จุดชนวน 'รัฐสวัสดิการ' ปูทางแก้ 'รธน.60'

จุดชนวน 'รัฐสวัสดิการ' ปูทางแก้ 'รธน.60'

เปิดประเด็นร้อน!! จุดชนวน "รัฐสวัสดิการ" ปูทางแก้ "รธน.60"

ควันหลงวันระลึกถึงวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม มีผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเสียงส่วนมาก สะท้อนความเห็น ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ กลไกสืบทอดอำนาจของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)”

แต่หากเราไม่มอง “รัฐธรรมนูญ” เฉพาะในมุมของอำนาจ ยังมีหลายประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ต่อมุมการพัฒนาประเทศ ผ่านการสร้างรากฐานของการพัฒนาประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี วันคล้อยหลังวันรัฐธรรมนูญ กลุ่มเติร์ดเวย์ ไทยแลนด์ ร่วมกับ พรรคใต้เตียง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) จัดเสวนา เรื่อง “รัฐธรรมนูญ รัฐสวัสดิการ” ภายในงานมีนักวิชาการ ภาคประชาชนและ อดีตนักการเมือง ให้ความเห็น มุมวิเคราะห์หลังถอดรหัสรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ว่ามีโอกาสปั้นรากฐานของการพัฒนาประเทศได้หรือไม่?

เรbjมจากประเด็น “ทำไมต้องมีรัฐสวัสดิการ” ที่ อาจารย์ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยลัยธรรมศาสตร์ เปิดเหตุผลว่า รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า คือ หลักประกันของสิทธิและความเสมอภาคของประชาชน อย่างไม่แบ่งแยก ที่ต้องได้รับการดูแลจากรัฐ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ โดยหลายประเทศที่เจริญพบว่านโยบายสำคัญ คือ การสร้างรัฐสวัสดิการ ขณะที่ประเทศไทยแม้จะมีนโยบายที่เป็นรัฐสวัสดิการ เช่น โครงการ30บาทรักษาทุกโรค แต่นโยบายดังกล่าวไม่พัฒนาสอดคล้องกกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในประเทศ และในภาวะดังกล่าวจะพบคนกลุ่มใหญ่ที่เป็นชนชั้นแรงงานต้องแบกรับภาระ และต้องดูแลชีวิตของตนเองมากขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต อย่างไรก็ตามรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่ ระบบประกันสังคม ระบบบำนาญ แม้ระบบดังกล่าวจะเป็นผลดีเพราะจูงใจการทำงาน แต่ยังมีข้อเสีย คือ เป็นไปตามระบบอุปถัมภ์

“รัฐสวัสดิการ ไม่ใช่เงื่อนไขการเปลี่ยนภาวะทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่คือกลไกต่อการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อดูแลชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น เพื่อให้แนวทางรัฐสวัสดิการเป็นไปได้ในประเทศไทย ต้องเป็นไปภายใต้ระบอบที่เป็นประชาธิปไตย การเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น ดังนั้นในวันนี้ผมขอให้เป็นฉันทามติร่วมกันว่า เมื่อมีเลือกตั้งทั่วไปแล้ว ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ความสำคัญกับรัฐสวัสดิการ” ษัษฐรัมย์ เรียกร้อง

ต่อด้วยความเห็นของ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย” ที่มองถึงประเด็น อุปสรรคของรัฐสวัสดิการไทย ทั้งในและนอกรัฐธรรมนูญ โดยย้ำถึงการจัดสวัสดิการด้านต่างๆ อาทิ เรียนฟรีที่รัฐธรรมนูญ รองรับให้เด็กต้องได้รับการศึกษา ฟรี 12 ปี รวมถึงต้องดูแลเด็กเล็ก หรือ เด็กก่อนวัยเรียน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้การเรียนฟรีดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะปัจจุบันการออกกฎหมายเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาหรือแผนยุทธศาสตร์ชาติไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมหรือแสดงความคิดเห็น ดังนั้นตนกังวลว่ามาตรการที่รัฐธรรมนูญกำหนดอาจเกิดปัญหาและยากจะประสบความสำเร็จ ขณะที่นโยบายเรื่องบัตรคนจน ยังขาดมาตรป้องกันที่จะสร้างแรงจูงใจเพื่อให้คนมีฐานะอยากจน เพื่อรับสิทธิจากรัฐ ที่ผ่านมารัฐบาลอาจจะลืมคิด เพราะต้องการขับเคลื่อนนโยบายได้รวดเร็ว เนื่องจากปีหน้าจะเลือกตั้ง

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ฝากประเด็นต่อแนวคิดการสร้างรัฐสวัสดิการในประเทศไทย ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอาจเป็นเรื่องยาก เพราะกระบวนการแก้ไขทำได้ยาก ดังนั้นแนวทางที่เป็นไปได้ คือ ภาคประชาชนเข้าชื่อยกร่างกฎหมายและนำเสนอต่อรัฐบาลหรือรัฐสภา นอกจากนั้นต้องสร้างกระแสให้ประชาชนร่วมผลักดัน สะท้อนความต้องการไปยังรัฐบาล หรือ รัฐสภาผ่านกระบวนการต่างๆ ซึ่งอาจได้รับความสำเร็จมากกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ ส่วนอนาคตของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เชื่อว่าอาจถูกฉีก หรือ ถูกแก้ไขครั้งใหญ่ผ่านเสียงประชาชน แต่ต่อให้จะแก้ไขเล็ก หรือแก้ไขใหญ่ อาจนำไปสู่ปัญหา คือ ความขัดแย้งในสังคม เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจ

ในปมปัญหาที่จะสร้างรัฐสวัสดิการ ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้ บนเวทีเสวนา ยังสะท้อนมุมองอีกด้าน ถึง รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือไม่ จากตัวแทนภาคประชาชน โดย น.ส.แสงศิริ ตรีมรรคา กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่าความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น มักถูกมองว่ามาจากการใช้ความรู้สึก จึงไม่มีใครกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาด้านรายได้ กลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย ซึ่งมีสถานะไม่มั่นคงในชีวิต ไม่มีเงินเก็บ หากไม่มีหลักประกันในชีวิต หรือได้รับสวัสดิการจากรัฐ จะถูกจัดอยู่อันดับสถานะผู้ยากจนโดยทันที แม้หลายฝ่ายเสนอแนะว่าคนรายได้ต่ำควรอดออม ต้องประหยัด และขยันทำงาน แต่ข้อเท็จจริงพบว่าคนกลุ่มดังกล่าวคือผู้ขาดแคลน และเข้าไม่ถึงสิทธิ รวมถึงโอกาสการพัฒนาคุณภาพชีวิตจากรัฐ

“มีคำถามใหญ่ต่อการสร้างรัฐสวัสดิการ คือ เอาเงินมาจากไหน ในกรณีนี้ขอยกตัวอย่างระบบเงินที่ใช้ในสวัสดิการด้านสุขภาพในประเทศไทยมี 3ระบบ คือ ระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการข้าราชการ และระบบบัตรทอง ตามผลการศึกษาพบว่า คนส่วนใหญ่ 49 ล้านคนจัดอยู่ในระบบบัตรทอง แต่พบว่าระบบบัตรทองใช้เม็ดเงินเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพ เฉลี่ย 3,100 บาทต่อคน ขณะที่ระบบราชการ ใช้เงินเฉลี่ย 14,000 บาทต่อคน และระบบประกันสังคม ใช้เงินเฉลี่ย 3,300 บาทต่อคน เห็นได้ว่าระบบการเงินอาจไม่ใช่ปัญหา แต่สิ่งที่เป็นต้นตอ คือ การบริหารจัดการะบบสวัสดิการที่ไม่เท่าเทียม และมาตรฐานไม่เท่ากัน” น.ส.แสงศิริ กล่าว

ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวตอนหนึ่งด้วยว่า สำหรับรัฐสวัสดิการสำคัญ ที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ​คือ ระบบด้านรายได้, ระบบการศึกษา และ ระบบสุขภาพ ซึ่งรัฐควรทำประชามติถามประชาชนว่าต้องการรัฐสวัสดิการอะไรบ้าง โดยการสร้างระบบรัฐสวัสดิการดังกล่าวควรสร้างหลักประกันให้กับประชาชนฐานะผู้เสียภาษี ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ให้รัฐดูแลประชาชน ยังเป็นแนวคิดแบบเก่าที่เน้นการสงเคราะห์มากกว่า การสร้างรัฐสวัสดิการ หากวัดคุณภาพของประชาชนต้องวัดจากผู้ที่พ้นจากภาวะขาดแคลน จากเดิมที่วัดจากจำนวนของผู้ที่ขาดแคลนเท่านั้น

แต่สิ่งที่ภาคประชาชนสะท้อนความต้องการ ในความเป็นจริงจะเป็นไปได้หรือไม่ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นถึงความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ของรัฐสวัสดิการไทย ว่า รัฐสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพเป็นประเด็นที่ทำได้ยาก เพราะระบบดังกล่าวมีรายละเอียดที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ ที่ต้องได้รับความมั่นใจว่าจะไปถึงประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย​ นอกจากนั้นในต่างประเทศที่มีระบบรัฐสวัสดิการ พบว่าผ่านการเคลื่อนไหว เดินขบวน ต่อสู้ของประชาชนเรียกร้อง แต่ในประเทศไทยพบว่าการผลักดันสวัสดิการเกิดจากนักการเมือง ทำให้การรักษาสวัสดิการรัฐที่ดี เช่น โครงการ30บาทรักษาทุกโรคจึงรักษาไว้ไม่ได้ ดังนั้นการรณรงค์เพื่อขับเคลื่อนสู่รัฐสวัสดิการต้องวางแผนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนแม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายก็ตาม