แนะ รัฐ ใช้กลไกท้องถิ่นตรวจสอบปชช.ลงทะเบียน 'เราไม่ทิ้งกัน'

แนะ รัฐ ใช้กลไกท้องถิ่นตรวจสอบปชช.ลงทะเบียน 'เราไม่ทิ้งกัน'

"เทพไท" แนะรัฐบาลใช้กลไกท้องถิ่นตรวจสอบปชช.ลงทะเบียน"เราไม่ทิ้งกัน" ชี้ตรงจุดครอบคลุมทั่วถึงเท่าเทียมและไร้ปัญหา ย้ำตัดครอบครัวข้าราชการ-รัฐวิสาหกิจออก งบเหลือช่วยประชาชนเพียงพอแน่นอน

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 63 นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการทบทวนสิทธิ์โครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ของรัฐบาลว่า ในขณะนี้ได้มีเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์สิทธิ์ของรัฐบาล ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อมูลการลงทะเบียนยื่นขอทบทวนสิทธิ์ ของผู้ลงทะเบียนรับการเยียวยาจากรัฐบาล ซึ่งกำลังทำงานกันอย่างขะมักเขม้น เพื่อแข่งกับเวลา แต่ไม่มั่นใจว่าสามารถตรวจสอบได้ครอบคลุม และรวดเร็วทันต่อเวลาหรือไม่

ทั้งนี้ เพราะบุคคลที่กระทรวงการคลังได้มอบหมาย ให้เป็นผู้พิทักษ์สิทธิกว่า 23,000 คน ได้สับเปลี่ยนลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติงานทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. 63 เป็นต้นมา ไม่เว้นวันหยุดราชการ เพื่อยืนยันตัวตนและตรวจสอบการประกอบอาชีพ ตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานสังกัดกระทรวงการคลัง, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่นๆ ด้วย

นายเทพไท กล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลอยู่นอกพื้นที่หรืออยู่ในสังคมเมือง ไม่มีความชำนาญเส้นทาง ไม่รู้จักพื้นที่หรือที่อยู่อาศัยของผู้ขอทบทวนสิทธิ์ดีพอ จึงทำให้การตรวจสอบต้องเสียเวลา มีความล่าช้ากว่าปกติ ต้องเสียเวลาในการค้นหาบ้านของบุคคลเป้าหมายมากพอสมควร ถ้าจะให้การตรวจสอบข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด รัฐบาลควรจะใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยในการตรวจสอบการยืนยันสิทธิ์ในครั้งนี้ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ จะรู้จักตัวตนที่แท้จริงของผู้ลงทะเบียน และสามารถยืนยันข้อมูลความเดือดร้อน และตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องตามที่ได้ลงทะเบียนไว้

ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยเห็นชอบการจ่ายเยียวยาคนละ 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน และขยายยอดผู้ได้รับการเยียวยาเป็นไม่เกิน 16 ล้านคน และอนุมัติให้มีการจ่ายเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกร ไม่เกิน 10 ล้านครัวเรือน รวมวงเงิน 2 โครงการ ไม่เกินวงเงิน 3.2 แสนล้านบาท ซึ่งยอดผู้ได้รับการเยียวยาและวงเงินงบประมาณที่ใช้ในการเยียวยา เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าเป้าหมายที่ประเมินไว้หลายครั้ง จากเริ่มต้นที่ยอด 3 ล้านคน ปรับเป็น 9 ล้านคน และ 14 ล้านคน จนล่าสุดตัวเลขอยู่ที่ 16 ล้านคน ทำให้ยอดผู้ที่ได้รับการเยียวยาทั้ง 2 โครงการ รวมกัน 26 ล้านคน

ทั้งนี้ มากกว่าตัวเลขจำนวน 20 ล้านครัวเรือนของคนไทยทั้งประเทศ ถ้ารัฐบาลเลือกใช้วิธีการเยียวยาเป็นรายครัวเรือนตั้งแต่เริ่มต้น โดยตัดครัวเรือนที่เป็นข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสากิจออกไป และตัดครัวเรือนของผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีออกไป ก็จะเหลือจำนวนครัวเรือนที่จะต้องเยียวยาจริงๆ ประมาณ 10 ล้านครัวเรือน ซึ่งรัฐบาลสามารถเพิ่มยอดเงินเยียวยาได้ครัวเรือนละ 10,000 บาทต่อเดือน โดยใช้วงเงินงบประมาณที่ใกล้เคียงกัน แต่สามารถแก้ปัญหาการเยียวยาได้ทันเวลาไม่เกิน 10 วัน และเป็นการเยียวยาที่ครอบคลุมถึงทุกคน ทุกสาขาอาชีพอย่างเท่าเทียมกัน จะไม่เกิดปัญหาการประท้วง การฆ่าตัวตาย เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในการเยียวยาอย่างแน่นอน