคดีอาญา มีบทบัญญัติชัดเจนอยู่แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทั้งหมดได้ทำงานต่อเนื่อง ถ่วงดุล ชัดเจนอยู่แล้ว

พล.ต.อ.ชัชวาลย์  กล่าวอีกว่า ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ พบว่า ประเด็นที่มีปัญหาและนำไปสู่การตัดสินใจรัฐบาล ในเรื่องของการตัดอำนาจผู้บังคับการ และตัวผู้บัญชาการที่มีอำนาจเกี่ยวกับการสอบสวน ซึ่งจะโยงไปถึงการมีความเห็นในทางคดี ตรงนี้คิดว่า ไม่ควรแบ่งตำรวจออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายปราบปรามกับฝ่ายสอบสวน เพราะทั้ง 2 ฝ่ายทำงานร่วมกัน แต่ความเจริญเติบโต ก้าวหน้าของพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้ขัดข้องเพราะเป็นการทำให้ชัดเจนขึ้น ส่วนเรื่องของการกำหนดให้มี 5 สายงาน และให้การเติบโตเป็นไปตามสายงาน เป็นข้อจำกัดในการบริหารงานบุคคลซึ่ง ได้เคยมีการเสนอให้แบ่งเป็นกลุ่มแทน เพราะอาจจะเกิดปัญหาในการหมุนเวียนสับเปลี่ยนกำลังคน เรื่องดังกล่าวกำลังทบทวนเพื่อหาข้อยุติ

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมระหว่างการประชุมวุฒิสภาว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปตำรวจมากเป็นพิเศษ โดยแยกออกมาเป็นบทบังคับตามรัฐธรรมนูญ กำหนดทั้งเนื้อหาและกระบวนการไว้เป็นการเฉพาะ ชัดเจน ทั้งนี้โดยมี “บทเร่งรัดกึ่งลงโทษ” ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หนึ่งในหัวใจสำคัญของการปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญคือต้องการให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน โดยให้ประสานกันระหว่างอาวุโสกับความสามารถ

นายคำนูณ กล่าวว่า ที่ว่าเป็นบทเร่งรัดกึ่งลงโทษก็หมายความว่าถ้าดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายตำรวจไม่แล้วเสร็จ จะต้องให้การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นไปตามหลักอาวุโสอย่างเดียวเท่านั้น เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายโดยทั่วไปแล้วไม่อาจใช้หลักอาวุโสเพียงหลักเดียวได้ ต้องใช้หลักความรู้ความสามารถหรือหลักอื่น ๆ มาประกอบกันด้วย หากใช้หลักอาวุโสอย่างเดียวอาจเกิดผลเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดินได้ ดังนั้นถ้าไม่ต้องให้การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นไปตามหลักอาวุโสอย่างเดียว ก็ให้เร่งตรากฎหมายตามมาตรา 258 ง. (4) ที่ระบุกฎเกณณฑ์การแต่งตั้งให้แล้วเสร็จตามกำหนด

"ถ้าอ่านและตีความอย่างผม ถึงอย่างไรก็เชื่อว่ารัฐบาลจะต้องดำเนินการให้กฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจนี้เสร็จโดยเร็ววัน หากจะช้ากว่ากำหนด ก็ไม่ควรนานนัก เพราะจะเสียหายแก่การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจอันเนื่องมาจากบทเร่งรัดกึ่งลงโทษที่ว่าได้ ปรากฎว่าผมประเมินผิด หลังจากวันที่ 6 เมษายน 2561 ไม่นาน ในขณะที่รัฐบาลยังดำเนินการยกร่างกฎหมายตำรวจฉบับใหม่อยู่ในคณะกรรมการชุดที่ 2 ไม่แล้วเสร็จตามเงื่อนเวลาบังคับตามรัฐธรรมนูญ จู่ๆ บทเร่งรัดกึ่งลงโทษที่ว่านี้ก็ไร้ผลในทางปฏิบัติ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจไม่ต้องใช้หลักอาวุโสอย่างเดียวตามบทเร่งรัดกึ่งลงโทษตามที่เกรงกัน แต่ใช้ระบบแบ่งกอง เหมือนเดิมที่เคยปฏิบัติมา คือให้ใช้หลักอาวุโสร้อยละ 33 ของตำแหน่งที่ว่าง ส่วนที่เหลือไม่ต้องเสมือนรัฐธรรมนูญมาตรา 260 วรรคสามถูกแก้ไขไปแล้วแบบเงียบ ๆ" นายคำนูณ กล่าว