'ประยุทธ์'แจงประชุมยูเอ็นเดินหน้าตามโรดแม็พ

'ประยุทธ์'แจงประชุมยูเอ็นเดินหน้าตามโรดแม็พ

นายกฯแจงประชุมสมัชชาสหประชาชาแสดงจุดยืนเดินหน้าตามโรดแม็พ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 2558 เวลา 20.15 น.ว่า สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน ช่วงที่มีการอัดเทปรายการอยู่นี้ยังปฏิบัติภารกิจอยู่ที่นครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็คิดถึงทุกท่าน เพราะมาหลายวัน  ซึ่งได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 70 ในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทย ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกที่เราจะได้แสดงจุดยืน มีความคืบหน้าของการเดินหน้าประเทศตาม road map ของเราในห้วงที่ผ่านมาตนได้เป็นตัวแทนประเทศไทยและพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคน ในการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ โดยวันที่ 24 กันยายน 2558 หลังจากที่เดินทางมาถึง ได้เข้าร่วมการประชุมทีมประเทศไทยในสหรัฐอเมริกา ได้มอบนโยบายให้กับหน่วยงานราชการไทย ในสหรัฐอเมริกาซึ่งประกอบไปด้วย 13 หน่วยงาน ก็ได้ขอให้ช่วยกันสร้างความเข้าใจกับต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศ เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างการเดินหน้าปฏิรูปในทุกด้าน                

นายกฯ กล่าวว่า การแก้ปัญหาของประเทศคงต้องใช้เวลาแต่ประสบความสำเร็จดี วัดได้จากสถานการณ์บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย มีความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ก็ได้แต่ขอให้ช่วยดูแลรักษาให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเหมือนเดิม แล้วก็ผลักดันผลประโยชน์ของคนไทย และประเทศไทยให้ได้ต่อไป ตลอดจนย้ำจิตสำนึกของความเป็นคนไทย แม้ว่าประเทศเราจะมีความเจริญไปข้างหน้า แต่เราก็ต้องไม่ลืมความเป็นไทย เรียกว่าปลุกจิตสำนึกไทยตลอดเวลา ตนได้ชี้แจงสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการในทุก ๆ ด้าน เช่น การลงทุนด้านการศึกษาเพื่อเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การส่งเสริมวิจัยและพัฒนา สร้างนวัตกรรมให้นำไปสู่การผลิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มีการบริหารงานแบบบูรณาการ และเน้น คำว่า“ประชารัฐ”เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชน                  

นอกจากนั้น ได้รับรายงานจากคณะทำงานหรือทีมประเทศไทยว่า ภาพลักษณ์ของไทยในสายตาของคนอเมริกัน หรือคนต่างชาติที่นี่ไม่มีปัญหา ยังคงมีความเชื่อมั่นในความปลอดภัยในประเทศไทยอยู่เช่นเดิม คนอเมริกันชื่นชอบอาหารไทย ชื่นชมความมีน้ำใจของคนไทย ชอบรอยยิ้มของคนไทย  ตนได้ชี้แจงสิ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการต่อไปในอนาคตคือปรับปรุงระเบียบ กฎหมายต่าง ๆ เช่น เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แรงงาน สุขอนามัย ด้านอาหาร กระบวนการผลิตต่าง ๆ มีการเปิดตลาดการท่องเที่ยวใหม่ ๆ รองรับลูกค้าใหม่ ๆ ที่อาจจะเป็นกลุ่มนักศึกษาที่จบใหม่เพิ่มมากขึ้นด้วย                     

จากนั้นในวันที่ 25 กันยายน ได้รับฟังถ้อยแถลงของสมเด็จพระสันตะปาปา มีหลายประเด็นที่สอดคล้องกับแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยและเป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้ทำอยู่ ยกตัวอย่างง่าย ๆ บางประเด็นที่ท่านกล่าวมาก็คือด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องทำอย่างต่อเนื่องและเป็นขั้นตอน ทุกฝ่ายมีหน้าที่ที่ต้องช่วยกันหยุดการค้ามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใด รัฐบาลนี้ก็ได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว ก็เห็นผลงานปรากฏมาโดยตลอด               

สำหรับการประชุมสหประชาชาติระดับผู้นำเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 (POST 2015 Summit) และได้มีการร่วมกล่าวเสวนาในหัวข้อ “Ending poverty and hunger” เป็นการเผยแพร่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้ประชาคมโลกได้รับทราบ เราก็ยินดี ที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญกับการกำหนดวาระการพัฒนา ซึ่งเป็นการเน้นการแก้ปัญหาอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งการขจัดความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญและท้าทายสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของพวกเรา เป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาทั้งในประเทศและระดับโลกด้วย ที่จะต้องพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างความสมดุล โดยขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมในสังคม                    

ประเทศไทยนั้นเราทราบดีอยู่แล้วว่า ถึงแม้สัดส่วนของคนจนจะลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือร้อยละ 10.53 ในปี 2557 จากเดิมร้อยละ 42 ในปี 2543 แต่ความเหลื่อมล้ำเหล่านั้นยังคงเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย จากโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่สมดุล และปัญหาการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินและการใช้ทรัพยากรของประเทศ รัฐบาลไทยในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสในสังคมและให้โอกาสการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรของประเทศ อย่างทัดเทียมกัน ระหว่างนี้กำลังดำเนินการอยู่ทั้งสิ้น สำหรับแนวทางในการพัฒนาของประเทศของไทยนั้น รัฐบาลได้รับแรงบันดาลใจจากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเน้นการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง บนหลักของ “ความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน” ทั้งนี้ก็เพื่อเอาชนะความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศอีกด้วย                     

รัฐบาลได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นพื้นฐานในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งวันนี้ก็กำลังทำในแผนที่ 12 อยู่ เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับประเทศอื่น ๆ ที่มีการพัฒนาในระดับต่าง ๆ ได้ โดยรัฐบาลได้ดำเนินการให้มีการส่งเสริมการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมีตลอดจนส่งเสริมตลาดชุมชน ลดกลไกพ่อค้าคนกลาง สร้างเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคม Social Business พัฒนาศักยภาพ SMEs เพื่อเชื่อมโยงธุรกิจขนาดใหญ่ แบบ “พี่สอนน้อง” แล้วเชื่อมโยงกับภูมิภาคของโลกด้วย รวมทั้งให้มีการการสร้างกลไกในการบริหารจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำ ที่ดิน ป่าไม้ ของประเทศ อย่างบูรณาการและยั่งยืน ทั้งนี้จะต้องไม่เสียดุลยภาพทางสังคมและสิ่งแวดล้อม                

นอกจากนี้ในส่วนการดำเนินการจัดการด้านแรงงาน เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้จัดตั้ง “ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย เรียกว่า Smart Job Center” ทั่วประเทศ ทำให้อัตราส่วนการมีงานทำของไทย สูงถึงร้อยละ 98.7 สำหรับการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศ เราคิดว่าคงต้องเริ่มจาก “ชุมชน” ก่อนด้วยการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เรียกว่า OTOP ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พัฒนาองค์ความรู้ให้ชุมชนเกษตรกรรม ด้วย “ศูนย์การเรียนรู้”  สร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ของผู้มีรายได้น้อย เช่นกองทุนหมู่บ้าน ตำบล สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์  และอื่น ๆ                      

ได้มีโอกาสพบปะหารือกับผู้แทนจากสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council :USABC)  และบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯหลายบริษัทตนได้พูดคุยถึงสถานการณ์ในประเทศไทยก่อนและหลังเดือนพฤษภาคม 2557 แล้วก็เน้นย้ำยืนยันเจตนารมณ์ในการดำเนินการตาม Roadmap ทั้งนี้ก็จะใช้เวลาที่มีอยู่นี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยการวางรากฐานการปฏิรูปประเทศในทุก ๆ ด้าน เพื่อจะพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน วางระบบโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่าง ๆ ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน  ไม่ว่าจะเป็นการปรับกฎระเบียบและข้อตกลงให้มีมาตรฐานสากล  การเตรียมความพร้อมไปสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ทั้งในด้านการผลิตสินค้า การให้บริการ และการส่งเสริมการลงทุน รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากร แรงงานมีฝีมือให้มีคุณภาพควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ให้ทันสมัย                            

จากนั้นได้ร่วมชมนิทรรศการการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy : An Approach to Sustainable Development) ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนาได้มาจัดแสดงด้วย เป็นการเผยแพร่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสอดคล้องและเป็นแนวทางหนึ่งในการที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับบางประเทศหรือประเทศที่มีการพัฒนาในระดับที่ต่าง ๆ กันอยู่ในขณะนี้ ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่าง ๆ พอสมควร ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือในด้านการพัฒนาระหว่างไทยกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งต้องขอบคุณคณะผู้จัดนิทรรศการด้วย                              

วันที่ 26 กันยายน 2558  ได้หารือทวิภาคีกับผู้อำนวยการบริหาร สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime – UNODC) และผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา (United Nations Office in Vienna – UNOV) โดยชี้แจงว่าไทยยกระดับปัญหาต่าง ๆ  ทั้งการป้องกันและการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด การค้ามนุษย์ การลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน รวมทั้งการต่อต้านการทุจริตทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค ให้เป็นวาระแห่งชาติ ได้มีการสั่งการ ดำเนินการโดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการปรับปรุงกฎหมายภายกำหนดวิธีการในการปฏิบัติ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายนี้ เพราะปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของไทย ความเชื่อมั่นและทำให้เกิดแรงกระทบต่อเนื่องกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้                     

ผมยืนยันความจริงใจในการต่อต้านการค้ามนุษย์และได้ยกระดับการดำเนินงานด้านการป้องกันและการปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นวาระแห่งชาติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเน้นดำเนินงานด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์ และการดำเนินคดีอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งระดับใหญ่ ระดับเล็ก กับขบวนการค้ามนุษย์ ให้มีการ  บูรณาการเข้ากับการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว และมีการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบังคับในภาคอุตสาหกรรมประมง"             

ได้มีโอการเข้าร่วมในงาน ฉลองครบรอบ 150 ปี สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ITU และได้รับรับรางวัล ITU อีกด้วย (ITU= Global Sustainable Digital Development Award) ซึ่งไทยได้รับเลือกเป็นที่ตั้งของสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกตั้งแต่ 23 ปีที่ผ่านมา สำหรับเป็นฐาน ITU ในการขยายการสนับสนุนและความช่วยเหลือ แก่ประเทศสมาชิกในภูมิภาค สำหรับการสร้างสังคมสารสนเทศจะทำให้ประชากรทั่วโลกเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างเท่าเทียมกัน                   

สำหรับเทคโนโลยีสารสนเทศนั้นจะเป็นเครื่องมือสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ภายในปี ค.ศ. 2015 เพื่อจะส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการพัฒนาอีกด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงริเริ่มมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการถ่ายทอดทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งได้ดำเนินการมาทำให้ลูกหลานของเราได้มีความรู้ความเข้าใจและได้รับการเรียนรู้การศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เราก็เร่งดำเนินการไปอีกระดับหนึ่ง วันนี้เป็นที่น่ายินดีสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มมายาวนานได้รับการปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาคมโลกในปัจจุบัน      

อย่างไรก็ตามประชาคมโลกเริ่มตระหนักถึงภัยคุกคามอันเกิดจากการนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในทางที่ผิด เราต้องเสริมสร้างการระมัดระวัง เฝ้าระวังและสร้างความตระหนักรู้ในการใช้เทคโนโลยีในทางที่เหมาะสม สร้างสรรค์  สำหรับรางวัลที่ไทยได้รับรางวัลฯในฐานะประเทศผู้นำในการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และนำไปขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งไทยกำลังปรับรูปแบบของดิจิทัลประเทศเรา ในลักษณะเป็นดิจิทัลอะคาเดมี่ในปัจจุบัน โดยไทยจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมสารสนเทศเพื่อประชาคมโลก ยินดีจะแบ่งปันประสบการณ์ความสำเร็จกับมิตรประเทศรับฟังคำแนะนำ พร้อมจะเป็นสะพานเชื่อมประเทศต่าง ๆ ของประชาคมโลกต่าง ๆ ให้ก้าวไปพร้อม ๆ กันด้วย                   

วันที่ 27 กันยายน 2558 ได้ตนกล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ“ส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างทั่วถึงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”เน้นในเรื่องของการเข้าถึงน้ำที่ปลอดภัย สุขาภิบาลที่ดี พัฒนาคุณภาพน้ำ การบริหารจัดการน้ำเสียและการปกป้อง ฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวกับน้ำ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านบริหารจัดการน้ำ ซึ่งไทยมีแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 12 ปี (พ.ศ. 2558 – 2569) อย่างบูรณาการและครอบคลุมในทุกมิติให้เกิดความยั่งยืนและต่อเนื่อง ตนได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำต่าง ๆ เหล่านั้น มาดำเนินการเพื่อสร้างความสมดุลในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ให้ประชาชนมีความอยู่ดี กินดี รักษาระบบนิเวศ สร้างสมดุลทางธรรมชาติ โดยได้เน้นให้เกิดการมีส่วนร่วม มีความร่วมมือของภาคประชาชนในแต่ละท้องถิ่น เราจะต้องลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพของประชาชน สร้างความสมดุลระหว่างการอุปโภคบริโภค ให้ความสำคัญต่อการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ เรื่องโครงการ “แก้มลิง” ก็เช่นเดียวกันจำเป็นต้องมีเพื่อเก็บกักน้ำไว้ ชะลอน้ำหลาก บรรเทาปัญหาน้ำท่วม และเก็บกักน้ำไว้ใช้ในยามฤดูแล้ง        

สำหรับการกล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ “การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และส่งเสริมบทบาทสตรี” ประเทศไทยยึดมั่นในสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องเสมอมา ประเทศไทยผู้หญิงถือเป็นกำลังสำคัญที่สามารถจะเดินเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชายได้อย่างสง่างาม เยาวชนหญิงชายมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม คุ้มครองทุกคนจากการถูกเลือกปฏิบัติ ด้วยเหตุจากการเป็นเพศสภาพ ซึ่งไทยได้มีการปรับปรุง/พัฒนากฎหมายต่าง ๆ มากมาย ในการส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคระหว่างเพศ คุ้มครองผู้หญิงจากความรุนแรงในครอบครัว การถูกล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในการทำงาน การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ดูแลและฟื้นฟูผู้เสียหายที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้หญิงและเด็ก  สำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทยฉบับที่ 12 ก็จะส่งเสริมบทบาทสตรีให้มีส่วนร่วมผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเท่าเทียม   

นอกจากนี้ได้หารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีจีน  นายกรัฐมนตรีแอนติกาและบาร์อูดา ตลอดจนการหารือทวิภาคีกับ นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งพร้อมจะสนับสนุนการทำงานของเลขาธิการฯ และแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์อย่างแข็งขันต่อไปสำหรับไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนให้ความสำคัญกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคมให้มีส่วนร่วมในงานพัฒนา  

นายกฯกล่าวต่อว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถือว่าเป็นความรับผิดชอบของประชาคมโลกร่วมกัน ในส่วนของไทยขณะนี้ได้จัดทำINDCs (Intended Nationally Determined Contributions) ในเรื่องการกำหนดอัตราการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศแรก ๆ ที่ขับเคลื่อนกรอบการดำเนินงานฯ สู่แผนปฏิบัติการในระดับประเทศ  และจัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก 20 ประเทศ รวมถึงผู้แทนจาก IOM  UNHCR  UNODC และเอกอัครราชทูต/อุปทูตในไทย ประมาณ 40 ประเทศเข้าร่วม ซึ่งเป็นปัญหาที่สลับซับซ้อนหลายมิติ ทุกประเทศ – ทุกฝ่ายคงต้องร่วมกันแก้ปัญหา ทั้งต้นทาง – กลางทาง – ปลายทาง อย่างสม่ำเสมอ 

"สถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน ยืนยันว่า ยังคงเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่เรียกว่าโรดแมป (Roadmap) สำหรับการสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกไม่ถาวร UNSC วาระปี ค.ศ. 2017-2018 ของไทย ซึ่งไทยมีพื้นฐานจากการทำงานที่ดี โดยเฉพาะในงานทั้ง 3 ด้านของสหประชาชาติ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในประเด็นสันติภาพและความมั่นคง"

ในส่วนของประเทศสมาชิกกลุ่มจี 77 ได้ลงมติรับรองให้ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม สำหรับวาระปี 2559 หลังจากที่กลุ่มจี 77 ได้มีการคัดเลือกจากประเทศที่มีประสบการณ์และประเทศที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในการลดความยากจนลงในปี 2543 มากกว่าร้อยละ 40 ถือว่ามีบทบาท และมีการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการแก้ปัญหาด้วย  ต้องขอขอบคุณประเทศสมาชิกกลุ่มจี 77 ที่รับรองให้ไทยดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม สำหรับวาระในปี 2559 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยในเวทีโลกในขณะนี้    

การประชุมที่สำคัญอีกคือการประชุมสุดยอดด้านการรักษาสันติภาพซึ่งมีสมาชิกเข้าร่วมการประชุมเป็นจำนวนมาก และเสนอความคิดเห็นแนวทางในการรักษาสันติภาพ ซึ่งตนได้เสนอในที่ประชุมว่าการรักษาสันติภาพให้ไปสู่ความสงบสันติสุขอย่างยั่งยืน จะต้องพัฒนาและจะทำให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ที่มีความขัดแย้งเหล่านั้นสามารถที่จะทำมาหากินได้ต่อไปในอนาคตซึ่งได้เสนอความต้องการในการช่วยเหลือเรื่องการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพไปแล้ว

สำหรับการเยือนครั้งนี้ได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่ง อย่างอบอุ่นและเป็นกันเองอย่างที่ผมพบเสมอมา ได้มีโอกาสได้ไปเยือน 9/11 Memorialที่ Ground Zero เพื่อไว้อาลัยแก่ผู้ที่เสียชีวิต ซึ่งมีคนไทยเป็นสุภาพสตรีที่ เสียชีวิต 1 ท่าน ผมก็ได้วางดอกไม้ แล้วก็วางพวงหรีดด้วย บริเวณจุดที่เป็นที่ตั้งของตึกดังกล่าว      

ขอขอบคุณทีมประเทศไทย เอกอัครราชทูตประจำสหประชาชาติ และเอกอัครราชทูต ประจำกรุงวอชิงตัน และข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนที่ให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวก ให้กำลังใจ ทำให้ตนและคณะสามารถปฏิบัติภารกิจได้ลุล่วงเป็นอย่างดี ขอบคุณคนไทยทั้งประเทศ ที่ติดตาม รวมทั้งที่สหรัฐอเมริกา ทราบว่ามาจากรัฐต่าง ๆ เมืองต่าง ๆ ทั้งนิวยอร์ก บอสตัน ชิคาโก เท็กซัส ลอสแองเจอลิส อินเดียน่า คอนเน็กติกัต วอชิงตัน ดีซี และอีกหลายเมือง หลายรัฐ ที่ต้องขออภัยอาจจะกล่าวถึงไม่หมด ทราบว่าเหน็ดเหนื่อยมาให้การสนับสนุนตนเช่นกันแต่ผมไม่มีโอกาสได้ไปพบใกล้ ๆ ก็ได้มองเห็นในระหว่างเดินทาง ในรถที่ไปประชุม         

ขอบคุณในการช่วยเป็นกำลังใจที่มาทำหน้าที่ให้กับประเทศไทยในฐานะประชาคมโลก ทุกท่านถือว่าเป็นกำลังสำคัญทั้งสิ้นให้กับประเทศชาติของเราในการก้าวต่อไปข้างหน้าเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จริง ๆ แล้วตนห่วงใยทุกพวกทุกฝ่าย รวมทั้งผู้ที่เห็นต่างด้วย ก็อยากจะหันหน้ามาพูดคุยกัน เราเสียเวลาในเรื่องที่ขัดแย้งกันต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ทุกประเทศในโลกนี้กำลังเดินหน้า กำลังขับเคลื่อนไปสู่สหัสวรรษหน้า คืออีก 15 ปี เราต้องกลับมาพูดคุยกัน   

อีกเรื่องหนึ่งก็อยากจะให้บรรดาคนไทยที่อยู่ต่างประเทศรับทราบก็คือ ขณะนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น ทรงพระราชทานความห่วงใยให้กับคนไทยเสมอมา หวังว่าทุกท่านคงจะช่วยกันถวายพระพรชัยให้พระองค์ทรงมีพระชนม์มายุยิ่งยืนยาว ในขณะนี้ประเทศไทยกำลังเดินไปข้างหน้า อย่างที่ตนเคยกล่าวไว้แล้วว่าเราจะต้องผนึกกำลังกัน เจริญเติบโตเข้มแข็งไปด้วยกัน ที่เรียกว่า “Stronger Together” เพราะที่นี่คือบ้านของเรา คือประเทศของเรา