กรมชลฯจัดงานใหญ่ ย้อนรอย 116 ปี สืบสานศาสตร์พระราชา พัฒนานวัตกรรม

กรมชลฯจัดงานใหญ่ ย้อนรอย 116 ปี สืบสานศาสตร์พระราชา พัฒนานวัตกรรม

กรมชลประทานจัดงาน "ย้อนรอย 116 ปี กรมชลประทาน สืบสานศาสตร์พระราชา พัฒนานวัตกรรมชลประทาน" แสดงผลงานและนวัตกรรมครั้งยิ่งใหญ่ พร้อมเผยผลงานความสำเร็จทั้งงานตามศาสตร์พระราชา การบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มพื้นที่ชลประทาน และการพัฒนาองค์กร

วันนี้ (12 มิ.ย.2561) นายมนัส กำเนิดมณี รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายบริหาร เป็นประธานเปิดกิจกรรมการจัดแสดงนิทรรศการ “ย้อนรอย 116 ปี กรมชลประทาน สืบสานศาสตร์พระราชา พัฒนานวัตกรรมชลประทาน" เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมชลประทาน ครบรอบ 116 ปี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 มิถุนายน 2561 ณ กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพฯ

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานจะมีอายุครบ 116 ปี ในวันที่ 13 มิถุนายน 2561 ซึ่งเป็นปีแห่งความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ที่กรมชลประทานได้ดำเนินงานในด้านต่างๆ ได้อย่างสัมฤทธิ์ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการน้อมนำศาสตร์พระราชามาสานต่อในการแก้ปัญหาและพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ รวมทั้งยังประสบผลสำเร็จในการจัดหาแหล่งน้ำ การป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง-น้ำท่วม การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมองค์ความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมทั้งประเทศ

ทั้งนี้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ช่วงปี 2557-2560) กรมชลประทานประสบความสำเร็จในการเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักและพื้นที่ชลประทานได้มากกว่าในอดีตที่ผ่านมาถึง 3 เท่าตัว จากเดิม 30.3 ล้านไร่ เพิ่มอีก 2.4 ล้านไร่ รวมเป็น 32.7 ล้านไร่ และเพิ่มปริมาณการเก็บกับน้ำต้นทุนในระบบชลประทานจาก 79,898 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 81,841 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งยังสามารถจัดรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ได้ถึง 444,800 ไร่ โดยเฉพาะในการดำเนินการก่อสร้างโครงการชลประทานในปี 2560 สามารถดำเนินการได้ถึง 274 โครงการ เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ 437.74 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 434,00 ไร่ ส่วนแผนการดำเนินงานในปี 2561 ตั้งเป้าที่จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 427,224 ไร่ เพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำให้ ได้ 154.8 ล้านลูกบาศก์เมตร และวางแผนปรับปรุงบำรุงรักษา ซ่อมแซมอาคารชลประทานทั่วประเทศอีก 6,960 โครงการ

2_8

นอกจากนี้กรมชลประทานยังประสบผลสำเร็จในการโครงการบางระกำโมเดล 60 เนื่องจากในปี 2560 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากพายุต่างๆ จำนวนหลายสิบลูก กรมชลประทานได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ โดยการปรับเปลี่ยนปฏิทินการปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มเจ้าพระยา ประกอบด้วย พื้นที่ทุ่งบางระกำ และพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแก้มลิงธรรมชาติ สามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากได้มากกว่า 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมทั้งวางแผนบริหารจัดการน้ำในเขื่อนสำคัญให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมและใช้ในการหน่วงน้ำ ตลอดจนการวางแผนจัดจราจรทางน้ำ เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมแผนรับมือในการเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ รวมทั้งการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ ซึ่งในปี 2560 ผลผลิตทางการเกษตรแทบไม่ได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ในปี 2561 กรมชลประทานได้วางแผนต่อยอดผลความสำเร็จดังกล่าว โดยขยายพื้นที่รับน้ำเพิ่มอีก 117,000 ไร่ รวมเป็นพื้นที่ทั้งสิ้น 382,000 ไร่ เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณน้ำได้มากกว่า 550 ล้านลูกบาศก์เมตร และได้เริ่มทำการเพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 31 กรกฎาคม 2561 พร้อมเตรียมขยายผลไปดำเนินการในลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล และพื้นที่อื่นๆที่สามารถดำเนินการได้

“ความสำเร็จในการบริการจัดการน้ำในปี 2560 ส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ หรือ SWOC ซึ่งเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีสารสนเทศ คลังข้อมูลของกรมชลประทาน และเป็นศูนย์กลางติดตามสถานการณ์น้ำแบบเรียลไทม์ รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และคาดการณ์ สามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำในสภาวะวิกฤติได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งกรมชลประทานมีแผนที่จะขยายศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ให้ครอบคลุมครบทั้ง 17 สำนักงานชลประทานในส่วนภูมิภาค” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

สำหรับเป้าหมายในการขับเคลื่อนกรมชลประทานขึ้นสู่ปีที่ 117 คือ จะเร่งรัดการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริที่ยังไม่ได้ดำเนินการ 157 โครงการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 ปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงานและงบประมาณทั้งระบบ เร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน รวมทั้งจัดทำแผนงานรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำด้วยการต่อยอดศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะให้สามารถพยากรณ์และเตือนภัยได้อย่างแม่นยำ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอน นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้พัฒนาองค์กรอย่างเป็นระบบ เร่งรัดการปรับโครงสร้างหน่วยงาน และปรับปรุงระดับตำแหน่งของบุคลากรให้สูงขึ้น เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังผู้ปฏิบัติผ่านกิจกรรม KM และ Unit School น้อมนำศาสตร์พระราชาไปสู่การปฏิบัติผ่านหลักสูตรการอบรม เตรียมการรองรับแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ด้านทรัพยากรน้ำ) ส่งเสริมให้บุคลากรปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร Water for All และส่งเสริมการจัดกิจกรรมสวัสดิการและนันทนาการต่างๆ

รองอธิบดีกรมชลประทานยังได้กล่าวถึงการจัดงานนิทรรศการ “ย้อนรอย 116 ปี กรมชลประทาน สืบสานศาสตร์พระราชา พัฒนานวัตกรรมชลประทาน” ว่า ภายในงานดังกล่าวมีการจัดแสดงผลงานและนวัตกรรมต่างๆ ของกรมชลประทาน อาทิ การจำลองการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) การจัดแสดงบอร์ดนิทรรศการ Big Data ด้านบริหารจัดการน้ำชลประทาน การก่อสร้างประตูระบายน้ำ การพัฒนาเครื่องจักรกลด้านชลประทาน และร่วมตื่นตาตื่นใจกับนวัตกรรมชลประทานที่นำมาจัดแสดงให้ชมกันอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างถนนลูกรังผสมยางพารา นวัตกรรมเครื่องมือสำรวจชลประทาน กังหันน้ำชัยพัฒนา เครื่องตอกทดลองเพื่อหาการรับน้ำหนักของดิน เรือกำจัดวัชพืชขนาดเล็ก พร้อมสัมผัสการสาธิตการใช้โดรนชนิดต่างๆ ที่ใช้ในการสำรวจงานชลประทาน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ให้ร่วมสนุกอีกมากมาย ทั้งคลินิกพัสดุ บูธการออกบัตรราชการแบบรอรับได้ทันที ร่วมสนุกไปกับเกมส์บริหารจัดการน้ำบนจอยักษ์ 50 นิ้ว พร้อมรับของแจกและของรางวัลมากมายภายในงาน หรือจะร่วมสร้างโลกสีเขียวด้วยกล้าไม้ ที่นำมาแจกจ่ายกันถึงที่กว่า 10,000 ต้น พร้อมอุดหนุนสินค้าจากแผนส่งเสริมอาชีพที่มีให้เลือกกันมากมายจากร้านค้าชุมชน ตลอดจนเพลิดเพลินไปกับวงดนตรีชลประทาน Smart Surveryor band และ ICT band อีกด้วย

“สำหรับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปผู้สนใจ สามารถเข้าร่วมชมงานนิทรรศการวันคล้ายวันสถาปนา 116 ปี กรมชลประทานได้ ตั้งแต่วันที่ 12 - 14 มิถุนายน 2561 นี้ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.30 น. ณ สนามหญ้าบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพมหานคร” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวในตอนท้าย