'ภัยคุกคาม-ตึงเครียด'หนุนงบทหารโลกพุ่ง

'ภัยคุกคาม-ตึงเครียด'หนุนงบทหารโลกพุ่ง

"ภัยคุกคาม-ตึงเครียด" หนุนงบทหารโลกพุ่ง

ตลอดทั้งปี 2559 ทั่วโลกต่างเผชิญกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงในรูปแบบต่าง ๆ จึงทำให้หลายประเทศตื่นตัวด้วยการใช้จ่ายงบด้านการทหารเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเอเชียและยุโรปที่เกิดความตึงเครียดและภัยคุกคามหลายด้าน 

ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับงบประมาณทางทหารของนานาประเทศในรอบปี 2559 ที่จัดทำโดยสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม หรือ “ซีปรี” (SIPRI) ในสวีเดน ระบุว่า ทั่วโลกมีการใช้งบประมาณการทหารเพิ่มเป็น 1.686 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 56 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.4% จากปี 2558 โดยภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นอย่างมากได้แก่ยุโรปและเอเชีย 

ซีปรีชี้ว่า เอเชีย-แปซิฟิก เป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตของการใช้จ่ายงบประมาณทางทหารมากที่สุดในปีที่แล้ว โดยใช้งบเพิ่มขึ้น 4.6% จากปี 2558 มาอยู่ที่ 450,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 15 ล้านล้านบาท และหากเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้วนับว่าเพิ่มขึ้นถึง 64% ซึ่งซีปรีชี้ว่า การใช้จ่ายงบการทหารที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้เป็นผลจากสถานการณ์ตึงเครียดในทะเลจีนใต้ คาบสมุทรเกาหลี ตะวันออกกลาง และความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนในแคชเมียร์ 

นอกจากนี้ ในกลุ่มประเทศ 15 อันดับแรกที่ใช้งบด้านการทหารมากที่สุด เป็นประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมากถึง 5 ประเทศ หนึ่งในนั้นคือจีน ซึ่งใช้งบด้านนี้สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลกโดยมีสถิติการใช้จ่ายทางทหารเพิ่มขึ้น 5.4% จากปี 2558 มาอยู่ที่ 215,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 7.53 ล้านล้านบาท คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของงบการทหารทั้งเอเชีย และถือเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคด้วย 

ส่วนซาอุดีอาระเบีย ยักษ์ใหญ่ผู้ส่งออกน้ำมัน ตกลงจากอันดับ 3 มาอยู่ที่อันดับ 4 ของโลก หลังใช้งบด้านการทหารลดลง 30% เหลือ 63,700 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.22 ล้านล้านบาท ทำให้กลายเป็นประเทศที่ใช้งบด้านการทหารลดลงมากที่สุดในโลก 

ขณะที่ยุโรป ใช้งบด้านการทหาร 336,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 11.2 ล้านล้านบาทในปีที่แล้ว หรือคิดเป็น 20% ของการใช้งบการทหารทั่วโลก และยังเพิ่มขึ้น 2.8% จากปี 2558 ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หลังจากเกิดเหตุก่อการร้ายโจมตีในหลายประเทศนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา 

นอกจากนี้ การใช้งบด้านการทหารของประเทศที่กำลังเผชิญภัยคุกคามก่อการร้ายอย่างฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี และอิตาลีรวมกัน ยังเทียบเท่า 10% ของการใช้จ่ายงบด้านการทหารทั่วโลก 

ส่วนรัสเซีย อีกหนึ่งมหาอำนาจ รั้งอันดับที่ 3 ของโลกด้วยสถิติ 69,200 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.42 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% จากในปี 2558 และคิดเป็น 5.3% ของจีดีพี ถือเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดนับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 2535 และเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน แม้ยังคงเผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก และสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังผันผวน 

ด้านยักษ์ใหญ่สหรัฐยังคงครองอันดับ 1 ด้วยสถิติการใช้จ่าย 611,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 21.38 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% จากปีก่อนหน้านี้ และเป็นสัดส่วนสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2553 

ตัวเลขล่าสุดของสหรัฐส่งสัญญาณว่า อาจเป็นการสิ้นสุดยุคแห่งการควบคุมงบประมาณทางทหารของรัฐบาลสหรัฐตั้งแต่ปี 2551 นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เข้าบริหารประเทศไม่ถึง 100 วันยังได้เสนอเพิ่มงบประมาณทางทหารในปีนี้อีก 54% 

อย่างไรก็ตาม ซีปรีระบุว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไปในสหรัฐ ทำให้คาดการณ์ได้ยากว่าสหรัฐจะยังใช้งบด้านการทหารเพิ่มขึ้นต่อไปอีกหรือไม่