'มีชัย' แนะองค์กรสื่อฯ รวมตัวให้ได้ เพื่อตั้งองค์กรกำกับตนเอง

'มีชัย' แนะองค์กรสื่อฯ รวมตัวให้ได้ เพื่อตั้งองค์กรกำกับตนเอง

"มีชัย" แนะองค์กรสื่อฯ รวมตัวให้ได้ เพื่อตั้งองค์กรกำกับตนเอง ไม่บังคับใครเป็นสมาชิก แต่มีหน้าที่สอบจริยธรรมกันเอง ไม่ขีดบทลงโทษ แต่ต้องแถลงข้อเท็จจริงกับสังคม

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง กำกับดูแลสื่ออย่างไรให้เป็นที่พึ่งของสังคม เนื่องในงานครบรอบ 21 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ว่า 

โลกเปลี่ยนไป นักวิชาการสื่อ และหนังสือพิมพ์ กำหนดหน้าที่สื่อมวลชน ไว้4 อย่าง คือ  ให้ข่าวสาร, ให้ความเห็น, ให้การศึกษา และให้ความบันเทิง โดยหน้าที่ที่เป็นปัญหากับสื่อและสังคม คือ การให้ข่าวสาร ปัญหาที่เกิด คือ ข่าวสารถูกบิดเบือน หรือ ใส่ความเห็นของบุคคลที่เขียนข่าวหรือไม่  รวมถึงการให้ความเห็น ที่ต้องการความสุจริตจากสื่อมวลชนในการให้ความเห็นอย่างอิสระ และเสรีภาพ ภายใต้ความจำกัดของสังคมที่อยู่ร่วมกัน ตนเชื่อว่าไม่มีใครที่มีเสรีภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะสื่อมวลชนจะถูกกำกับ โดย เจ้าของสื่อมวลชน, บรรณาธิการ, ผู้สนับสนุน ผู้มีอุปการะคุณ หรือ สปอนเซอร์ และ ประชาชน

"ประชาชนปัจจุบันมีบทบาทและสร้างผลกระทบกับสื่อมวลชน มาก เพราะรู้อะไรมา สามารถเผยแพร่ทันที เพราะมีโซเชียลมีเดีย ทำให้คนที่จับจิตวิทยาฝูงชนได้ สามารถเขียนเนื้อหาลักษณะปลดปล่อยอารมณ์ดิบได้  ด่าคำหยาบ หรือใช้พูด กู มึง ขณะที่สื่อฯ ไม่สามารถทำได้ เพราะถือเป็นความร้ายแรงของคนวิชาชีพสื่อ นอกจากนั้นเหตุผลสำคัญที่ระชาชนมีอิทธิพลกับสื่อฯ เพราะเขาอยู่ในทุกซอกทุกมุม สามารถเผยแพร่เหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ส่วนสื่อฯ หลักที่นำเสนอ จะมีผู้ที่ชี้ว่าข่าวนั้นถูก หรือผิด ใช่หรือไม่ใช่ ทำให้คนทั่วไปเชื่อสื่อโซเชียลมีเดียมากกว่าสื่อฯ" นายมีชัย กล่าว

นายมีชัย กล่าวด้วยว่าจากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นนิมิตรหมายของสังคม ที่ไม่ยอมต่อความไม่จริง​ และจับผิดกับข่าวที่สื่อมวลชนรายงาน อย่างไรก็ตามเป็นสิ่งที่น่าคิดสำหรับการตรวจสอบกันเองของสื่อมวลชน คือ ต้องเร่ิมจากการรวมตัวองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ทุกองค์กรให้ได้ก่อน จากนั้นต้องกำหนดองค์กรเพื่อกำกับกันเอง โดยตนเห็นว่าควรต้องออกกฎหมายเพื่อตั้งองค์กรกำกับกันเอง สร้างอำนาจให้องค์กรแต่ไม่กระทบต่อเสรีภาพของการประกอบวิชาชีพ

"ทำได้ ตั้งกันแล้ว ตั้งกติกาเลือกกันเอง มีคนนอกบ้างเพื่อฟังเสียงคนอื่น สร้างให้เป็นนิติบุคคล สร้างกรอบจริยธรรมวิชาชีพที่เป็นหลักปฏิบัติ ใครอยากเป็นสมาชิกก็มาเป็น พร้อมเก็บค่าสมาชิก หากไม่เป็นก็ไม่เป็นอะไร แต่ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมพิจารณา กฎหมายนั้นต้องสร้างองค์กรที่เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาจริยธรรมของสื่อฯ ทุกแขนง เมื่อพบการกระทำที่ผิด สิ่งเดียวที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ สอบแล้วพบเป็นการกระทำผิดจริยธรรมให้แถลง และเปิดเผยต่อประชาชนทราบ ว่าใครทำอะไร และผิดจริยธรรมอย่างไร พร้อมกับเขียนนิรโทษกรรมให้ว่าหากทำโดยสุจริตใครจะมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายไม่ได้ แทนการเพิกถอนใบอนุญาต หรือลงโทษ ซึ่งผมเชื่อว่าวิธีนี้จะไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพ เหตุผลคือ ป้องกันสังคมโดยรวม รักษาความน่าเชื่อถือของสื่อ โดยไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ หรือทำให้เขาได้รับโทษทั้งทางเพ่งและทางอาญา"  นายมีชัย กล่าว

นายมีชัย กล่าวตอนท้ายด้วยว่า มีหลายฝ่ายมองว่า สื่อสิ่งพิมพ์เป็นเวลาพระอาทิตย์ตก ตนมองว่าอาจเป็นความจริง แต่ตนเชื่อว่า สื่อตามวิชาชีพต้องมีอยู่ต่อไป แต่จะอยู่ในรูปแบบไหนขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี และสื่อฯ​มีความจำเป็นที่ต้องมี เพื่อดูแลไม่ให้เทคโนโลยีสมัยใหม่สร้างผลร้ายต่อสังคม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนที่นายมีชัย จะกล่าวปาฐกถา ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งถึงวันครบรอบ 21 ปีวันก่อตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยมั่นใจว่าหากสภาการหนังสือพิมพ์จะเป็นเสาหลักให้กับสื่อมวลชนได้ ส่วนกรณีที่มีคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในปัจจุบันนั้น ตนมองว่าปัจจุบันสื่อมวลชนยังสามารถเขียนและนำเสนอได้ปกติ แต่กฎหมายที่ระบุไว้เป็นเพียงความกังวลของสื่อมวลชนเท่านั้น