‘วิษณุ’ชี้ป.ป.ช.ยังถอนฟ้อง 'คดีสลายม๊อบ พธม.'ไม่ได้

‘วิษณุ’ชี้ป.ป.ช.ยังถอนฟ้อง 'คดีสลายม๊อบ พธม.'ไม่ได้

"วิษณุ" ชี้แม้ ป.ป.ช. มีมติถอนฟ้อง "คดีสลายม๊อบ พธม." ก็ยังถอนไม่ได้ ต้องให้ศาลฎีกาอนุญาตด้วย เตือนเตรียมรับมือเหตุวุ่นวาย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า ป.ป.ช. ไม่สามารถถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่อยู่ในชั้นศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่าก็เป็นความเห็นของเขา ซึ่งตนทราบจากข่าวว่า ขณะนี้ ป.ป.ช. กำลังพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งฝ่ายกฎหมาย ป.ป.ช. ระบุว่าสามารถถอนได้ และตัวกรรมการ ป.ป.ช. เอง ก็มีมติว่าทำได้เช่นกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำ ซึ่งเรื่องนี้ตนก็ไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย

เมื่อถามว่าหากกลุ่ม พธม. ไม่เห็นด้วย และจะยื่นให้ศาลฎีกาตีความได้ไหม นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อมีการยื่นมติถอนฟ้องแล้ว ท้ายที่สุดศาลฎีกาจะพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ แม้ ป.ป.ช. จะยื่นเรื่องถอนฟ้อง แต่ถ้าศาลยังไม่อนุญาต ก็ยังตีความอะไรไม่ได้ คือเมื่อศาลยังไม่อนุญาตก็หมายความว่ายังไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าศาลอนุญาตแล้ว คุณจะไปตีความอย่างไรต่อก็ว่าไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนี้ขอบเขตอำนาจการตีความของ ป.ป.ช. ว่าสามารถถอนฟ้องได้หรือไม่นั้น หากเกิดความเห็นไม่ตรงกัน จะสารมารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ แต่อยู่ที่ว่าใครจะเป็นคนยื่น และยังนึกไม่ออกว่าจะไปด้วยช่องทางไหน

“พอจะถอนฟ้อง ไม่ใช่ไปไขกุญแจเอาคำฟ้องใส่ซองกลับบ้าน มันไม่ใช่ ต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งได้ใต่สวนไปแล้วหนหนึ่ง ถ้าศาลไม่อนุญาตก็จบ ถ้าศาลอนุญาตก็เชื่อว่าถอนได้” นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ ป.ป.ช. พิจาณาณาว่ามีอำนาจสามารถ ถอนฟ้องคดีได้นั้น จะนำมาใช้กับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใน พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต ไม่ได้ระบุถึงเรื่องนี้ไว้ แต่ในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการพิจารณาคดีของศาลฎีกาบอกไว้ว่า อะไรที่ไม่ได้อยู่ในข้อกำหนดให้นำประมวลกฎหมายฯ มาใช้ได้โดยอนุโลม แต่ก็เป็นเรื่องของศาลที่เขียนไว้ ส่วนกฎหมายของ ป.ป.ช. ไม่ได้มีข้อกำหนดในเรื่องนี้ ซึ่งไม่มีก็คือไม่มี แต่เมื่อไม่มีจะแปลว่ายื่นได้หรือไม่นั้น ก็ลองยื่นดู ศาลจะอนุญาตหรือไม่ ศาลจะใช้ข้อกำหนดที่มีพิจารณาควบคู่กับประมวลกฎหมายฯ ประเด็นมีอยู่ 2 ข้อ คือ 1.ตามข้อกฎหมายสามารถถอนฟ้องได้หรือไม่ 2.ถ้าทำได้ ประเด็นก็อยู่ที่ว่าควรใช้ดุลพินิจหรือไม่ เยอะแยะไปที่ตามกฎหมายทำได้ แต่อยู่ที่ควรหรือไม่ควร

“เรี่องนี้คุณไม่ต้องกลัวหรอก เพราะเวลาจะยื่น มันต้องไปยื่นกับศาล สมมติต่อให้มีอำนาจยื่นถอนฟ้อง มีหรือไม่ที่ศาลไม่อนุญาติให้ถอนฟ้อง ก็มี ซึ่งก็แล้วแต่ศาล เพราฉะนั้นไม่ต้องมานั่งติดใจกันว่าจะถอนได้หรือไม่ ซึ่งศาลอาจพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์ไม่สามารถถอนฟ้องได้ ก็จบ ก็ดี จะได้เป็นบรรทัดฐาน ในทุกคดีที่ ป.ป.ช. สั่งฟ้อง และถ้า ป.ป.ช. คิดว่าจะถอนฟ้อง ก็ต้องเตรียมรับมือความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นด้วย ถึงได้บอกว่าคุณต้องดูข้อกฎหมาย ว่ามีอำนาจหรือไม่ และต้องพิจารณาว่าศาลจะอนุญาตหรือเปล่า รวมถึงต้องพิจารณาว่าสังคมมีความเข้าใจหรือเปล่า ว่าที่ทำไปนั้นทำไปเพราะอะไรไม่จำเป็นต้องเห็นชอบหรอก” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว