พงส.ถกคำสั่งคสช. ชี้ไม่ควรก้าวล่วงการบริหารงาน

พงส.ถกคำสั่งคสช.  ชี้ไม่ควรก้าวล่วงการบริหารงาน

นายกสมาคม พงส.นัดสมาชิกหารือคำสั่ง คสช.ด้านรองโฆษกตร.ระบุ พงส. ไม่ควรก้าวล่วงการบริหารงาน

พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฒิ อดีตรองผบ.ตร. ในฐานะนายกสมาคมพนักงานสอบสวน(สพส.) พร้อมสมาชิกที่ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนจำนวนหนึ่ง นัดประชุมนัดพิเศษที่ห้องประชุมสหกรณ์ ตร. โดยในที่ประชุมมีวาระเพื่อทราบเป็นเจ้าภาพสวดศพ พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์ พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ สน.เทียนทะเล ที่ผูกคอตัวเองเสียชีวิต รวมถึงการช่วยเหลือ และงานวิจัยของคณะทำงานวิจัยและพัฒนาระบบงานสอบสวน นอกจากนี้ยังมีเรื่องพิจารณาผลกระทบคำสั่ง คสช.ที่ 6/2559 และที่ 7/2559 พร้อมแนวทางแก้ไขของ สพส. โดยใช้เวลาประชุมนาน 2 ชั่วโมง 

พล.ต.อ.วุฑฒิชัย แถลงภายหลังจากการประชุมว่า ผลประชุมสมาชิกในที่ประชุมมีมติให้ยื่นเสนอต่อ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผบ.ตร. พิจารณา เนื่องจากพนักงานสอบสวนได้รับผลกระทบคำสั่ง คชส. เพื่อต้องการพิจารณาจัดวางตำแหน่งพนักงานสอบสวน และกำหนดหน้าที่ให้ชัดเจนเพื่อให้พนักงานสอบสวนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยเฉพาะเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งเรื่องนี้ทางสมาคมไม่มีแนวคิดต่อต้านหรือคัดค้านตำแหน่งพนักงานสอบสวน ต่อนี้ไปทางสมาคมจะดูท่าทีข้อเสนอที่ยื่นในวันพรุ่งนี้(15 ก.พ.)กับ พล.ต.อ.พงศพัศ 

ด้านพล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า พนักงานสอบสวนออกมารวมกัน ตั้งเป็นกลุ่มสมาคมก็ดี สมาพันธ์ก็ดี เป็นเรื่องที่ดีในการออกมาปกป้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของเขาเอง ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าเราเป็นตำรวจอยู่ในเครื่องแบบ ไม่ใช่สหภาพแรงงาน หรือเอกชน ซึ่งต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย เนื่องจากการออกมาเรียกร้องสิทธิประโยชน์เล็กๆน้อย อย่างสิทธิประโยชน์ไม่พอ หรือว่าอุปกรณ์ไม่พอ สภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เหมาะสม แล้วออกมาเคลื่อนไหว ตั้งเป็นกลุ่มสมาคมสมาพันธ์อันนี้ไม่ว่า แต่ถ้าออกมาเคลื่อนไหวในลักษณะคัดค้านการบริหารงานบุคคล คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นเรื่องหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา เป็นเรื่องมหภาค 

“ต้องยอมรับว่าขณะนี้มีกระแสการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ปฏิรูประบบราชการ ทั้งระบบ เป็นเรื่องของรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องระบบการบริหารงานบุคคล ซึ่งสมาคมก็ดี สมาพันธ์ก็ดี ไม่ควรไปก้าวล่วงตรงจุดนี้ มันไม่ใช่เรื่องการร้องสิทธิประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ จึงอยากให้ผู้นำสมาพันธ์ และกลุ่มทั้งหลายกลับไปพิจารณาว่า วันนี้เรายังเป็นตำรวจอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ท่านก็ไม่ทอดทิ้งอย่างแน่นอน ท่านรู้ว่าปัญหาการปฏิรูปครั้งนี้ส่งผลกระทบไม่มากก็น้อยกับทุกกลุ่ม หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างแน่นอน และได้หามาตรการเสริมไว้เรียบร้อยแล้ว บางครั้งบางกลุ่มอาจมีปัญหาเรื่องของการสื่อสาร ไม่ได้ไปถามไปอะไร ผู้ใหญ่ก็เดินไปในส่วนของผู้ใหญ่ไป เมื่อมีการสื่อสารผิดพลาดก็จะเกิดมีการต่อยอด เหมือนเวลาเราเรียนหนังสือ อาจารย์ให้กระซิบที่หูเพื่อนจากคนแรกถึงคนสุดท้าย ความหมายก็จะมีการคลาดเคลื่อนไป การเข้าใจผิดก็อาจจะก่อให้เกิดการรวมกลุ่มต่อต้าน ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจกับพนักงานสอบสวนเบื้องต้นแล้ว แต่ไม่ควรไปก้าวล่วงการบริหารงานส่วนบุคคล ของระดับมหภาค”พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ กล่าว

พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ กล่าวอีกว่า วันนี้เราดู การเคลื่อนไหวต่างๆ ดูว่าต้องอยู่ในกรอบ เพราะเรายังเป็นข้าราชการตำรวจ ที่สำคัญมากที่สุดคือตำรวจทุกฝ่าย ยังอยู่ภายใต้บังคับบัญชา ของผู้บังคับบัญชา ระดับตร. ไม่มีแบ่งแยกว่าอันนี้ สอบสวน อันนี้จราจร อันนี้สายปอ หากมีสายปอ และสายจราจร ออกมาตั้งสมาพันธ์บ้าง คงจะยุ่งละ ตอนที่พนักงานสอบสวนเขาให้ออกนอกสายมาทำไมไม่มีใครคัดค้าน จากการศึกษาชัดเจน ว่าการแต่งตั้งทุกปีมีพนักงานสอบสวนส่วนใหญ่ พยายามดิ้นรนที่จะออกนอกสายงาน แสดงว่าเขาทราบดึ ถึงทางตันที่ไม่สามารถเติบโต ในสายงานสอบสวนได้ บางคนไปตันอยู่ที่ สบ. 4 สบ. 5 อัตราที่จะเป็นนายพลคงไม่มีโอกาส เพราะฉนั้นพนักงานสอบสวน ระดับ สบ. 1 สบ. 2 สบ.3 พยายามดิ้นรนออกนอกสายทุกปี แต่ออกไปไม่ได้ถ้าออกมา 1 คน ระบบแท่งหายไปทั้งแท่งไปถึงระดับสารวัตร เมื่อออกไม่ได้ ก็พยายามเคลื่อนไหว ทำให้เกิดกลุ่มกลุ่มหนึ่ง มีแนวความคิดที่แตกแยก อาศัยความเป็นสมาคมสมาพันธ์ ออกมาเพื่อจะดึงงานสอบสวน ออกไปอยู่กับหน่วยงานอื่น บางคนคิดถึงว่าจะไปตั้งเป็นสำนักงานสอบสวนแห่งชาติ ซึ่งผิดหลัก ของการรวบรวมพยานหลักฐานตามหลักบริหารงานกระบวนการยุติธรรมอย่าคิดว่าในชั้นตำรวจจะมีเพียงพนักงานสอบสวนเพียงอย่างเดียว เพราะกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐาน ประกอบด้วยพนักงานสอบสวน พนักงานสืบสวน พนักงานนิติเวช พนักงานพิสูจน์หลักฐาน มีอยู่ สมัยหนึ่งเราเคยแยก กองทะเบียนอาชญากร ออกมาจากกองพิสูจน์หลักฐาน เมื่อไม่เรียบร้อย ก็กลับไปอยู่เหมือนเดิม ไม่เห็นมีใครออกมาต่อต้าน คัดค้าน เพราะเป็นเรื่องของการบริหารงานบุคคลระดับมหภาค หากพูดในเชิงการเมืองย่อมมีผู้เสียประโยชน์อย่างแน่นอน พลตำรวจตรี ปิยะพันธ์ กล่าวอีกว่า จริงๆแล้วขบวนการสืบสวน และสอบสวนต้องอยู่ด้วยกัน เป็นกระบวนการต้นน้ำลำธาร ของกระบวนการที่ทำเช่นเดียวกัน หาการรวบรวมพยานหลักฐาน ไปคนละทางคงจะหาประสิทธภาพไม่ได้จริงๆแล้วเมื่อมาถึงทางตรงนี้ ถ้าเราเปลี่ยนระบบมาเข้าระบบเดิม คนเหล่านี้ก็จะผันตัวเอง ตัวยังอยู่ มิใช่ว่าถูกไล่ออกไปไหน เพียงแต่เปลี่ยนชื่อตำแหน่ง เปลี่ยนอำนาจหน้าที่ ไปเป็นนิติกรก็ทำงานเหมือนเดิม เดี๋ยวก็เป็นคำสั่งออกมาให้มีหน้าที่สอบสวนได้เหมือนเดิม สวนสิทธิประโยชน์ต่างๆ มีส่วนต่างพันสองพันบาท เส้นทางผู้บังคับบัญชาได้หามาตรการเสริมไว้ให้แล้ว เรื่องสิทธิประโยชน์คิดว่าคงไม่มีอะไรเสียหาย แต่ความเข้าใจผิด อาจจะคิดว่าสิทธิประโยชน์มันเสียหายไป และออกมาต่อต้าน ส่วนประเด็นที่ว่าจะผิดวินัยตำรวจหรือไม่ ต้องตรวจสอบอีกครั้ง ต้องพิจารณาว่าผิดกฎหมายสถานใดหรือไม่ ถ้ามีประเด็นต่างๆเราคงต้องดำเนินการไปตามระเบียบ สำหรับการชุมนุม ต้องรอตรวจสอบว่าเป็นการชุมนุมตาม พรบ.สาธารณะ หรือไม่หรือมีการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองหรือไม่