รู้จัก ‘ดร.โกร่ง’ กับวาทะเผ็ด เจ็บทุกรัฐบาล

ส่องวาทะเด็ด "ดร.โกร่ง-วีระพงษ์ รามางกูร" กี่ยุค กี่รัฐบาล ก็แสบถึงทรวง

ในช่วง 1-2 วันนี้ หลายคนคงได้เห็นข่าวของ “ดร.โกร่ง” หรือ ดร.วีระพงษ์ รามางกูร ที่วิเคราะห์เศรษฐกิจไทย ในหัวข้อ “ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ 2020” ในงานสัมมนาเปิดตัวโครงการระดมความคิดเพื่อพัฒนาชุดนโยบายสาธารณะ  ที่จัดขึ้นโดยพรรคเพื่อไทย 

ในงาน ดร.โกร่งได้แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาต โดยมีตอนหนึ่งที่พูดว่า “ความโง่เขลาเบาปัญญาของรัฐบาลทหาร จึงฟัง ธปท.ไม่รู้ว่า เขาไม่รู้ เพราะตัวก็ไม่รู้ เหมือนกับการเอาคนตาบอดมาร่วมงานกันทำ”

ความเผ็ดร้อนจากฝีปากของ ดร.โกร่ง ยังมีอีกมากที่เจ็บจี๊ดแทงใจ ทั้งที่บอกว่า เมื่อได้ยินรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจรัฐบาลนี้พูดว่า “การส่งออกไม่มีความสำคัญ เราสามารถสร้างความต้องการภายในรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ อันนั้น เป็นคำพูดที่โง่เขลา เป็นคำพูดที่ไม่รู้เรื่อง คงจะหลอกทหารไทย แต่หลอกพวกเราที่อยู่ในขบวนการเศรษฐกิจ อยู่ในขบวนการทางด้านการเงินและการผลิตไม่ได้” 

หรือจะเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้เราๆ ต้องฉุกคิด เพราะ ดร.โกร่ง เสนอความเห็นว่า “เศรษฐกิจไทยจะถดถอยอีก 5 ปี เพราะหลากหลายปัจจัยที่เข้ามากระทบ รวมถึงรัฐบาลไม่มีความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจ และยังเป็นรัฐบาลที่มาจากระบบเผด็จการ ทำให้ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือของประชาคมโลก โดยภาพรวมประเทศในขณะนี้ ถือว่าตกอยู่มหาวิกฤติ คือ วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติการเมือง และวิกฤติกฎหมาย”

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ดร.โกร่ง วิพากษ์การทำงานของรัฐบาล เพราะก่อนหน้านี้ ช่วงปี 2558 หรือเพียง 1 ปีหลังจากการเข้ามาของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีการวิเคราะห์และคาดการณ์เศรษฐกิจไทยไว้ว่า “ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลคงทำได้แค่ประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดไปกว่านี้ เพราะข้อเท็จจริงปรากฏอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่อยากให้ตั้งความหวังกับการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจสูงนัก เพราะอาจผิดหวังไว้”

หรือแม้แต่ช่วงปี 2555 ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ดร.โกร่ง ที่ดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจนายกรัฐบาล ก็ออกโรงเตือน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นว่า “ถ้ารัฐบาลจะพังก็พังเพราะเรื่องนี้แหละ เพราะมันเป็นโครงการที่ควบคุมการทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ได้ ต่อให้แน่มาจากไหนก็ควบคุมเรื่องนี้ไม่ได้” 

และอีกตอนหนึ่งที่พูดถึงว่า “นโยบายรับจำนำสินค้าเกษตร เป็นนโยบายที่ล้มเหลวมาโดยตลอด เพราะผลประโยชน์มิได้ตกถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริง โรงสี และผู้ส่งออก รวมทั้งคนของนักการเมืองในพื้นที่ที่หากินในเรื่องข้าวเท่านั้นที่ได้ประโยชน์” เรียกได้ว่าแม้จะเป็นคนกันเอง แต่ก็พูดเจ็บจี๊ดแสบถึงทรวง ไม่แคร์ใครหน้าไหนทั้งนั้น

หากใครจำเหตุการณ์อุทกภัยครั้งสำคัญ ปี 2554 ได้ ต้องบอกว่าเลยว่าผลกระทบกระจายเป็นวงกว้างมาก โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่คาดคิดว่าจะได้รับผลกระทบมาก เช่น กรุงเทพมหานคร และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของไทย ซึ่ง ดร.โกร่ง เจ้าเก่า ก็ออกมาแสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า “นิคมอุตสาหกรรมมีปัญหาหลายเรื่องมาก เพราะบางนิคมฯ อาจจะล้มละลายได้ ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลจะต้องให้ความช่วยเหลือ แต่ก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะเห็นด้วยหรือไม่” 

และกล่าวว่า “นักลงทุนญี่ปุ่นขวัญหนีดีฝ่อหมดเลย เพราะเมื่อต้นปีเค้าก็เจอที่บ้านเค้า แล้วมาเจอสายการผลิตในไทยเป็นอย่างนี้อีก ซึ่งทางญี่ปุ่นได้ขอให้ไทยเร่งเสริมมาตรการกันน้ำท่วมโรงงานและหอพักคนงานภายใน 12 เดือนนับจากนี้ ก่อนที่น้ำจะหลากมาอีกในปีหน้า”

ขณะที่ยุคของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในช่วงราวปี 2553 ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งขณะนั้นค่าเงินบาทประมาณ 29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกัน ดร.โกร่ง ก็ออกโรงฉะมาตรการดูแลค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยว่า “ไม่เอาไหน เป็นนโยบายที่ทำแบบขอไปที และไม่สามารถแก้ปัญหาเงินบทาแข็งค่าได้... ถ้าไม่เปลี่ยนตัวผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็คารจะเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี”

ฝีปากร้าย แสบถึงทรวงอย่างนี้ คงทำให้หลายคนอยากรู้จัก ดร.โกร่ง มากขึ้นว่าเป็นใคร มาจากไหน? “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จึงได้รวบรวมได้ดังนี้

ดร.โกร่ง หรือ ดร.วีระพงษ์ รามางกูร เคยเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งต่างๆ ทางการเมืองนับไม่ถ้วน ได้แก่ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน, รองนายกรัฐมนตรี รัฐบาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ 

รวมถึงยังเคยเป็นที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช นอกจากนี้ยังเคยได้รับตำแหน่งอื่นๆ เช่น ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.)  และที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ในช่วงปี 2554 ที่ไทยประสบอุทกภัยครั้งใหญ่

นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ขณะที่งานทางด้านเอกชนยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ 8 บริษัท และกรรมการหรือที่ปรึกษาอีกกว่า 20 บริษัทอีกด้วย

ที่มา : kaohoontnewsthairathmthai