'นิรโทษกรรม' คำตอบ...ปรองดอง ?

'นิรโทษกรรม' คำตอบ...ปรองดอง ?

“นิรโทษกรรม” จะเป็น “เงื่อนไข” ผูกปมความขัดแย้งในรอบใหม่ และอาจซับซ้อนมากกว่าเดิม

เหตุผลแรกที่ “นิรโทษกรรม” ยังไม่เกิดในยุค รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพราะตลอด 5 ปี ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.จนเข้าสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างในสังคมไทย ยังไม่ได้รับการแก้ไข แม้จะมีความพยายามตั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ขึ้นมา พร้อมเปิดเวทีเป็นตัวกลางขับเคลื่อนกลไกเหล่านั้น แต่ปัญหาความขัดแย้ง กลับไม่ได้ลดน้อยลงไป

ความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง คืออะไร... “ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” อดีตประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ และอดีตรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ยุค คสช. เคยอธิบายไว้ว่า 

“เป็นความขัดแย้งระหว่างคนรวย และคนจน ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบกึ่งปิดกึ่งเปิด และการเมืองแบบกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย ที่ฝังลึกในโครงสร้างสังคมไทยตั้งแต่หลัง พ.ศ.2475 และพร้อมที่จะ‘ปะทุ’ได้ทุกเมื่อ หากมีเงื่อนไข หรือปัจจัยมาเร่งเร้า”

เหตุผลที่สอง พล.อ.ประยุทธ์ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพราะนอกจากต้องคำนึงความรู้สึกของประชาชนที่สูญเสีย ในส่วนของกองทัพ ที่มีทหารบาดเจ็บกว่า 200 นาย สาหัส 90 นาย และเสียชีวิตอีก 6 นาย ที่สำคัญส่วนหนึ่งเป็น “ทหารเสือราชินี”

ตั้งแต่ศพแรก พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม อดีตรอง เสธ.พล.ร.2 รอ. น้องรักพล.อ.ประยุทธ์ ส่วน พล.อ.วลิต โรจนภักดี อดีต ผบ.พล.ร.2 รอ. ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขาซ้ายแตก 3 ท่อน ต้องดามเหล็ก และมีแผลทั่วร่างกาย หรือ พล.อ.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก อดีต ผบ.ร.21 รอ. ถูกสะเก็ดระเบิดฝังที่ต้นขา

"ผมไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย ไม่ต้องมานิรโทษกรรมให้ ผมจะสู้คดี ส่วนกำลังพลเท่าที่เรียกมาคุย ก็ไม่เห็นว่าอยากจะให้นิรโทษ” คำพูด พล.อ.ประยุทธ์ สมัยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ต่อกรณี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยุคของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เหตุผลที่สาม การผลักดันนิรโทษกรรมจะเป็น “เงื่อนไข” ผูกปมความขัดแย้งในรอบใหม่ และจะมีความซับซ้อนมากกว่าเดิม แม้จะไม่ใช่ฉบับ“สุดซอย” หรือ “เหมาเข่ง” แบบสมัยยิ่งลักษณ์ แต่ต้องยอมรับว่า ประชาชนยังถูกแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย แม้จะไม่มีสีเสื้อก็ตาม

ประกอบกับผู้ผลักดัน เคยมีสถานะเป็นทั้งอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร อดีต ผบ.ทบ. ซึ่งล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤติการเมืองตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันด้วยแล้ว จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่นิรโทษกรรม จะเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเห็นต่าง และรังแต่จะสร้างปัญหาให้ลุกลามบานปลาย

 “นิรโทษกรรม” เป็นแค่เพียงผลผลิตปลายทาง แต่กระบวนการต้นทาง-ระหว่างทาง คือ การพูดคุยลดความขัดแย้ง จนสังคมได้ข้อยุติและตกผลึกร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ และปรองดองสมานฉันท์ ล้วนแต่ยังไม่เกิด แล้ว “นิรโทษกรรม” จะมีได้อย่างไร