วิเคราะห์ 'เปรมโมเดล' อนาคตการเมือง 'บิ๊ก ป.'?

วิเคราะห์ 'เปรมโมเดล' อนาคตการเมือง 'บิ๊ก ป.'?

เจาะประเด็นร้อน เบื้องลึก! "เปรมโมเดล" อนาคตการเมือง "บิ๊ก ป." ?

ในบรรดาผู้ที่เกาะเกี่ยวอยู่กับอำนาจหลังการรัฐประหาร ที่น่าสนใจที่สุดมีอยู่สองคน คือ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” และ “วันชัย สอนศิริ” ซึ่งสองคนนี้อยู่ในกลุ่ม 40 ส.ว. เช่นเดียวกัน และต่างมีที่มีทาง หลังการรัฐประหาร

เขาทั้งสองเลือกที่จะพูดหรือนำเสนอความคิดที่ทุกคนมองว่า "เหนียมอาย" หากแต่ตรงใจกับผู้ที่ให้คุณกับพวกเขาได้?

“ไพบูลย์” เป็นคนแรกนับแต่รัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ที่ออกมาบอกว่าเขาจะตั้งพรรคการเมือง และพูดเต็มปากเต็มคำว่าเพื่อสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ให้เป็นนายกรัฐมนตรี

ใช่ว่า จะไม่มีใครรู้ว่า การเปิดช่องเปิดทางตามรัฐธรรมนูญนี้ สุดท้ายแล้วเอื้อหรือแผ้วถางทางเผื่อใคร? เพียงแต่เมื่อยังไม่ถึงเวลา หรือยังไม่ถึงวันก็ยังไม่มีใครที่อยากพูดถึงมากนัก เพราะเอาเข้าจริงแล้วการเข้าสู่ตำแหน่งเช่นนี้ ของพล.อ.ประยุทธ์ ก็ดูจะไม่ค่อยสง่างามนัก พร้อมกับข้อครหาที่ว่า “สืบทอดอำนาจ”

แต่ “ไพบูลย์” ก็มีวิธีที่เลือกจะอธิบายแบบเหมารวมว่า 15 ล้านเสียง ที่ลงคะแนนให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ เป็น 15 ล้านเสียงที่สนับสนุนให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

เช่นเดียวกับ “วันชัย สอนศิริ” ที่ออกมาพูดสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” ให้เป็นนายกรัฐมนตรี และที่สำคัญออกมาเสนอทางออก ยามที่มีคนเรียกร้องว่าหากต้องการนั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศต่อไป ก็ควรตั้งพรรคการเมืองแข่งขัน และลงสู่ระบบเลือกตั้ง เขากลับนำเสนอในวิธีคิดที่หลายคนนึกไม่ถึงว่าเขาจะชัดเจนขนาดนี้

“พล.อ.ประยุทธ์ไม่จำเป็นต้องตั้งพรรค..ดูตัวอย่างสมัย พล.อ.เปรม ที่ไม่จำเป็นต้องลงเลือกตั้ง แต่ก็อยู่เป็นนายกฯถึง 8 ปี”

คำพูดเช่นนี้เองเป็นที่มาของคำว่า “เปรมโมเดล” และคล้ายเป็นการบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องลงสนามเลือกตั้งเพราะพวกเขาพร้อมจะสนับสนุนทุกทางหากทำได้ และเป็นการชี้ช่อง

แต่ต้องไม่ลืมว่า “เปรมโมเดล” นั้นไม่ได้มีแต่ด้านบวกและด้านที่ถูกชมเชยเท่านั้น หากแต่มีด้านที่ถูกจารึกไว้ในมุมที่ไม่สวยงามนักด้วยเช่นกัน

รัฐธรรมนูญในขณะนั้น ไม่ได้กำหนดที่มาว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็นใครมาจากไหน หรือต้องเป็น ส.ส. ผ่านการเลือกตั้งหรือไม่ อีกทั้งสภาพการเมืองในขณะนั้นก็ไม่เอื้อต่อการตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ขณะที่ทหารก็กุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ การรัฐประหารกลายเป็นสิ่งที่นักการเมืองทุกคนหวาดระแวง สภาพการเมืองคล้ายแขวนบนเส้นด้าย จึงไม่แปลกที่ไม่ว่าพรรคใดที่ชนะการเลือกตั้ง หากอยากรู้สึกถึงความมั่นคงก็ย่อมต้องหาสิ่งที่การันตีในสถานะของพวกเขา

ซึ่งแน่นอนว่า คำตอบก็ออกมาอยู่ที่ผู้มากอำนาจบารมี ทั้งวงการเมืองและวงการทหารอย่าง “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” และแน่นอนว่า เมื่อเขาเข้าสู่อำนาจ อำนาจก็ยิ่งต่ออำนาจ แต่ขณะเดียวกันข้อครหาก็ยิ่งมากขึ้นตามลำดับ

โดยเฉพาะข้อกล่าวหา เรื่องที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และความมากบารมีที่มีขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ฝ่ายการเมืองเองก็เริ่มรู้สึกว่า เหตุใดเมื่อผ่านการเลือกตั้ง จึงไม่สามารถเข้ามาบริหารประเทศได้ รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายของตัวเอง

สุดท้าย จึงถึงยุคเปลี่ยนผ่าน และยกให้ "พล.อ.เปรม" เป็นรัฐบุรุษ พร้อมทั้งเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” แต่แม้ลงจากตำแหน่งนายกฯ แต่อำนาจบารมีของ "พล.อ.เปรม" ที่สั่งสมมายังทำให้ท่านถูกมองว่า อยู่เบื้องหลังการเมืองการทหารในหลายๆ ครั้ง

จากนี้ไปก็เช่นกัน มีการมองว่า เมื่อ “ว่าที่รัฐธรรมนูญ” ออกแบบให้พรรคการเมืองอ่อนแอ และออกแบบระบบเลือกตั้งที่ยากจะมีใครได้เสียงข้างมาก จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าจะตกลงเพื่อหานายกฯของพรรคการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งได้

ยิ่งประกอบกับ การออกแบบให้ "ส.ว.250คน" มาจากการคัดเลือกของ คสช. และผลประชามติให้พวกเขาเหล่านี้่นี่เองมีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี จึงทำให้เห็นว่า ทางที่มีนั้นไม่เป็นการยากที่ใครบางคนจะก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศ ผ่านความมีอำนาจบารมี

ซึ่งนาทีนี้ หากมองไปถึงการจะมี "นายกฯคนนอก" ก็คงไม่มีใครนึกถึงชื่ออื่นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่อำนาจในแบบที่วางเอาไว้และเป็นระยะเวลายาวนั้นก็เหมือนดาบสองคมเช่นกัน เพราะในอดีตกับสมัยนี้มีความต่างกันพอสมควรเรื่องการรับรู้ของบุคคลทั่วไป “เปรมโมเดล” อาจจะใช้ได้ เส้นทางที่ถูกแผ้วถางผ่านรัฐธรรมนูญอาจจะใช้ได้ แต่ใครจะรู้ว่าจะใช้ได้ระยะยาวตลอดรอดฝั่งหรือไม่

แต่ที่แน่ๆ ใครบางคนไม่เหนียมอาย ที่จะเกาะกุมยึดติดกับขั้วอำนาจ แม้จะถูกมองด้วยสายตาอย่างไรก็ตาม!?