ส.ว.พร้อมสละอำนาจ 'โหวตนายกฯ' - 'เยาวชนปลดแอก' ทวงคำตอบ 1 ส.ค.

ส.ว.พร้อมสละอำนาจ 'โหวตนายกฯ' - 'เยาวชนปลดแอก' ทวงคำตอบ 1 ส.ค.

ส.ว.ประสานเสียงจริงใจ เปิดทางแก้รัฐธรรมนูญ “กิตติศักดิ์” พร้อมสละอำนาจโหวตนายกฯ “เยาวชนปลดแอก" นัด ชุมนุม 1 ส.ค. ระบุยังไม่ใช่การชุมนุมใหญ่ “กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ” นัดชุมนุมต้าน 30 ก.ค. พบเบอร์โทรอดีตผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส.คอยประสาน

ภายหลังการชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 18 ก.ค.2563 ที่ผ่านมา โดยมี 3 ข้อเรียกร้องถึงรัฐบาล คือ ยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และหยุดคุกคามประชาชน พร้อมกับเงื่อนเวลา 2 สัปดาห์ หากรัฐบาลไม่มีการตอบรับใดๆ เกี่ยวกับข้อเรียกร้อง จะยกระดับการชุมนุมต่อไป โดยในวันที่ 1 ส.ค.นี้ จะครบกำหนด

วานนี้ (28 ก.ค.) มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนปลดแอกอีกครั้ง โดยเพจเฟซบุ๊คเยาวชนปลดแอก-Free YOUTH ระบุว่า “1 สิงหา ยัง ไม่ใช่ชุมนุมใหญ่ แต่จะมีอะไร โปรดติดตาม... มันจะไม่ใช่แค่เท่าเดิม เพิ่มเติมคือ สุดปัง” พร้อมกันนี้ กลุ่มเยาวชนปลดแอกยังระดมทุน ด้วยการโพสต์ในเพจ เชิญชวนซื้อสติ๊กเกอร์กันน้ำ COLLECTION “ _อำนาจมืด ” ราคา 112 บาท โดยระบุว่า "จะติดกระเป๋า ติด Notebook ติดตู้ ติดเตียง ติดจักรยาน ติดเครื่องบิน ติดที่ไหนได้หมด! เพราะทุนของเรามาจากประชาชนคนธรรมดาเท่านั้น! ร่วมเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับเยาวชนปลดแอก เพื่อผลักดันอนาคตที่ดีกว่าของเยาวชนและประชาชนได้เกิดขึ้นจริง! 

ขณะที่แนวร่วมกลุ่มเยาวชนปลดแอก ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยวันที่ 29 ก.ค.มีการนัดชุมนุมที่บริเวณลานกิจกรรมท่าน้ำนนท์ จ.นนทบุรี เวลา 18.30 น.เป็นต้นไป และที่ จ.เลย เวลา 17.00 น.นัดหมายที่ สวนสาธารณะกุดป่อง ติดแฮชแทก เมืองเลยสิบ่ทนก๋อ วันที่ 2 ส.ค. ที่ จ.ระยอง ณ หอนาฬิกาบันเทิง เวลา 17.00 น. 

“อาชีวะช่วยชาติ”นัดต้านเยาวชนฯ

ขณะเดียวกันมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1/2563 เพื่อประชาธิปไตยด้วยใจที่จงรักภักดี โดยมีเนื้อหาระบุว่า จากการที่กลุ่มเยาวชนปลดแอก และสนท. ได้จัดกิจกรรมทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. ขึ้นและต่อมาได้เกิดการจัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน โดยกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และมวลชน ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศนั้น

กิจกรรมดังกล่าวแม้จะยื่นข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ยุบสภา และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แต่ปรากฏหลักฐานและข้อเท็จจริงว่า มีการแสดงออกเพื่อต้องการท้าทาย ต่อต้าน หรือ กระทั่ง ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม และมีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จและ fakenews เพื่อปลุกระดมให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องและจุดประสงค์ของการชุมนุมเพื่อขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล อีกทั้งเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในสังคมไทย แต่กระนั้นทางแกนนำการชุมนุมกลับบ่ายเบี่ยงหรือปฏิเสธ โดยยืนกรานเหมือนไม่รู้ไม่ชี้กับหลักฐานและข้อเท็จจริงดังกล่าวแม้แต่น้อย

ทั้งนี้การกระทำที่ท้าทายและต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ดังกล่าวนี้สร้างความสับสนและความเป็นกังวลให้กับประชาชนทั่วไปในวงกว้างว่าจะส่งผลต่อการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อ โควิด19 ซึ่งรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ได้ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพจนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก รวมถึงการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่จะตามมาซึ่งเป็นปัญหาที่แท้จริงที่กระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชนในวงกว้าง

นอกจากนี้ กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ ยังประกาศนัดชุมนุมวันที่ 30 ก.ค. เวลา 14.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ที่ระบุให้ติดต่อเอาไว้ กลับเป็นเบอร์โทรศัพท์ของอดีตผู้สมัครรับการเลือกตั้งของพรรคการเมืองหนึ่ง คอยประสานงาน

“เสรี”แจงส.ว.พร้อมร่วมแก้รธน.

ขณะเดียวกัน นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวถึงการออกมาชุมนุมของนักศึกษา โดยเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญว่า ข้อเสนอ ส.ว. ที่พร้อมแก้รัฐธรรมนูญมาจากความจริงใจ ไม่ใช่ทำเพื่อลดแรงกดดันทางการเมือง แต่การแก้รัฐธรรมนูญทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกัน มาคุยกันด้วยเหตุผล ที่สำคัญต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย

“ถ้าผู้ชุมนุมยังตั้งแง่กล่าวหา ส.ว. ในทางไม่ดี จะทำให้ขาดความร่วมมือ ขอให้มาคุยกันด้วยเหตุผล การบีบให้ ส.ว. ต้องลาออก จะไปได้ความร่วมมือได้อย่างไร ยิ่งไล่ก็ยิ่งไม่ออก ไม่มีใครยอมรับการกล่าวหา ส.ว. ไม่ห่วงเรื่องการขับไล่ ไม่ต้องเรียกร้องให้ ส.ว. ลาออก เพราะ ส.ว. มีเสถียรภาพรับรองในรัฐธรรมนูญให้อยู่ตามกฎหมาย”

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าวว่า เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมีการนำมาพูดกันในการประชุม กมธ.พัฒนาการเมือง วุฒิสภา บ่อยครั้ง ยืนยัน ส.ว.ไม่ขัดข้องให้แก้รัฐธรรมนูญเรามีความจริงใจให้แก้ แต่ต้องแก้เฉพาะประเด็นการเมืองที่จำเป็น ไม่ใช่แก้กันทุกมาตราจนเลยเถิด ขณะนี้รัฐธรรมนูญเพิ่งใช้มา 2-3 ปี ยังไม่ถือว่าผิดพลาดอะไรมากมาย อย่างที่มีปัญหาเรื่องระบบการเลือกตั้งต่างๆนั้น

พร้อมให้แก้“อำนาจ ส.ว.”

“เรายอมรับเสียงวิจารณ์ยินดีให้แก้ ขณะที่มาตราเรื่อง ส.ว. ถ้าจะให้แก้ถึงขั้นยกเลิก ส.ว. ชุดนี้ไปเลยคงไม่ได้ ส.ว. เพิ่งทำงานมาปีกว่าๆ เหลืออีก3 ปีกว่าก็ไปแล้ว ส.ว. มาตามรัฐธรรมนูญ มีเสียงประชามติ 13 ล้านเสียงรับรองมา ดังนั้นถ้าจะแก้ไขถึงขั้นให้ยกเลิก ส.ว. เลยคงไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญที่ให้มีทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ไม่ใช่การหวงอำนาจ แต่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ให้ช่วยตั้งสติกันหน่อย อย่าจงเกลียดจงชัง ส.ว.”

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากจะมีการแก้อำนาจ ส.ว. ไม่ให้โหวตเลือกนายกฯยอมรับได้หรือไม่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า “ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยเราก็ยอมรับ ไม่มีปัญหา จะแก้ประเด็นใดให้มาคุยกัน แต่ต้องเป็นเรื่องจำเป็นจริงๆ ไม่ใช่แก้กันทุกมาตรา การแก้รัฐธรรมนูญของ ส.ว. ยึดหลักทำเพื่อบ้านเมือง ไม่ได้สนกระแสกดดันจากผู้ชุมนุม”

ขณะที่ นายปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคง กล่าวว่า การชุมนุมจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งถือเป็นหลักขั้นพื้นฐานที่สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายและกติกา ซึ่งรัฐบาลไม่ได้มีปัญหาอะไร แม้ช่วงนี้จะมีการใช้พื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น แต่เราก็มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งคนที่จะจัดกิจกรรมก็จะต้องทำข้อตกลงกับเจ้าหน้าที่ ไม่ทำผิดกฎหมาย

“หากไม่มีอะไรผิดกฎหมาย ก็สามารถใช้สิทธิได้ รัฐบาลไม่ได้ห้ามปรามอะไร ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายอยู่แล้ว ฝ่ายความมั่นคงก็จะดูในภาพรวมสถานการณ์กว้างๆทั่วไป แต่อาจจะต้องมีกรณีการชุมนุมที่กังวล เช่น กรณีการชุมนุมที่กระทบกับสถาบัน”