ร่างกฎหมายใหม่...เพิ่ม3โทษหนัก คุ้มครอง‘แรงงานเด็ก’

ร่างกฎหมายใหม่...เพิ่ม3โทษหนัก คุ้มครอง‘แรงงานเด็ก’

กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่....) พ.ศ.... แทนฉบับเดิม

ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2541 ด้วยเหตุผลว่าเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับมานาน ทำให้บทบัญญัติบางประการนั้นไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอัตราโทษในความผิดเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็ก 

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังเป็นนโยบายที่สำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล จึงทำให้ต้องมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างมีประสิทธิภาพ

กระทรวงแรงงาน ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ได้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในวาระที่ 2 โดยมีสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องอัตราโทษความผิดที่กระทำต่อแรงงานเด็ก 3 ฐานความผิด ดังนี้ 

กรณีงานอันตรายสำหรับเด็ก โดยที่นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานอันตรายตามที่มาตรา 49 กำหนดไว้ เช่น งานหลอม เป่า หล่อ หรือรีดโลหะ งานปั๊มโลหะ งานเกี่ยวกับความร้อน ความเย็น ความสั่นสะเทือน เสียง และแสงที่มีระดับแตกต่างจากปกติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อเด็ก เป็นต้น

โดยมีอัตราโทษตามพ.ร.บ.(ปัจจุบัน) คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าเป็นเหตุให้ลูกจ้างเด็กได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่ตามร่าง พ.ร.บ.(ใหม่) คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่น้อยกว่า 400,000 บาท แต่ไม่เกิน 800,000 บาท ต่อลูกจ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าเป็นเหตุให้ลูกจ้างเด็กได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 800,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณีสถานที่ห้ามทำงานสำหรับเด็ก โดยที่นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในสถานที่ตามที่มาตรา 50 กำหนดไว้ เช่น โรงฆ่าสัตว์ สถานที่เล่นการพนัน สถานบริการ เป็นต้น โดยมีอัตราโทษตามพ.ร.บ.(ปัจจุบัน) คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าเป็นเหตุให้ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่ตามร่างพ.ร.บ.(ใหม่) คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่น้อยกว่า 400,000 บาท แต่ไม่เกิน 800,000 บาท ต่อลูกจ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าเป็นเหตุให้ลูกจ้างเด็กได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 800,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณีอายุขั้นต่ำของเด็ก โดยที่นายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ในงานทั่วไป และงานตามที่กฎกระทรวงกำหนดในงานเกษตรกรรมและงานประมงทะเล โดยมีอัตราโทษตามพ.ร.บ.(ปัจจุบัน) คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่ตามร่างพ.ร.บ. (ใหม่) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่น้อยกว่า 400,000 บาท แต่ไม่เกิน 800,000 บาท ต่อลูกจ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ

นางสาวอรุณี ศรีโต ในฐานะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้ กมธ. ได้มีการพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งจะเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในวันที่ 18 พ.ย.นี้ โดยเป็นการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ มีการแก้ไขเพียงกี่มาตราเป็นการเพิ่มโทษในการใช้แรงงานเด็กให้สูงขึ้นเท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานเด็ก ส่วนประเด็นอื่นๆ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรืออะไรใหม่ ในฐานะที่ตนก็เป็น กมธ.พิจารณาในร่างพ.ร.บ.นี้ ก็เคยบอกว่า น่าจะมีการพิจารณากฎหมายทั้งฉบับ

“ในชั้น กมธ. ก็มีการถกเถียงว่า หากใช้ลูกหลานในบ้านทำงาน กฎหมายก็ไม่ได้กีดกั้นอะไร เพราะเป็นการทำงานในครอบครัว แต่ถ้ามีการทำงานแบบมีสัญญาจ้าง แล้วใช้แรงงานเด็ก ก็จะถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย”

ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา ตนก็ได้เคยถามอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) ซึ่งเป็น กมธ. ด้วย ว่า กระทรวงแรงงาน หรือ กสร. เคยดำเนินคดีกับนายจ้างหรือไม่ เพราะบางทีเห็นว่าการกฎหมายถูกเขียนขึ้นมาสวยๆ อยู่เล่ม แต่เวลาภาคปฏิบัติไม่ค่อยเห็นดำเนินคดี อย่างเช่น เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงาน เมื่อปี 2536 คนตายเพราะไฟไหม้ 188 คน แต่คนติดคุกกลับเป็นคนที่สูบบุหรี่แล้วเกิดไฟไหม้ แต่นายจ้างไม่เห็นติดคุกสักคน แต่อธิบดี กสร. ก็ได้ชี้แจงมาว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินคดีกับนายจ้างกว่า 400 ราย

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะเพิ่มโทษ แต่ตนก็เป็นห่วงว่า เหมือนกฎหมายจะเป็นแค่เป็นการป้องปรามมากกว่าีว่า มีโทษเยอะ แต่เอาเข้าใจจริง ยังไม่แน่ใจว่าจะบังคับใช้ได้หรือไม่ ดังนั้นจึงอยู่ที่ภาคบังคับที่จะต้องเอาจริงเอาจังในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายให้มาก