ชี้'ทักษิณ'ประเดิมก.ม.ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ปมที่ดินรัชดา

ชี้'ทักษิณ'ประเดิมก.ม.ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ปมที่ดินรัชดา

“วิชา มหาคุณ” ยกตัวอย่าง "ทักษิณ" ประเดิมกม.ขัดกันแห่งผลประโชยน์ ปมคดีที่ดินรัชดา จนต้องหนี

นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ตอนหนึ่งว่า ตั้งแต่ปี 2542 จนกระทั่งปัจจุบัน มีอยู่ 4 ตำแหน่งเท่านั้นที่ต้องปฏิบัติมาตรา 100 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่ระบุไว้ว่า มิให้มีการขัดกันของผลประโยชน์ นั่นก็คือ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บริหารท้องถิ่น และรองผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งเป็นแนวคิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดแรก และก็ได้วางเป็นแนวปฏิบัติเรื่อยมา

นายวิชา กล่าวอีกว่า นับว่าเป็นคุณูปการของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ในกรณีการซื้อที่ดินรัชดา ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกฟ้องในข้อหาผิดตามมาตรา 100 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. นับว่าเป็นคนประเดิมกฎหมายนี้ โดยกรณีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยนำมาปรึกษาในที่ประชุมด้วย โดย ป.ป.ช. มีความเห็นกันว่า ไม่น่าจะเป็นการขัดกันของผลประโยชน์ แต่ที่สุดแล้ว คตส. ก็ส่งเรื่องนี้ให้กับอัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้อง

“เป็นคดีที่ต้องยอมรับว่า อสส. ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวทีเดียวในคดีนี้ และนำมาซึ่งคำพิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งเป็นแนวทางมาจนกระทั่งปัจจุบัน และนำมาสู่การแก้ไขกฎหมายของ ป.ป.ช. เมื่อปี 2554 โดยบทบัญญัติของมาตราต่าง ๆ ในหมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์นั้น ให้ถือว่าเป็นกรณีของการทุจริตและประพฤติมิชอบ” นายวิชา กล่าว
นายวิชา กล่าวด้วยว่า แม้จะมีการถกเถียงมาตลอดว่าการขัดแห่งผลประโยชน์นั้น ป.ป.ช. มีอำนาจในการไต่สวนหรือไม่ และศาลฎีกาก็ได้วินิจฉัยวางหลักไว้แล้วว่า การกระทำดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการทุจริต จะไม่ทุจริตได้อย่างไร ในเมื่ออยู่ในกฎหมายของ ป.ป.ช. เมื่อสิ้นสงสัย ป.ป.ช. ก็มีอำนาจในการไต่สวน และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ

“ด้วยกฎหมายนี้ทำให้อดีตนายกฯต้องออกไปอยู่นอกประเทศ และยังกลับเข้ามาไม่ได้ในปัจจุบัน ความจริงก็กลับเข้ามาได้ แต่ต้องกลับเข้ามาในเรือนจำก่อน คือต้องถูกควบคุมตัวก่อน เพราะฉะนั้นแสดงว่ากฎหมายหมวดนี้ โดยเฉพาะมาตรา 100 เฮี้ยนมาก ๆ” นายวิชา กล่าว