สรรหาสปช.-ถกพรบ.งบ-โหวตนายกฯ ภารกิจเร่งด่วนเดินหน้าประเทศ

(รายงาน) สรรหาสปช.-ถกพรบ.งบ-โหวตนายกฯ ภารกิจเร่งด่วนเดินหน้าประเทศ
การเมืองนับแต่นี้ไปจะก้าวย่างเข้าสู่โหมด "ปฏิรูปประเทศ" อย่างเต็มตัว ซึ่งเป็นไปตามแผนและขั้นตอน (โรดแมพ) ระยะที่ 2 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางไว้ นั่นคือการเตรียมตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวบรวมผลงานการวิจัย และจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ทั่วประเทศ
สำหรับการได้มาซึ่ง "สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ" 250 คนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมสรรหาบุคคล โดยในวันที่ 13 ส.ค.นี้ คสช.จะตั้งคณะกรรมการทั้ง 11 ด้าน วันเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จะซักซ้อมการเปิดรับสมัครบุคคลจากองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เพื่อเข้ารับสรรหาเป็น สปช. จากนั้นวันที่ 14 ส.ค. กกต.จะเปิดรับสมัครผู้เข้ารับการสรรหาเป็น สนช. ที่สำนักงาน กกต. ศูนย์ราชการ อาคารบี แจ้งวัฒนะ
โดยตัวแทนจากองค์กรต่าง ๆ 11 กลุ่ม จะมีกลุ่มละ 50 คน รวม 550 และ คสช.จะคัดเลือกให้เหลือ 173 คน
ขณะเดียวกัน การสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในส่วนของผู้แทนประจำจังหวัด จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดๆ ละ 1 คณะ ทั้ง 77 จังหวัด เพื่อหาบุคคลที่เป็นที่ยอมรับในแต่ละจังหวัดจำนวน 5 คน จากนั้นจะส่งชื่อให้ คสช. คัดเลือกจังหวัดละ 1 คน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 14 ส.ค.เช่นเดียวกัน
คสช.คาดหมายว่าจะได้ สปช.ครบทั้ง 250 คน และนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ในวันที่ 2 ต.ค.
ขณะเดียวกัน หากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธาน สนช. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เป็นรองประธาน สนช. คนที่ 1 และนายพีระศักดิ์ พอจิต เป็นรองประธาน สนช. คนที่ 2 แล้ว ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นภายในสัปดาห์นี้ หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ จะสามารถคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ได้ และเข้าสู่กระบวนการตั้งคณะรัฐมนตรี คาดว่าต้นเดือนก.ย.รัฐบาลใหม่จะสามารถแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่รองประธาน สนช. บอกว่า วันที่ 13 ส.ค.นี้ จะมีการหารือนอกรอบกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ว่าที่ประธาน สนช. เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจในกรอบการทำงานของแต่ละฝ่าย ซึ่งจะเป็นการคุยกันครั้งแรกก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานและรองประธาน สนช. ที่คาดว่าเป็นวันที่ 13-14 ส.ค.นี้
ทั้งนี้หากไม่มีอะไรคาดเคลื่อนจะสามารถเปิดประชุม สนช.นัดที่ 2 ได้ในวันที่ 15 ส.ค.และจะมีการพิจารณา 3 เรื่องด้วยกัน คือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 การแต่งตั้งกรรมาธิการ 2 คน โดยคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการประสานงาน สนช.ชั่วคราว (วิป สนช.) และอีกคนหนึ่ง ทำหน้าที่ประธานยกร่างข้อบังคับการประชุมของสนช.ปี 2557
"คาดว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2558 วาระที่ 1 จะเสร็จสิ้นในขั้นรับหลักการ และตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณา ภายในวันที่ 15 ส.ค.เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ต้องพิจารณาเพื่อให้ทันใช้ในปีงบประมาณถัดไป โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีก่อนแต่อย่างใด" นายสุรชัย ระบุ
นายสุรชัย ยังระบุด้วยว่า ส่วนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของ สนช.นั้น คาดว่าคงเป็นช่วงประมาณวันที่ 21-22 ส.ค.
เช่นเดียวกับ นายพีระศักดิ์ พอจิต ว่าที่รองประธาน สนช. ที่กล่าวถึงการเตรียมการพิจารณาเรื่องสำคัญในการประชุม สนช.ว่า เรื่องสำคัญเร่งด่วนที่จะมีการพิจารณาคือการเลือกนายกรัฐมนตรี เรื่องสำคัญที่เป็นข้อกฎหมายคือการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558
"การเลือกนายกรัฐมนตรี และการพิจารณางบประมาณเป็นเรื่องสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้ และเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้ การมีนายกรัฐมนตรีเร็ว จะทำให้การทำงานของฝ่ายบริหารทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น ขณะที่งบประมาณก็เป็นเรื่องสำคัญ"
นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนวิธีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีและการลงมติเลือกจะกำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม สนช.ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะปรับใช้วิธีเลือกประธาน สนช.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ส่วนจะปรับใช้อย่างไร หรือใช้รูปแบบวิธีใดจะเหมาะสมที่สุด จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทั้งในที่ประชุมร่วมของประธานและรองประธาน และที่ประชุม สนช. จากนั้นจะเริ่มกระบวนการเสนอชื่อและลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี จึงเป็นไปได้ว่าจะได้ชื่อนายกรัฐมนตรีในช่วงวันที่ 18-22 ส.ค.นี้
ทั้่งเรื่องการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ การเร่งพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ การคัดเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ถือเป็นภารกิจเร่งด่วน ที่จะช่วยนำพาประเทศชาติเดินไปข้างหน้า ดังนั้นต้องคอยลุ้นและเอาใจช่วยกันต่อไป
......................................
(ล้อมกรอบ)
โมเดลสรรหาสภาปฏิรูปฯ
การสรรหาสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) 250 คน จะมาจากการสรรหา 2 ส่วนด้วยกัน คือ
จังหวัดต่างๆ รวมทั้งกรุงเทพฯ 77 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน โดยแต่ละจังหวัดมีคณะกรรมการสรรหาขึ้นมาจังหวัดละ 1 ชุด แล้วหาคนที่มีความเหมาะสม มาจังหวัดละ 5 คน จากนั้นส่งให้ คสช.เลือกเหลือ 1 คน เพื่อเป็นตัวแทนจังหวัด
อีกส่วนจำนวน 173 คน ได้มาจาก 11 ด้าน
-การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน
-การเข้าสู่อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร
-การใช้อำนาจ ทั้งการรวมอำนาจและกระจายอำนาจ
-การควบคุมอำนาจ ทั้งด้านยุติธรรมและองค์กรอิสระ
-เรื่องปัญหาพลังงาน
-เรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
-เรื่องการศึกษา การเรียนรู้ และภูมิปัญญา
-การพัฒนาเรื่องสื่อสารมวลชน
-การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม
-การแก้ไขปัญหาเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
-การจัดสรรทรัพยากรที่ดิน น้ำ และป่าไม้
...................................................................
(ล้อมกรอบ)
หลายองค์กรเปิดตัวร่วมสภาปฏิรูป
ตัวแทนพรรคการเมือง มี 2 พรรคการเมืองที่ตอบรับว่าจะเสนอชื่อบุคคลเป็นสปช.
- ชาติพัฒนา อยู่ระหว่างพิจารณาตัวบุคคล แต่มีความเป็นไปได้ที่จะส่ง พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ในฐานะรองหัวหน้าพรรค
- ภูมิใจไทย ส่งนายชัย ชิดชอบ อดีตประธานรัฐสภา
องค์กรอิสระ
- ผู้ตรวจการแผ่นดิน จะเสนออดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน เบื้องต้นมีรายชื่อที่อาจถูกเสนอ อาทิ นายพิเชต สุนทรพิพิธ อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน นายพูลทรัพย์ ปิยะอนันต์ อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายปราโมทย์ โชติมงคล อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยจะประชุมเพื่อพิจารณาอีกครั้งวันที่ 13 ส.ค.
- คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) อยู่ระหว่างพิจารณาตัวบุคคล เบื้องต้นมี 3 รายชื่อคือ นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านการมีส่วนร่วม และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง
- คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เตรียมเสนอ นายวิชา มหาคุณ นายวิชัย วิวิตเสวี และนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. และนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ซึ่งจะสรุปอีกครั้ง
- มหาวิยาลัยธรรมศาสตร์ เตรียมเสนอชื่อ นายมานิตย์ สุขสมจิตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันไทย เตรียมเสนอชื่อ 2 คน
- องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เตรียมเสนอชื่อ 2 คน
- คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน(กสม.) ยังมีความเห็นใน 2 ทาง ส่วนหนึ่งเห็นควรเสนอชื่อ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีการเขียนบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในระดับสากล ขณะที่อีกส่วนเห็นว่าไม่ควรเสนอชื่อเนื่องจากยังไม่มีความแน่นอนว่าในตัวรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น จะยังคงจำนวนองค์กรอิสระไว้เท่าเดิมหรือไม่