พณ.เดินหน้าตั้งคณะทำงานศึกษาโครงสร้างต้นทุนค่ารักษาพยาบาล

พณ.เดินหน้าตั้งคณะทำงานศึกษาโครงสร้างต้นทุนค่ารักษาพยาบาล

"พาณิชย์" เดินหน้าตั้งคณะทำงานศึกษาโครงสร้างต้นทุนค่ารักษาพยาบาล ขีดเส้นภายใน 60 วันก่อนชงให้คณะอนุกรรมการฯพิจารณา

เมื่อวันที่ 31 ม.ค.62 นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการยาและเวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ได้มีการรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพปัญหาเพื่อนำมาพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมและให้เกิดความเป็นธรรมที่สุดกับทุกภาคส่วน ซึ่งเบื้องต้นที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานที่มีนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน เพื่อพิจารณาโครงสร้างต้นทุนค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละระดับ เพราะโรงพยาบาลเอกชนมีระดับต่างกัน ตั้งแต่ 5 ดาว 4 ดาว ลงมาจนถึง 2-3 ดาว ต้นทุนการประกอบการก็อาจจะไม่เท่ากัน ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และนำกลับมาเสนอคณะอนุกรรมการฯเพื่อพิจารณาก่อนออกมาตรการกำกับดูแล

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้ผู้ป่วยสามารถซื้อยาจากภายนอกได้โดยมีใบสั่งยาจากแพทย์ โดยสถานพยาบาลทุกแห่งต้องติดประกาศให้เห็นชัดเจนถึงสิทธิของผู้ป่วยที่จะสามารถไปซื้อยาภายนอกได้ ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้รับไปเสนอคณะกรรมการสถานพยาบาล เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมาย และยังขอให้สมาคมโรงพยาบาลเอกชนแจ้งให้สมาชิกเปิดเผยค่ารักษาพยาบาลอย่างละเอียด ทั้งเรื่องค่ารักษาพยาบาลและบริการเพื่อการอำนวยความสะดวก เช่น ค่าห้องพัก ค่าบริการเสริม เป็นต้น

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวว่า ส่วนการเข้ารับบริการในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งมีหลายระดับคือ ฉุกเฉินในระดับสีแดง รองลงมาสีเขียวและสุดท้ายฉุกเฉินระดับสีเขียว ซึ่งในกรณีฉุกเฉินสีแดงกระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการดูแลอยู่แล้ว สามารถเข้ารับการรักษาในทุกโรงพยาบาลใน 72 ชั่วโมงแรก แต่ก็มีการกำหนดเงื่อนไข ต้องเป็นผู้ป่วยในระดับสีแดงเท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยในระดับสีเหลือง หรือสีเขียว ที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ถูกโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งไม่รับรักษา หรือรักษา แต่ยังมีค่าใช้จ่ายสูงมากซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นทางเทคนิค โดยกระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบไปพิจารณา ในส่วนของกรณีไม่ฉุกเฉินคือเป็นผู้ป่วยทั่วไปที่ประชุมพิจารณาในหลักของความเป็นธรรมและผู้ป่วยจะมีสิทธิรับทราบค่ารักษาพยาบาลก่อนการเข้ารับการรักษาพยาบาล รวมทั้งกรณีที่มีการรักษาพยาบาลด้วยโรคใดโรคหนึ่งแต่ตรวจพบโรคเพิ่มเติมจะต้องแจ้งค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยวิธีการรักษาก่อนเพื่อให้ผู้ป่วยเพื่อประเมินการค่าใช้จ่าย และตัดสินใจว่าจะใช้บริการหรือไม่

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เตรียมออกประกาศ ให้ยา เวชภัณฑ์และค่าบริการทางการแพทย์เป็นสินค้าและบริการควบคุม ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. คือติดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน หากพบว่าไม่มีการแสดงราคาก็สามารถแจ้งให้กรมการค้าภายในไปตรวจสอบเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป