'2 หมอ' ขยับป้องสถาบัน ตั้งกลุ่มต้าน 'ม็อบปลดแอก'

'2 หมอ' ขยับป้องสถาบัน ตั้งกลุ่มต้าน 'ม็อบปลดแอก'

ปรากฏการณ์การชุมนุมของ “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” ที่ต่อมาปรับขบวนมาเป็น “คณะประชาชนปลดแอก” นับวันยิ่งเติบโต นับวันยิ่งเบ่งบาน จน “ผู้มีอำนาจ” เริ่มหวาดระแวงว่าเก้าอี้แห่งอำนาจกำลังถูกเขย่าขา

 หากปล่อยให้จัดชุมนุมแฟลชม็อบ เช้ามาเย็นกลับ สะสมกำลังพล-เพิ่มแฟนคลับ แนวร่วมได้มากขึ้น เมื่อถึงจุดพีค ม็อบมีจุดร่วมเหมือนกัน ประเด็นชุมนุมจุดติด ก็ยากที่จะควบคุมสถานการณ์ได้

ในขณะที่ม็อบประชาชนปลดแอก มีมวลชนสะสมเพิ่มมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม “กลุ่มสนับสนุน” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กลับลดน้อยถอยลง 

มวลชนที่เคยสนับสนุน “กปปส.” อยู่เคียงข้าง สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) อยู่ในที่ตั้ง มิหนำซ้ำจำนวนไม่น้อยที่กลับลำเข้าร่วมกับขั้วตรงข้าม

เมื่อประเมินแล้ว กระแสของนักศึกษากำลังมาแรง ทางแก้ของ “ฝ่าย เสธ.รัฐบาล-สุเทพ” คือการจัดเตรียมกำลังพลให้พร้อมมากที่สุด แม้รู้ว่ากระแสโชเซียลมีเดียสู้ขั้วตรงข้ามไม่ได้ แต่มั่นใจว่า “ม็อบจัดตั้ง” ที่เคยใช้บริการ พร้อมออกมาขยับได้ทุกเวลา

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเห็น หมอวรงค์นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ออกมาเปิดตัว กลุ่มไทยภักดี พร้อมคณะผู้จัดตั้ง 27 คน อาทิ “อุ๊” หฤทัย ม่วงบุญศรี ดลฤดี จูฑะศรี อัครกฤษ นุ่นจันทร์ ชาณวิทย์ อิสลาม เป็นต้น

หมอวรงค์ถูกมองว่าเป็นร่างทรงของ สุเทพถูกหยิบขึ้นมาเป็นจิ๊กซอว์ตัวใหม่ที่จะมาขับเคลื่อนงานมวลชนแทน “หมอวรงค์” สร้างชื่อสมัยเป็น ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไล่เช็คบิลนักการเมือง-พ่อค้าข้าว จนถูกศาลตัดสินจำคุกล็อตใหญ่

 

อีกทั้งก่อนการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 “หมอวรงค์” ยังถูกชูให้ขึ้นมาท้าชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แข่งกับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยมี “ถาวร เสนเนียม” รมช.คมนาคม มือขวาของ “สุเทพ” ออกแรงสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง แต่สุดท้ายก็พลาดท่า แพ้โหวตให้กับ “อภิสิทธิ์”

หลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 “หมอวรงค์” สอบตก ส.ส.พิษณุโลก พ่ายให้กับอดีตพรรคอนาคตใหม่ ทำให้ต้องเก็บข้าวของออกจากพรรคประชาธิปัตย์ มาเข้าสังกัดพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ “สุเทพ”

ทุกความเคลื่อนไหวของ หมอวรงค์มักเกี่ยวพันกับ สุเทพจึงไม่แปลก หากทุกย่างก้าวของ หมอวรงค์-กลุ่มไทยภักดีจะมี สุเทพ-กปปส.อยู่เบื้องหลัง

แนวร่วมของ “หมอวรงค์-ไทยภักดี” ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มผู้สนับสนุน กปปส. 

ก่อนวันเปิดตัวกลุ่มไทยภักดี “หมอเหรียญทองพล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ส่งสัญญาณว่า อาจจะเปิดตัวร่วมกลุ่มด้วย ทว่ามี “บิ๊กเนม” มาเบรกเอาไว้ ให้รอเช็คกระแส “หมอวรงค์-ไทยภักดี” ก่อน หากกระแสดี ก็รอวันเปิดตัวผนึกกำลังร่วมกัน แต่หากกระแสไม่ดี “หมอเหรียญทอง” อาจจะแยกไปรวบรวมมวลชน-แฟนคลับ ใช้ยุทธศาสตร์แยกกันเดิน แต่จุดมุ่งหมายเดียวกัน

ต้องไม่ลืมว่า เครือข่ายของ “หมอเหรียญทอง” มีอยู่จำนวนมากเช่นกัน หากจะเคลื่อนไหวย่อมมีพลัง แต่การเคลื่อนพล-กำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้ ก็ต้องวางให้เป็นระบบ มีแผนหนึ่ง-แผนสอง สำรองไว้ไม่ให้เสียขบวน

ทั้ง หมอวรงค์-หมอเหรียญทองชูนโยบายชัดเจนเรื่องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยทั้ง 2 หมอ ประกาศตัวขอยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับ นักศึกษาโดยเฉพาะกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งประกาศข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ว่าด้วยการแก้ปัญหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ที่ผ่านมา

“หมอวรงค์” กล่าวบนเวทีเปิดตัวกลุ่มไทยภักดีว่า “วันนี้พ่อหลวงของแผ่นดินถูกรังแก ถูกให้ร้าย ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน ท่านเหมือนถูกมัดมือ และให้อีกฝ่ายชกอยู่คนเดียว พี่น้องทั้งประเทศจะยอมรับได้หรือ”

ขณะที่ “หมอเหรียญทอง” วิเคราะห์ทิศทางการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาว่า “นับแต่วันแรกที่เริ่มชุมนุมครั้งแรกแล้ว ที่มีผู้ชุมนุมถือป้ายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างโจ่งแจ้ง ชัดเจน ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า นี่คือยุทธศาสตร์แห่งความล้มเหลวของคนอวดฉลาด”

ท่าทีของ “หมอวรงค์-หมอเหรียญทอง” ยืนอยู่คนละข้าง กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่มี พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง เป็นตัวชูโรงอย่างชัดเจน 

และระยะ หลัง “เพนกริน-รุ้ง” ที่ชู 10 ข้อเสนอทะลุเพดาน ถูกจับแยกให้เดินคนละทางกับกลุ่มประชาชนปลดแอก เนื่องจาก 10 ข้อเสนอถูกกระแสโต้กลับ มีแนวร่วมไม่เห็นด้วยจำนวนมากกับยุทธวิธี หากขับเคลื่อนตาม 10 ข้อเสนอ เพราะอาจเพลี่ยงพล้ำให้ รัฐบาล-ทหารที่สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการบังคับใช้กฎหมายอย่างชอบธรรมได้ง่ายมากยิ่งขึ้น 

ฉะนั้นทางอยู่-ทางรอด-ทางเดิน ของกลุ่มประชาชนปลกแอก คือการยึด “3 ข้อเรียกร้อง” หลัก ประกอบด้วย 1.รัฐบาลต้อง “หยุดคุกคามประชาชน” ที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย

2.รัฐบาลต้อง “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” ที่มาจากเจตจำนงของประชาชน เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนอย่างแท้จริง 3.รัฐบาลต้อง “ยุบสภา” เพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงในการเลือกผู้แทนของตนได้อีกครั้ง และเงื่อนไขระหว่างการดำเนินการทั้ง 3 ข้อเรียกร้อง จะต้องไม่มีการรัฐประหารและการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

ส่วนการมี “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ” อย่างแท้จริง ถูกประกาศเอาไว้ให้เป็น “ความฝัน” เพราะ “แกนนำกลุ่มประชาชนปลดแอก” รู้ดีว่า นักศึกษา-ประชาชน ที่มาร่วมชุมนุม ออกมาเพราะมีเงื่อนไขดังกล่าว จึงต้องรักษาฐานมวลชนเอาไว้

เมื่อ ม็อบนักศึกษาแยกกันเดิน หมอวรงค์-หมอเหรียญทองก็ต้องแบ่งบทกันเล่นเช่นกัน เพื่อเตรียมกำลังมวลชนให้อยู่ในความพร้อม แม้จะต้องอยู่ในที่ตั้ง แต่สภาพร่างกาย สภาพจิตใจต้องพร้อม ไม่เช่นนั้นก็ยากที่จะขับเคลื่อนได้

การจัดสะสมกำลังมวลชนของทั้งสองขั้ว ต่างฝ่ายต่างมั่นใจว่า “พร้อมท้าชน” เวลานี้ จึงรอแค่ให้เงื่อนไข ข้อเรียกร้อง สุกงอมเท่านั้น