ปิดจ๊อบ 'แพ็คเกจ ก.ม.โควิด' ฝ่ายค้านดึงนายกฯ ร่วมแบกหนี้

ปิดจ๊อบ 'แพ็คเกจ ก.ม.โควิด' ฝ่ายค้านดึงนายกฯ ร่วมแบกหนี้

โดยกฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นกฎหมายการเงินฉบับที่ 4 ที่รัฐบาลเสนอ ขอเงินไปใช้สำหรับแก้ปัญหา เยียวยา สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โรคโควิด-19

หลังจากรัฐสภาเพิ่งให้ความเห็นชอบร่างพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)กู้เงิน ไปก่อนหน้านี้ จำนวน 3 ฉบับ

เส้นทางของพระราชบัญญัติฉบับนี้ แม้ว่าในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ จะใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 2 สัปดาห์เท่านั้น แต่ปรากฏว่ามีการชิงไหวชิงพริบกันระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล

รัฐบาลอยากจบเร็วแต่พลาดท่า

เดิมทีฝ่ายรัฐบาลต้องการให้ร่างพระราชบัญญัติฯ ผ่านสภาฯ ตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย.63 เพื่อส่งให้วุฒิสภาพิจารณาในวันที่ 14-15 มิ.ย. แต่ปรากฏว่า มาเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อผู้แทนจากกระทรวงกลาโหม ที่มาชี้แจงกับคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ดึงเอกสารที่ส่งให้กรรมาธิการวิสามัญฯ ออกหลังจากเสร็จสิ้นการชี้แจง

ทั้งนี้ ตามแนวทางปฏิบัติที่ผ่านมา เอกสารที่ผู้ชี้แจงต้องส่งให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ นั้น จะต้องนำไปใช้สำหรับชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้ฝ่ายค้านแจ้งต่อ ‘วิรัช รัตนเศรษฐ’ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ว่าไม่สามารถพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ ส่งให้สภาฯ ให้ความเห็นชอบระหว่างวันที่ 10-11 มิ.ย.ได้ทัน ทุกอย่างจึงล่าช้าออกไปอีก อย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์

ฝ่ายค้านเสนอ 3 ประเด็นใหญ่รื้องบ

การประชุมสภาฯ ในวันนี้ (17 มิ.ย.63) จะมีเอกสารสำคัญที่ ส.ส.ทุกคนได้อ่าน คือ รายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ โดยในนั้น บรรจุเนื้อหาสาระที่ ส.ส.และกรรมการวิสามัญฯ ได้เสนอให้มีการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ โดยมีกรรมาธิการวิสามัญสงวนความเห็น เพื่อขอแก้ไขกฎหมาย และอภิปรายในสภาฯ จำนวน 19 คน และมี ส.ส.ที่เสนอแก้ไข และขอใช้สิทธิอภิปรายในสภาฯ อีก 30 คน รวมเป็น 49 คน

มองไปยังทิศทางของฝ่ายค้าน ต่อการเสนอให้แก้ไขเนื้อหาร่างพระราชบัญญัตินี้ จะพบว่า มีจุดน่าสนใจด้วยกัน 3 ประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1 การกำหนดสัดส่วนการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้ถูกโอนเข้ามายังงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

เดิมทีร่างพระราชบัญญัติฯ ต้นฉบับ ที่รัฐบาลเสนอเข้ามายังสภาฯ กำหนดแต่เพียงวงเงิน 88,452,597,900 บาทเท่านั้น แต่ ส.ส.และกรรมาธิการวิสามัญฯ จากฝ่ายค้าน ร่วมกันเสนอให้แก้ไข ด้วยการให้ระบุลงไปว่า “การใช้จ่ายงบกลางรายการดังกล่าว ต้องคำนึงถึงการนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในสัดส่วนร้อยละ 90 และกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน หรือจำเป็นอื่น ในสัดส่วนร้อยละ 10”

ประเด็นที่ 2 : การตัดรายการ และคืนงบประมาณให้กับส่วนราชการ

ปรากฏตามรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ โดยฝ่ายค้านได้เสนอให้เปลี่ยนแปลงแก้ไข และให้คืนเงินแก่ส่วนราชการกลับไปตามเดิมจำนวนมาก เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี ในแผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง จำนวน 48,627,000 บาท ค่าใช้จ่ายมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริและสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จำนวน 28,758,500 บาท สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง 146,692,600 บาท

หรือกระทรวงสาธารณสุข ในงบประมาณของกรมควบคุมโรคตามแผนงานพื้นฐานด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อการบริการรักษาและฟื้นฟูสภาพ เฉพาะโรคในกลุ่มโรคติดต่อสำคัญ โรคอุบัติใหม่และภัยสุขภาพ อาคารบ้านพักเจ้าหน้าที่ 7 ชั้น สถาบันบำราศนราดูร จำนวน 3,863,500 บาท และเงินอุดหนุนพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 13,108,600 บาท ฝ่ายค้านเสนอให้คืนกลับไปทั้งหมดไม่ต้องมีการโอนเข้ามาที่งบกลาง

ทั้งสองประเด็นข้างต้น ‘เรืองไกร ลีกิจวัฒนะกรรมาธิการวิสามัญ สัดส่วนพรรคเพื่อไทย อธิบายถึงเหตุผลที่ต้องมีการแก้ไขว่า ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พบว่าบทบัญญัติในข้อกฎหมาย ยังเขียนด้วยถ้อยคำที่คลุมเครือ เพราะสำนักงบประมาณชี้แจงว่า เงินส่วนนี้จะนำไปใช้ เพื่อบรรเทาภัยพิบัติด้วย นอกเหนือไปจากสถานการณ์โควิด-19 จึงเห็นว่า เป็นการเขียนกฎหมายที่ก่อให้เกิดการตีความกว้างเกินไป

ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ยังเป็นปัญหาหลักอยู่ ด้วยเหตุนี้ สมควรต้องกำหนดสัดส่วนของการใช้งบประมาณให้ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาการใช้งบประมาณในอนาคต

ส่วนกรณีการเสนอให้คืนเงินงบประมาณ มีคำอธิบายจากเรืองไกรว่า เป็นเพราะที่ผ่านมา รัฐบาลเน้นการตัดตำราเท่านั้น คือ การให้ทุกหน่วยงานลดงบฯ ไม่น้อยว่า 10% ของวงเงินคงเหลือ ที่ไม่มีข้อผูกพัน เมื่องบประมาณส่วนไหนเข้าหลักเกณฑ์นี้ ก็ให้ดำเนินการโอนงบประมาณทันที โดยไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสมและความจำเป็น

อย่างในกรณีของกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันบำราศนราดูร ยังจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อสู้กับโควิด-19 แต่กลับยังถูกให้โอนงบประมาณ ฝ่ายค้านจึงเสนอให้คืนงบประมาณนั้นกลับไป

ประเด็นที่ 3 : กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเข้ามาร่วมรับผิดชอบต่อการใช้งบประมาณ

ฝ่ายค้านเสนอให้มีคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบกลั่นกรอง ก่อนการใช้งบประมาณของนายกรัฐมนตรี ก่อนการอนุมัติใช้งบกลางทุกครั้ง และการใช้เงินงบประมาณนี้ จะไม่บังคับใช้ในการซื้ออาวุธและการใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย รวมทั้งเงินแผ่นดินตามกฎหมาย ให้ถือว่านายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ ชำระหนี้ หากใช้อย่างไม่คำนึงถึงผลเสีย

เตือนกฎหมายอาจตกม้าตาย

ขณะเดียวกัน ภาพรวมของกระบวนการการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ‘เรืองไกร’ มีมุมมองว่า อาจมีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กระทรวงกลาโหมดึงเอกสารชี้แจงการใช้งบประมาณออกมาจากคณะกรรมาธิการวิสามัญ

เรืองไกร ระบุว่า เนื่องจากโดยปกติแล้ว คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะต้องเก็บเอกสารของหน่วยรับงบประมาณที่ชี้แจงเอาไว้ เพื่อใช้ประกอบการอธิบายของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ต่อที่ประชุมสภาฯ ดังนั้น อาจเป็นเหตุให้กระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นมาแล้ว กับกรณีของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563

อาจเป็นปัญหาที่ทำให้กฎหมายขาดความสมบูรณ์ไป หากเป็นเช่นนั้น สภาฯ ก็ยังมีเวลาแก้ไข เพราะยังอยู่ในกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 105 วัน กรรมาธิการวิสามัญฯ จากพรรคเพื่อไทย ระบุ