'เทพชัย'ทวงติงการทำหน้าที่สื่อ กรณีรุมถ่ายภาพร่าง'ปอ ทฤษฎี'

'เทพชัย'ทวงติงการทำหน้าที่สื่อ กรณีรุมถ่ายภาพร่าง'ปอ ทฤษฎี'

"เทพชัย" นายกสมาคมนักข่าววิทยุ-โทรทัศน์ฯ แสดงความเห็นการทำหน้าที่สื่อ กรณีรุมถ่ายภาพร่าง "ปอ ทฤษฎี" มีพฤติกรรมละเมิดจริยธรรม

นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้โพสต์แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค (facebook.com/thepchaiyong) ต่อกรณีการทำหน้าที่ของช่างภาพสื่อมวลชน ในการทำข่าวเคลื่อนย้ายร่าง "ปอ ทฤษฎี สหวงษ์" ระบุว่า ถึงแม้ผมจะเป็นคนในวงการสื่อสารมวลชน แต่ก็มีความเห็นที่ไม่ต่างไปจากความรู้สึกของคนในสังคมที่มีต่อการทำหน้าที่ของสื่อในการรายงานข่าวการเสียชีวิต “ปอ-ทฤษี สหวงษ์”

ภาพของการเบียดเสียดแก่งแย่งของผู้สื่อข่าวและช่างภาพในระหว่างการขนย้ายร่างของอดีตพระเอกคนดังที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเมื่อเช้าวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมา เป็นพฤติกรรมที่ละเมิดจริยธรรมพื้นฐานของสื่อมวลชนเกือบทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเคารพต่อความเป็นส่วนตัวและความรู้สึกของคนในครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมถึงการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

แน่นอนว่าในการแข่งขันการรายงานข่าว ทุกสื่อต้องพยายามให้ได้ข่าวและ “ภาพที่ดีที่สุด” ตามหลักการสากลของสื่อสารมวลชน ข่าวและภาพที่ดีคือสิ่งที่สะท้อนอารมณ์และบอกเล่าบรรยากาศของเหตุการณ์ได้ดีที่สุด แต่ต้องนำเสนอย่างมีศิลปะและสุนทรียภาพ และวิธีการที่ได้มาก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักจริยธรรม

เพราะฉะนั้น “ภาพที่ดีที่สุด” ไม่จำเป็นต้องละเมิดความเป็นส่วนตัว หรือทำร้ายความรู้สึกของคนที่ตกเป็นข่าวและคนในครอบครัว และ “ภาพที่ดีที่สุด” ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพของผู้สูญเสียที่อยู่ในอารมณ์เจ็บปวดอย่างที่สุด และไม่จำเป็นต้องซ้ำเติมความรู้สึกที่เลวร้ายให้กับคนที่เกี่ยวข้องอีก

ผมไม่เชื่อว่าใครก็ตามที่เป็นคนมีเหตุมีผล ต้องการเห็นภาพ “ศพ” ของ ปอ-ทฤษฎี ผมไม่เชื่อว่ามีคนอ่านหนังสือพิมพ์หรือคนดูทีวีเรียกร้องให้มีภาพของคนในครอบครัวที่อยู่ในภาวะที่เศร้าโศกที่สุด และผมก็ไม่เชื่อว่าจะมีใครต้องการเห็นการเสียชีวิตของดาราในดวงใจของพวกเขาถูกทำให้กลายเป็นสงครามแย่งชิง “ภาพที่ดีที่สุด" ของสื่อมวลชน เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรมีข้ออ้างของคนทำสื่อว่าทุกอย่างที่ทำไปก็เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในสังคม

เราไม่รู้ว่าคนที่รุมล้อมศพของ “ปอ-ทฤษฎี” ในเช้าวันนั้นเป็นผู้สื่อข่าวหรือช่างภาพอาชีพจำนวนเท่าไร และมีสักกี่คนที่เป็นมือสมัครเล่น หรือมีกี่คนที่แปลกปลอมเข้ามา แต่ภาพที่ออกมาทำให้คนในวงการสื่อถูกสังคมพิพากษาไปแล้ว

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สังคมได้เห็นพฤติกรรมของสื่อในลักษณะเช่นนี้ และทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็จะมีเสียงเรียกร้องให้องค์กรวิชาชีพสื่อทำอะไรบางอย่าง ในฐานะนายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยผมเชื่อว่าองค์วิชาชีพที่มีอยู่คงรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่สื่อถูกสังคมประณาม และองค์กรสื่อเหล่านั้นก็ไม่เคยลังเลใจที่จะแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ของสื่อที่ละเมิดหลักจริยธรรม องค์กรวิชาชีพได้ออกแถลงการณ์ ออกคำเตือน จัดให้มีการให้ความรู้และอบรมด้านจริยธรรม จัดเวทีและกิจกรรมอื่นๆ เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของการยึดมั่นในมาตรฐานวิชาชีพ

แต่สุดท้ายการตัดสินใจขึ้นอยู่กับผู้บริหาร และคนที่ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการหรือหัวหน้าข่าวของแต่ละสื่อว่าจะเลือกเดินทางไหน แต่ผมเชื่อว่าในยุคที่คนในสังคมมีความตื่นตัวและตระหนักมากขึ้น สื่อมวลชนไม่สามารถทำตัวเป็นผู้ชี้นำกระแสสังคมโดยไม่ฟังเสียงสะท้อนที่กลับมาเหมือนที่ผ่านมา ในอดีตสื่อมวลชนอาจไม่ต้องสนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของคนในสังคม แต่ภูมิทัศน์สื่อทุกวันนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว สื่อถูกตรวจสอบอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และคนในสังคมจะไม่อยู่นิ่งเฉยอีกต่อไป

ผมจะไม่แปลกใจถ้าจะมีสักวันที่คนในสังคมหมดความอดทนและมีปฏิกิริยามากกว่าแค่แสดงความเห็นและวิพากษ์วิจารณ์แต่เพียงอย่างเดียว แต่จะตอบโต้กลับอย่างอย่างจริงจังและเป็นระบบ เพราะทุกวันนี้การสื่อสารไม่ได้ถูกผูกขาดโดยคนทำสื่ออีกต่อไป

ผมอยากให้ผู้บริหารสื่อได้บทเรียนจากกรณีของ “ปอ-ทฤษฎี” มันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างศรัทธาคืนให้กับบทบาทของสื่ออีกครั้ง