กมธ.เล็งตัดสิทธิ์เพิ่ม สำหรับคนไม่ไปเลือกตั้ง

กมธ.เล็งตัดสิทธิ์เพิ่ม สำหรับคนไม่ไปเลือกตั้ง

โฆษกกมธ.กฏหมายส.ส. เล็งตัดสิทธิ์เพิ่ม สำหรับคนไม่ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ชี้ ข้อเสนอส.ส.ไร้สังกัดนอกกติกา

18ธ.ค.60 - ที่โรงแรมกรีนเลค รีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่ นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เปิดเผยความคืบหน้าการพิจารณาร่างพ.ร.ป.ส.ส.ว่า ขณะนี้กมธ.ได้พิจารณาไปแล้ว 50 กว่ามาตรา และมีหลายประเด็นที่ได้พูดคุยกันในเบื้องต้น อาทิ การตัดสิทธิ์คนที่ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งในฉบับของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดว่า หากไม่ไปใช้สิทธิ์จะถูกตัดสิทธิ์ 3 ข้อ ได้แก่ 1.สิทธิ์ในการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง 2.สิทธิ์ลงสมัคร ส.ส. ส.ว. และ3.สิทธิ์ลงสมัครกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งทางกมธ.เห็นด้วยทุกข้อ แต่ก็มีกมธ.เสนอเพิ่มเติม เช่น ถ้าไม่ไปใช้สิทธิ์จะถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้ไปรับราชการ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่เพราะเพียงแค่ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งเดียวจะถูกตัดสิทธิ์การเข้าสู่อาชีพบางอาชีพ ดังนั้น ไม่ว่าจะมีข้อเสนออะไรก็ตามจะต้องคุยให้รอบคอบ เพราะอาจเกิดปัญหาใหม่ขึ้นได้

นายทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ทางกมธ.พูดคุยเรื่อง วิธีการนับอายุการถูกตัดสิทธิ์ 2 ปี ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งขณะนี้มีความเห็นที่หลากหลาย มีทั้งให้นับต่อเนื่อง เช่น เมื่อไม่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งจะถูกตัดสิทธิ์ 2 ปี และหากไม่มาใช้สิทธิ์อีกครั้งในการเลือกตั้ง ในครั้งที่ 2 ก็จะบวกเพิ่มอีก 2 ปี รวมเป็น 4 ปี แต่ก็มีกมธ.บางส่วน เห็นว่าไม่ควรนำคิดรวมกันกับการตัดสิทธิ์ 2 ปีแรก ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงการหารือเบื้องต้นและยังไม่มีข้อยุติใดๆ

นายทวีศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา ที่ให้ส.ส.ลงสมัครพรรคเลือกตั้งเป็นอิสระไม่สังกัดพรรคการเมืองนั้น ประเด็นนี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้หารือจบไปตั้งแต่ก่อนที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว หากเสนอไปช่วงนี้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนเสนอนอกกติกา เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่าผู้สมัครส.ส.ต้องสังกัดพรรคแต่อยู่ๆ จะมาเสนอให้ลงสมัครแบบอิสระจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะต้องแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งการทำเช่นนั้นก็จะมีเรื่องลึกลับซับซ้อนและมีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตุตรงนั้นตรงนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องไม่ดี

นายทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอให้มีการแก้ไขบทเฉพาะกาลของร่างกฎหมายพ.ร.ป.ส.ส. เพื่อแก้ไขปัญหาพรรคการเมืองปรับปรุงข้อมูลสมาชิกพรรคไม่ทันตามเวลาที่กฏหมายพรรคการเมืองกำหนดไว้นั้น คิดว่าไม่สามารถนำมาเชื่อมโยงกันได้ เพราะในบทเฉพาะกาลของกฎหมายส.ส. กำหนดว่า เมื่อกฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ ภายใน90 วันจะต้องตราพระราชกฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้ง และจัดให้มีการเลือกภายใน 150 วัน แต่เงื่อนไงเวลาที่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องทำอะไร อย่างไรบ้าง ขึ้นอยู่กับกฎหมายพรรคการเมือง ทั้งนี้ ทางกมธ.มีระยะเวลาในการพิจารณาถึงวันที่ 26 ม.ค. 61 นี้